ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ยังไม่ชำระเงิน กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ซื้อหรือไม่
กรณีทำสัญญาซื้อขายที่ดินและจดทะเบียนโอนที่สำนักงานที่ดิ […]
โทรหาผมทนายพัตร์
คำพิพากษาฎีกาที่ 186/2510
โจทก์ให้จำเลยจัดการขายที่ดิน จำเลยได้จัดการขายที่ดินของโจทก์ได้สำเร็จย่อมเป็นกิจการที่ทำให้แก่กันโดยพฤติการณ์ที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาบำเหน็จ จึงถือได้ว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 846 แม้จะฟังไม่ได้ว่าตกลงให้ค่านายหน้าแก่กันเป็นจำนวนที่เกินไปจาก 11,000 บาทดังที่จำเลยนำสืบ จำเลยก็ยังมีสิทธิได้ค่าบำเหน็จ เมื่อไม่ได้ความว่าค่าบำเหน็จนั้นได้ตกลงกันเป็นจำนวนเท่าใด และไม่ปรากฏธรรมเนียมในการนี้ ศาลย่อมกำหนดให้เท่าที่กำหนดได้ตามสมควร
ส่วนค่าใช้จ่ายในการที่จำเลยได้รับมอบให้จัดการโอนขายที่ดินแทนโจทก์ในภายหลังอีกส่วนหนึ่งนั้น แม้จำเลยไม่สามารถนำสืบให้ฟังได้ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนี้แน่นอน ซึ่งจำเลยมีสิทธิเรียกเอาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 816 เมื่อไม่ได้ความว่าค่าใช้จ่ายที่จำเลยเสียไปนั้นไปจำนวนแน่นอนเท่าใด ศาลก็กำหนดให้ได้ตามที่ควรนับว่าจำเป็นต้องใช้จ่ายไปเช่นเดียวกัน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2510)
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 797, 803, 816 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 2101/2514
จ. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำสัญญากับบริษัท ว. มีข้อความสำคัญว่า ผู้ว่าจ้าง (จ) ตกลงให้ผู้รับจ้าง (ว) ขายหรือเลหลังที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท หรือหากต่ำกว่าราคานี้ก็ต่อเมื่อผู้รับจ้าง (ว) ได้รับความยินยอมจากผู้ว่าจ้าง (จ) ให้ขายได้ ดังนี้ ย่อมมีความหมายว่า ถ้ามีผู้ซื้อเสนอขอซื้อในราคาที่กำหนดไว้นี้แล้ว ว. มีอำนาจเป็นตัวแทนของ จ. ทำสัญญาจะซื้อขายกับผู้ขอซื้อได้เลยและสัญญานั้นมีผลผูกพัน จ. และเมื่อ ว. ทำสัญญาจะซื้อขายกับผู้ขอซื้อไว้ในนามของ ว. แต่เวลาจะโอนกรรมสิทธิ์ จ. ซึ่งเป็นเจ้าของต้องจัดการโอนให้ ไม่ใช่ว่า ว. จะทำการโอนขายไปเป็นผลสำเร็จได้เองดังนี้ แม้ ว. จะเป็นผู้มีอาชีพประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าขายทอดตลาดก็ไม่ทำให้สัญญาระหว่าง จ. กับ ว. เป็นเรื่อง ตัวแทนค้าต่าง
ว. เป็นตัวแทนของ จ. ทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมด้วยตึกแถวให้โจทก์ แล้ว จ. กลับโอนที่ดินและตึกแถวนั้นให้ผู้อื่นไป ถ้าไม่สามารถโอนที่ดินและตึกนั้นให้โจทก์ได้ จ. จะต้องคืนเงินที่ ว. รับไว้จากโจทก์และต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินที่คืนนั้น นอกจากนี้ยังต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกด้วย
ตัวแทนของเจ้าของทำสัญญาจะขายที่ดินและตึกแถวให้โจทก์แล้วเจ้าของกลับโอนที่ดินและตึกนั้นให้ผู้อื่นไป การที่เคยมีผู้มาขอซื้อที่ดินและตึกนั้นจากโจทก์ในราคาเป็นเงินจำนวนหนึ่งเพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษเท่ากับราคาที่มีผู้มาขอซื้อนั้น แต่ถือได้ว่าที่ดินและตึกนั้นมีราคาเพิ่มขึ้นแน่นอนซึ่งเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ของฝ่ายเจ้าของที่ดินและตึก ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามจำนวนที่เห็นสมควร
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 215, 222, 391, 456, 587, 797 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 1587/2517
โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจการค้าหลายประเภทซึ่งรวมทั้งการเข้าทำสัญญาค้ำประกันต่อธนาคารในการประกอบธุรกิจในทางค้ำประกันโจทก์ได้ทำสัญญาต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยโจทก์จะรับเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในบรรดาธุรกิจต่างๆ ซึ่งธนาคารจะมอบหมายให้เป็นผู้ค้ำประกันผู้เคยค้าที่จะทำนิติกรรมผูกพันกับธนาคาร ซึ่งในการนี้ธนาคารได้ช่วยค่าใช้จ่ายให้โจทก์เป็นรายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 5,000 บาททุกเดือน และยังแบ่งผลประโยชน์ที่ธนาคารจะพึงได้รับจากดอกเบี้ยที่โจทก์เข้าค้ำประกันให้อีก ทั้งธนาคารยอมให้โจทก์เรียกผลประโยชน์ในการค้ำประกันจากลูกหนี้ตามสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากธนาคาร เพื่อประกันความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของโจทก์ โจทก์ได้นำหลักทรัพย์มูลค่าสิบล้านบาทมาวางเป็นประกันไว้ต่อธนาคารการประกอบกิจการค้าของโจทก์ดังกล่าวแล้วเป็นเรื่องที่โจทก์ประกอบธุรกิจของโจทก์เอง โดยโจทก์ใช้ทรัพย์สินเป็นการลงทุนวางเป็นประกันต่อธนาคารและในการที่โจทก์เข้าทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้กับธนาคารนั้น แม้โจทก์จะได้รับประโยชน์ตอบแทน โจทก์ก็เสี่ยงในการที่จะได้รับความเสียหายในฐานะร่วมรับผิดต่อธนาคารในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเป็นส่วนตัว การประกอบกิจการค้าของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะเป็นนายหน้าและตัวแทน ทั้งมิใช่เป็นการรับจัดธุรกิจให้ผู้อื่นตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 10แต่เป็นการประกอบธุรกิจการค้าในประเภทการค้า 12 ธนาคารโดยกิจการของโจทก์เข้าลักษณะกิจการของผู้ที่ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 797, 820, 823, 845, 848 ประมวลรัษฎากร ม. 78 บัญชีอัตราภาษีการค้า ไม่ระบุ |
คำพิพากษาฎีกาที่ 326/2518
จำเลยตกลงขายที่ดินของจำเลยให้แก่กระทรวงการคลังตามที่โจทก์ผู้เป็นนายหน้าของจำเลยติดต่อให้ มิได้ขายให้แก่ ค. ตามสัญญามัดจำจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับ ค.และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับบำเหน็จจาก ค.หรือกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างใด จะถือว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จและโจทก์ได้กระทำการให้บุคคลภายนอกอันไม่สมควรแก่หน้าที่ผู้กระทำ การโดยสุจริต เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ได้รับหน้าที่หาได้ไม่
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 847 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 1254/2519
ว.สนใจอยากจะได้ที่ดิน ได้ไปหา พ. พ.ได้เขียนชื่อและตำบลที่อยู่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินให้ ต่อมา ว. ได้ติดต่อกับจำเลยจนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันสำเร็จ หลังจากนั้น ว. จึงทราบว่า พ.ว่า ชื่อและตำบลที่อยู่ของจำเลยที่ พ.จดให้นั้นได้มาจากโจทก์ โดยจำเลยเคยแจ้งให้โจทก์หาผู้ซื้อที่ดินหรือจัดหานายหน้า หวังจะให้โจทก์ได้รับประโยชน์ร่วมกับนายหน้า ฉะนั้น การที่ ว.สามารถติดต่อกับจำเลยได้โดยตรงก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ได้บอกชื่อ และตำบลที่อยู่ของจำเลยไว้กับ พ. การกระทำของโจทก์จึงเป็นการชี้ช่อง หรือจัดการให้ทำสัญญาสำเร็จตามความหมายแพ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 แล้ว
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 56/2520
โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าบำเหน็จจากจำเลย โดยบรรยายว่า โจทก์ทำการเป็นตัวแทนนายหน้าขายรถแทร็คเตอร์และอุปกรณ์เป็นเงินสด 628,512 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้โจทก์ร้อยละ 12 เป็นเงิน 75,421.64 บาท และโจทก์เป็นนายหน้าจัดหาผู้เช่าซื้อเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถแทร็คเตอร์และอุปกรณ์จากจำเลยหลายรายรวมเป็นค่าเช่าซื้อ 316,759.60 บาท รวมค่าบำเหน็จนายหน้าทั้งสิ้น 392,181.24 บาท จำเลยชำระให้บ้างแล้วยังค้างอยู่อีก 265,149.64 บาท มิได้บรรยายรายละเอียดโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์ได้กระทำการเป็นตัวแทนขายให้แก่จำเลยตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน โจทก์ได้จัดการชี้ช่องให้ผู้ใดมาเป็นผู้เช่าซื้อรถแทร็คเตอร์และอุปกรณ์ ทำสัญญากันเมื่อใด จำนวนรถกี่คัน ราคาคันละเท่าใด บุคคลใดเป็นผู้เช่าซื้อด้วยราคาเท่าใดและโจทก์ได้เก็บเงินค่าเช่าซื้อส่งมอบให้แก่จำเลยแล้วเท่าใด ทำให้จำเลยเสียเปรียบและต่อสู้คดีได้ไม่ถูกต้องและครบถ้วน เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ.ม. ม. 845 ป.วิ.พ. ม. 172 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 897/2520
ห้างโจทก์มีวัตถุประสงค์จำหนายข้าวสาร และเป็นนายหน้าและตัวแทนต่างในกิจการทุกประเภท ในการติดต่อขายข้าวให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศ ทางห้างโจทก์เสนอราคาขายข้าวโดยบวกค่าระวางบรรทุก ค่าประกันภัยและค่านายหน้ารวมเข้าไปด้วย แต่โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ส่งข้าวออกไปขายต่างประเทศ และไม่ได้ขออนุญาตต่อทางราชการได้ความว่าโรงสีเป็นผู้ขออนุญาตส่งข้าวไปขายต่างประเทศ เป็นผู้ขออนุญาตนำเงินตราต่างประเทศเท่าราคาข้าวที่ขายเข้ามาในประเทศ ทั้งเป็นผู้ปฏิบัติตามพิธีการส่งออกของกรมศุลกากร เสียภาษีศุลกากร ค่าพรีเมี่ยม และภาษีการค้าข้าว กระสอบบรรจุข้าวส่งไปขายต่างประเทศก็มีตราของผู้ซื้อประทับอยู่ แสดงว่าโรงสีรู้อยู่แล้วว่ามีผู้ซื้อตัวจริงในต่างประเทศโจทก์อ้างว่าโรงสีขายข้าวให้โจทก์ แต่การซื้อขายไม่มีการวางมัดจำหรือทำสัญญาซื้อขายข้าวกัน โจทก์ไม่มีโกดังเก็บข้าวเอง เมื่อโรงสีส่งมอบข้าวแล้วโจทก์ยังไม่ชำระเงินค่าข้าวประกอบกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ผู้ซื้อในต่างประเทศส่งมาชำระค่าข้าวนั้นโจทก์จะรับเอาทั้งหมดไม่ได้ คงรับได้เฉพาะส่วนที่เป็นผลประโยชน์ของโจทก์เองเท่านั้น พฤติการณ์เหล่านี้แสดงว่าโจทก์เพียงแต่ทำการเป็นนายหน้าหรือตัวแทน หรือรับจัดธุรกิจจัดการให้โรงสีและผู้ซื้อในต่างประเทศของโจทก์ก็เข้าลักษณะเป็นการประกอบการค้าประเภทนายหน้าตามประมวลรัษฎากรหาใช่โจทก์เป็นผู้ขายข้าวส่งต่างประเทศเองไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1388/2509)
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลรัษฎากร ม. 78, 87, 89, 89 ทวิ บัญชีอัตราภาษีการค้าข้อ ป.พ.พ. ม. 797, 845, 846 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 256/2521
จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อขายรถยนต์ดัมทรัค 3 คัน เมื่อขายได้แล้วจะให้ค่านายหน้า 5% โจทก์ได้ติดต่อกับผู้ซื้อซึ่งเป็นหน่วยราชการซึ่งจัดการซื้อรถยนต์ดังกล่าวโดยวิธีประกวดราคา ในการประกวดราคาโจทก์ก็ได้ช่วยเหลือจำเลย จนในที่สุดจำเลยประมูลขายรถยนต์ดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อเป็นผลสำเร็จ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ชี้ช่องให้จำเลยได้เข้าทำสัญญาหรือจัดการให้จำเลยได้ทำสัญญา จำเลยต้องจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 2610/2521
ครั้งแรกจำเลยให้โจทก์บอกขายที่ดินในราคาไร่ละ 80,000 บาท โจทก์เสนอขายต่อจำเลยร่วม จำเลยร่วมต่อรองราคาให้เหลือไร่ละ 70,000 บาท จำเลยไม่ยอม หลังจากนั้น 2-3 เดือน จำเลยร่วมตกลงจะซื้อและให้โจทก์ไปตกลงเงื่อนไขในการทำสัญญา โจทก์บอกให้จำเลยทราบ จำเลยขอผัดอ้างว่าติดทำบุญ ต่อมาจำเลยกลับบอกโจทก์ว่าจะขายในราคาไร่ละ 100,000 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยร่วมทราบ ครั้งจำเลยร่วมตกลงจะซื้อ จำเลยก็ขอขึ้นราคาที่ดินอีก จึงยังตกลงซื้อขายกันไม่ได้ ผลที่สุด ร. บุตรจำเลยติดต่อขายที่ดินทั้งสองโฉนดรวมเนื้อที่ 8 ไร่ ให้แก่จำเลยร่วมได้ในราคา 800,000 บาท แม้ ร. จะเป็นผู้ติดต่อขายที่ดินสำเร็จในภายหลัง แต่ก็คงขายให้แก่จำเลยร่วมซึ่งโจทก์ติดต่อไว้ก่อน ราคาที่ขายก็มิได้สูงกว่าที่จำเลยร่วมตกลงจะซื้อจากโจทก์ การที่ ร.ติดต่อขายที่ดินให้จำเลยร่วม พฤติการณ์แสดงว่าได้ทราบจากจำเลยแล้วว่าจำเลยร่วมเป็นผู้จะซื้อตามที่จำเลยทราบจากโจทก์ เป็นกรณีร่วมกันจำเลยถือเอาประโยชน์จากการที่โจทก์เป็นผู้ติดต่อบอกขายที่ดินให้จำเลยร่วมมาตั้งแต่ต้น ถือได้ว่าการซื้อขายที่ดินรายนี้ได้ทำสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่องจัดการแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าตามข้อตกลง
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 256/2522
จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อขายรถยนต์ดัมทรัค 3 คัน เมื่อขายได้แล้วจะให้ค่านายหน้า 5% โจทก์ได้ติดต่อกับผู้ซื้อซึ่งเป็นหน่วยราชการซึ่งจัดการซื้อรถยนต์ดังกล่าวโดยวิธีประกวดราคา ในการประกวดราคาโจทก์ก็ได้ช่วยเหลือจำเลย จนในที่สุดจำเลยประมูลขายรถยนต์ดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อเป็นผลสำเร็จ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ชี้ช่องให้จำเลยได้เข้าทำสัญญาหรือจัดการให้จำเลยได้ทำสัญญา จำเลยต้องจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 257/2522
จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินให้ สัญญาจะให้ค่านายหน้าแก่โจทก์สองจำนวน คือ ถ้าโจทก์ขายได้ราคาเกินกว่า 3,500,000 บาท ส่วนที่เกินนั้นเป็นของโจทก์จำนวนหนึ่ง กับบำเหน็จร้อยละ 5 ของราคา 3,500,000 บาท อีกจำนวนหนึ่งโจทก์ได้ชี้ช่องให้จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับผู้ซื้อแล้ว ในราคา 5,000,000 บาท เช่นนี้ถือได้ว่าได้มีการทำสัญญากันเป็นผลสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการแล้ว แม้จำเลยจะตกลงเลิกสัญญากับผู้จะซื้อในภายหลัง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าอัตราร้อยละ 5 ของราคาที่ดิน 3,500,000 บาทจากจำเลย ส่วนเงิน 1,500,000 บาท อีกจำนวนหนึ่งเป็นข้อตกลงพิเศษอีกส่วนหนึ่งต่างหากแยกจากกันได้กับข้อตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้าร้อยละ 5 ค่าบำเหน็จส่วนนี้คู่สัญญาตกลงกันว่าถ้าโจทก์ขายได้สูงกว่านั้นก็ให้โจทก์รับไป ย่อมมีความหมายว่าหากมีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันเป็นผลจากที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการ กรณีนี้คู่กรณีตกลงเลิกสัญญากันหาได้มีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดไม่ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินส่วนเกินนั้นแก่โจทก์
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 144, 148, 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 3134/2522
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัท ส. ตามสัญญาตั้งตัวแทน ต่อมาบริษัท ส.บอกเลิกสัญญาและฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ร.ให้ชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการเป็นตัวแทน ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร.ต่อสู้คดีหลายข้อ ข้อหนึ่งต่อสู้ว่า บริษัท ส.ยังไม่ได้คิดบัญชีค่านายหน้าและชำระค่านายหน้าให้ ในคดีดังกล่าว บริษัท ส. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร.คิดบัญชีแล้วหักค่านายหน้าและค่าป่วยการอื่นๆ จากจำนวนหนี้ที่ฟ้อง ศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดห้างหุ้นส่วนจำกัด ร.จึงมาฟ้องเรียกค่านายหน้าตามสัญญาตั้งตัวแทนฉบับเดิม โดยอ้างว่า เพิ่งรู้ว่ายังมีค่านายหน้าอีกจำนวนหนึ่งซึ่งบริษัท ส.ต้องชำระให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร.ตามสัญญาดังกล่าว ดังนี้ แสดงว่าสิทธิเรียกค่านายหน้ากันได้หรือไม่เป็นจำนวนเท่าใด เป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับประเด็นซึ่งได้วินิจฉัยถึงที่สุดไปแล้วในคดีก่อนเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 817 ป.วิ.พ. ม. 148 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 2948/2525
จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินของจำเลย โดยจำเลยจะให้ค่านายหน้าร้อยละ 5 ของราคาที่ขายได้ จำเลยได้มอบนามบัตรของจำเลยมีที่อยู่และเลขหมายโทรศัพท์ที่บ้านจำเลยกับได้มอบแผนที่หลังโฉนดให้โจทก์ไว้ด้วย ต่อมามี ต. และ บ. มาถามซื้อที่ดินบริเวณนั้น โจทก์จึงพาคนทั้งสองไปดูที่ดินของจำเลย ต่อมา คนทั้งสองดังกล่าวได้พา พ. และ ย. มาดูที่ดินจำเลย พ. กับพวกตกลงจะซื้อ ต. และ บ. จึงขอนามบัตรของจำเลยและแผนที่หลังโฉนดจากโจทก์มอบให้ พ. กับพวกไปติดต่อกับจำเลยเอง ในที่สุด พ. ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินดังกล่าวกับจำเลย ดังนี้ ถือได้ว่า การซื้อขายที่ดินรายนี้เป็นผลสำเร็จได้ก็เนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ซึ่งเป็นนายหน้าได้ชี้ช่องนั่นเองโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จจากจำเลย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 1959/2526
จำเลยเป็นนายหน้าจัดการให้โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกกับเจ้าของตึกมีกำหนด 3 ปี สัญญาเช่าตึกจึงได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่จำเลยจัดการ จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จจากโจทก์
ข้อความตามสัญญาที่ว่า ถ้าโจทก์ต้องเลิกการเช่าด้วยเหตุใด ๆ จำเลยต้องคืนเงินค่าตอบแทนที่ได้รับล่วงหน้าให้โจทก์นั้นหมายความถึงกรณีที่มีเหตุจากฝ่ายผู้ให้เช่าหรือการรอนสิทธิจนโจทก์ไม่ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าคุ้มกับค่าเช่าและค่าบำเหน็จที่ให้แก่จำเลย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้และได้รับประโยชน์ในตึกที่เช่าจนเกือบจะครบสัญญาแล้วโจทก์จึงส่งคืนตึกที่เช่าให้แก่เจ้าของ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนอันเป็นบำเหน็จค่านายหน้าคืนจากจำเลย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 368, 475, 549, 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 3485/2526
จำเลยทำสัญญาให้โจทก์เป็นผู้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์แทนจำเลย โจทก์มิได้เป็นผู้ซื้อหลักทรัพย์ด้วยตนเอง แต่ได้ติดต่อผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์แทน ซึ่งบริษัทสมาชิกจะทำการเป็นนายหน้าของบุคคลใด ๆ หรือเป็นตัวแทนของบริษัทหลักทรัพย์ที่มิได้เป็นสมาชิกได้ตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 20 วรรคสอง และไม่มีกฎหมายใดห้ามบริษัทหลักทรัพย์ที่มิได้เป็นสมาชิกรับเป็นนายหน้าของบุคคลใด ๆ ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของโจทก์จึงเป็นการประกอบกิจการที่กระทำได้โดยชอบ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวมีผลผูกพันใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ได้จัดซื้อหลักทรัพย์ให้จำเลยตามคำสั่งของจำเลยโดยออกเงินทดรองให้ผู้ขายไปแล้ว จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ตามสัญญา
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113, 820, 845 พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ม. 20 วรรคสอง |
คำพิพากษาฎีกาที่ 2801/2527
โจทก์เป็นบริษัทมีวัตถุประสงค์เป็นตัวแทนนายหน้าเกี่ยวกับ การค้าหลักทรัพย์ จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนจำเลยโดยจำเลยเปิด บัญชีเดินสะพัดไว้กับโจทก์ จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นรวม 11 ครั้ง โจทก์อ้างว่าได้ซื้อหุ้นให้จำเลยแล้ว แต่เมื่อจำเลยสงสัยว่าโจทก์อาจไม่ได้ซื้อหุ้นแทนจำเลยตามใบรายงานการซื้อซึ่งโจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้ซื้อ จำเลยจึงขอดูใบหุ้น โจทก์ก็ไม่ยอมให้ดู และเมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ส่งใบหุ้นตามฟ้องที่ซื้อแทนจำเลย โจทก์ก็ไม่สามารถส่งใบหุ้นตามฟ้องหรือใบหุ้นตามใบรายงานการซื้อที่อ้างว่าซื้อแทนจำเลยกลับส่งสำเนาภาพถ่ายใบหุ้นที่ซื้อมาภายหลังแทน เนื่องจากโจทก์ นำหุ้นที่อ้างว่าซื้อแทนจำเลยนั้นไปขายโดยจำเลยมิได้สั่งขาย และโจทก์มีลูกค้าจำนวนมาก การซื้อขายหุ้นเป็นธุรกิจของโจทก์ที่กระทำอยู่เป็นประจำ พฤติการณ์ดังกล่าวไม่เชื่อว่าหุ้นตามฟ้องเป็นหุ้นที่โจทก์ซื้อแทนจำเลยโดยเฉพาะ
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวล |
คำพิพากษาฎีกาที่ 3049/2528
โจทก์ซื้อกระจกจากบริษัท ก. แล้วขายต่อไปให้บริษัท ม. อีกต่อหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ทำการชี้ช่องหรือจัดการให้บริษัท ก.ได้เข้าทำสัญญากับผู้ใด หรือโจทก์ได้ขายกระจกแทนบริษัท ก.และหนังสือสัญญาระหว่างโจทก์ กับบริษัท ก. ก็ระบุไว้ด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์ในทางตัวการตัวแทนแต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โจทก์จึงมิได้เป็นนายหน้าหรือตัวแทนของบริษัท ก.
การที่โจทก์ตกลงให้บริษัท ก. มีส่วนกำหนดตัวผู้ซื้อกระจกต่อจากโจทก์กับมีส่วนในการกำหนดราคาที่โจทก์จะขายต่อไปและโจทก์จะสั่งซื้อกระจกต่อเมื่อมีผู้สั่งกระจกจากโจทก์ตลอดจนบริษัท ก. ส่งกระจกที่โจทก์สั่งซื้อตรงไปยังลูกค้าของโจทก์ หาเป็นสาระสำคัญทำให้โจทก์สิ้นสภาพจากการเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย กลายเป็นนายหน้าหรือ ตัวแทนไปแต่อย่างใดไม่
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 453, 797, 845 ประมวลรัษฎากร ไม่ระบุ บัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า 10 ไม่ระบุ |
คำพิพากษาฎีกาที่ 3648/2529
โจทก์เป็นนายหน้าติดต่อขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 สัญญาจะซื้อขายระหว่างบริษัท น. กับจำเลยที่ 1 ได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ชี้ช่องจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จแก่โจทก์ตามสัญญา การที่ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์กันระหว่างบริษัท น. กับจำเลยที่ 1 ก็เนื่องจากบริษัท น. และจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญากัน ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์
ข้อความในสัญญาจะซื้อขายที่ระบุไว้ความว่า จำเลยที่ 1 จะจ่ายค่านายหน้าในวันที่โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ซื้อขายกันนั้น ไม่ใช่เงื่อนไขเพราะเงื่อนไขต้องเป็นเหตุการณ์ที่จะมีขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน ถ้าผู้ซื้อและจำเลยที่ 1 ไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเป็นอย่างอื่น หรือไม่เลิกสัญญากันก็ต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ซื้อขายกันตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาอย่างแน่นอน
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 69, 144,145, 153, 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 2512/2530
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตั้งโจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1203 เลขที่ดิน 28 ของจำเลย จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของที่ดินตามฟ้องและโจทก์ไม่ได้เป็นนายหน้า โจทก์นำสืบว่าจำเลยตั้งโจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1203 เลขที่ดิน 29 ของจำเลย โดยเลขระวางที่ดิน เลขหน้าสำรวจ และที่ตั้งของที่ดินตรงกับที่ระบุในคำฟ้อง ดังนี้ เป็นการนำสืบในประเด็นข้อพิพาทแล้ว หาใช่เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
ค่านายหน้าต้องเป็นไปตามที่คู่สัญญาตกลงกัน เมื่อไม่ได้ตกลงกันว่าจะคิดจากราคาที่เสนอขายหรือราคาซื้อขายที่ตกลงกัน ดังนี้ โดยพฤติการณ์ที่คาดหมายได้ว่าโจทก์ทำให้เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ และกิจการที่โจทก์ทำไปทำให้ขายที่พิพาทให้จำเลยได้ โจทก์จึงเรียกค่านายหน้าจากจำเลยตามราคาที่ขายได้ ไม่ใช่ราคาเสนอขาย.
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 845, 846 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 185 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 5138/2531
จำเลยที่ 2 ได้ติดต่อขอซื้อสินค้าจากโจทก์โดยแจ้งว่าเป็นตัวแทนของบริษัทในต่างประเทศ และได้ทำสัญญาสั่งซื้อกับโจทก์ ตรวจสอบสินค้าและออกใบรับรองการตรวจสินค้าให้โจทก์ ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทในต่างประเทศ จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าวในการซื้อสินค้าจากโจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำกับโจทก์ แม้โจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 2 ด้วยก็เพราะจำเลยที่ 2 นำผลประโยชน์ทางการค้ามาให้โจทก์ หาทำให้จำเลยที่ 2 กลายเป็นนายหน้าของโจทก์ไม่
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าสินค้า จำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่า การที่โจทก์ไม่ได้รับชำระเป็นความผิดของโจทก์ที่มิได้ปฏิบัติตามสัญญาแต่มิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าโจทก์ผิด สัญญาอย่างไร จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำสืบตามคำให้การส่วนนี้
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 797, 824, 845 ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสอง |
คำพิพากษาฎีกาที่ 3592/2532
โจทก์เป็นนายหน้าให้จำเลยในการขายเครื่องมือวิเคราะห์ธาตุในอาหารให้แก่องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปโดยวิธีพิเศษ แต่ยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกันทางองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป ก็ได้กำหนดให้มีการจัดซื้อใหม่โดยวิธีประกวดราคา จำเลยจึงได้ไปยื่นซองประกวดราคาและเจรจาต่อรองราคากับองค์การดังกล่าวเอง จนตกลงทำสัญญาซื้อขายกันได้ การซื้อขายรายนี้จึงสำเร็จลงได้เพราะการเข้าเสนอประกวดราคาของจำเลยเอง โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนการกระทำของโจทก์ในระหว่างที่เป็นนายหน้าให้จำเลยในตอนแรก ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการชี้ช่องหรือจัดการในส่วนสำคัญอันทำให้สัญญาซื้อขายได้ทำกันสำเร็จในตอนหลัง จำเลยไม่ต้องชำระค่านายหน้าให้แก่โจทก์
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 794/2533
โจทก์และบิดาเป็นผู้ชี้ช่องให้จำเลยทำหนังสือขอเช่าอาคารยื่นต่อ ส. จน ส. มีหนังสือเรียกให้จำเลยไปทำสัญญาเช่าแต่เนื่องจากจำเลยแจ้งการครอบครองอาคารไม่ตรงกับความจริง ส. จึงระงับการทำสัญญา แล้วให้จำเลยเข้าประมูลสู้ราคากับผู้เช่าเดิมเพียงสองรายเมื่อผู้เช่าเดิมไม่มาประมูล จำเลยจึงเข้าประมูลแต่ฝ่ายเดียว และได้เข้าทำสัญญาเช่ากับ ส. ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่นายหน้าครบถ้วนแล้ว และการที่จำเลยได้เข้าประมูลสู้ราคากับผู้เช่าเดิมจนได้เข้าทำสัญญากับ ส. เป็นผลของการชี้ช่องของโจทก์ จำเลยจึงต้องชำระค่านายหน้าให้แก่โจทก์
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 1118/2533
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินมีความจำเป็นต้องการขายที่ดินโดยเร็วเพื่อนำเงินไปชำระหนี้จำนอง ได้ตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินดังกล่าว ต่อมา ม. เป็นผู้ซื้อที่ดินได้ แม้โจทก์เป็นผู้ติดต่อ ม. มาซื้อที่ดินจากจำเลยได้ก็ตาม แต่เมื่อสัญญานายหน้ามีข้อความระบุว่า “มอบให้นายหน้าไปจัดการให้จดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินให้เสร็จภายในกำหนด 10 วันนับแต่วันทำสัญญานี้… ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวสัญญานายหน้านี้เป็นอันระงับสิ้นสุดลง” อันมีความหมายว่า เมื่อโจทก์ติดต่อหาผู้ซื้อได้แล้ว โจทก์จำต้องจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนับแต่วันทำสัญญาด้วย เป็นกรณีที่คู่สัญญามีเจตนากำหนดเวลาไว้แน่นอนกำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญานายหน้า เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนเวลาออกไปอีก และเมื่อครบกำหนด 10 วันตามสัญญาแล้ว โจทก์ไม่สามารถจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันได้ จึงถือว่าสัญญานายหน้าสิ้นสุดไม่มีผลผูกพันคู่กรณี จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 153 วรรคสอง, 154 วรรคแรก, 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 3777/2533
จำเลยทั้งสามทำสัญญาจะขายที่ดินให้ผู้จะซื้อโดยตกลงกันว่าที่ดินที่จะซื้อขายยังมีคดีพิพาทอยู่กับบุคคลภายนอก ถ้าคดีถึงที่สุดเมื่อใดไม่ว่าจะโดยคำพิพากษาของศาลหรือโดยการประนีประนอมยอมความ ถ้าผู้ขายชนะคดีและมีสิทธิแต่ฝ่ายเดียว ผู้ขายจะแจ้งยืนยันให้ผู้ซื้อทราบ ถ้าผู้ขายไม่มีสิทธิตามกฎหมายโดยผลแห่งคำพิพากษา ผู้ขายจะคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ย สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจะซื้อขายมีเงื่อนไขบังคับก่อน
สัญญาจะซื้อขายที่ดินได้ทำกันไว้มีเงื่อนไขเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน และเงื่อนไขตามสัญญาไม่สำเร็จ ได้มีการเลิกสัญญา โจทก์ซึ่งเป็นนายหน้าให้กับการซื้อขายดังกล่าว เมื่อข้อตกลงการเป็นนายหน้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงไม่อาจเรียกเอาบำเหน็จค่านายหน้าได้
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 144, 145, 453, 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 4812/2533
ประเด็นที่ว่า โจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยหรือไม่นั้น โจทก์ได้กล่าวไว้ในคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน
พฤติการณ์ระหว่างโจทก์จำเลยที่โจทก์เป็นผู้จัดส่งสินค้าให้จำเลยโดยเป็นผู้ติดต่อสายการบินทำการชนส่งให้ ติดต่อเกี่ยวกับพิธีการศุลกากร เป็นการกระทำแทนจำเลยทั้งสิ้นมิใช่กระทำในนามของโจทก์เองโดยตรง ใบตราส่งซึ่งเป็นของสายการบินก็ระบุว่าจำเลยในนามโจทก์เป็นผู้ส่งของ รายการในใบเสร็จรับเงินที่โจทก์เรียกเก็บเงินจากจำเลยก็ได้ระบุค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จ่ายแทนจำเลยไว้ว่า มีค่าระวางสินค้าทางอากาศ ค่าล่วงเวลาศุลกากร/เปิดศุลกสถานค่าอากร ค่านายตรวจ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ค่าธรรมเนียมคลังสินค้าค่ารถบรรทุกและอื่น ๆ แยกต่างหากจากค่าบริการของโจทก์ ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่าโจทก์คิดแต่เพียงค่าบริการในการจัดส่งสินค้าให้จำเลยเท่านั้น มิได้คิดค่าระวางพาหนะในฐานะเป็นผู้ขนส่งแต่อย่างใดลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์ดังกล่าวเป็นการ ให้บริการในการจัดส่งสินค้ายิ่งกว่าเป็นผู้ขนส่งเสียเอง เพราะไม่มีการกระทำอันแสดงว่าโจทก์ตกลงขนของหรือสินค้าไปส่งให้แก่ผู้รับตราส่งเพื่อบำเหน็จซึ่งได้แก่ค่าระวางพาหนะ และโจทก์ได้ออกใบตราส่งเองแต่อย่างใดความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนมิใช่รับขน ทั้งโจทก์ไม่ได้ทำการชี้ช่องให้จำเลยเข้าทำสัญญากับผู้ใด และไม่ได้จัดการให้จำเลยได้ทำสัญญากับผู้ใดด้วยการกระทำของโจทก์ จึงไม่เข้าลักษณะนายหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 845 การที่สินค้าของจำเลยสูญหาย เสียหายหรือถึงที่หมายล่าช้าเนื่องจากการขนส่งของสายการบินโดยไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบจำเลยต้องชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้ออกไปเนื่องในการจัดทำกิจการ แก่โจทก์พร้อมทั้งบำเหน็จตามสัญญา
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 608, 797, 816, 845 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 237, 243 (1), 247 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 2246/2534
คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยทั้งสองตกลงรับเป็นนายหน้าเพื่อชี้ช่องให้โจทก์ทั้งสองได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสุราแม่โขงในเขตจังหวัดอุทัยธานีแต่ผู้เดียว ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ทั้งสองตกลงให้จำเลยทั้งสองเป็นนายหน้าติดต่อเพื่อให้โจทก์ทั้งสองได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสุราแม่โขง และข้อความที่ว่าแต่ผู้เดียว ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเพื่อให้โจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราแม่โขงในเขตจังหวัดอุทัยธานีแต่ผู้เดียวนั่นเอง โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าเพื่อให้โจทก์คนหนึ่งคนใดเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา คำฟ้องของโจทก์เช่นนี้จึงได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสองฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 แม้โจทก์ที่ 2จะลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างจำเลยทั้งสองเป็นนายหน้าโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองได้จ่ายเงินค่านายหน้าบางส่วนให้แก่จำเลยทั้งสองล่วงหน้า ย่อมถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้ให้สัตยาบันยอมรับเอาสัญญาว่าจ้างนายหน้าดังกล่าวแล้ว สัญญานายหน้าย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1
กรณีที่จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 นั้น ต้องเป็นการที่บุคคลใดได้ทรัพย์สิ่งใดมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ คดีนี้ตามฟ้องโจทก์เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองรับเงินค่านายหน้าล่วงหน้าไว้จากโจทก์ตามสัญญานายหน้า จึงเป็นการรับเงินไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ มิใช่เรื่องลาภมิควรได้ เมื่อปรากฏต่อมาว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการให้โจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราได้ตามข้อตกลง และโจทก์ทั้งสองเรียกเงินค่านายหน้าที่จ่ายล่วงหน้าดังกล่าวคืนจึงเป็นเรื่องเรียกเงินคืนฐานผิดสัญญา มิใช่กรณีเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ จะนำเอาอายุความ1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ซึ่งเป็นอายุความเกี่ยวกับลาภมิควรได้มาใช้บังคับไม่ได้
การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้จำเลยคืนเงินค่านายหน้าที่จ่ายล่วงหน้า เพราะจำเลยผิดสัญญานายหน้าเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่คู่สัญญารับเป็นนายหน้ากับโจทก์เพราะจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของ อ. นั้น จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 รับเป็นนายหน้าให้แก่โจทก์โดยเป็นตัวแทนของ อ.หรือไม่จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นฎีกาว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของ อ. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 164, 406, 419, 823, 845 ป.วิ.พ. ม. 172 วรรคสอง, 249 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 3181/2536
นายหน้าตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 845 นั้นได้แก่ผู้ชี้ช่องให้ได้มีการเข้าทำสัญญากันหรือผู้ที่จัดการให้ได้ทำสัญญากัน และนายหน้ามีสิทธิได้รับบำเหน็จต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันเสร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น การที่ ก.ได้พา ส.ผู้ซื้อไปพบจำเลยที่ 4 ผู้ขายและพากันไปดูที่ดิน และต่อมาได้มีการซื้อขายกันเนื่องมาจากการชี้ช่องดังกล่าว ก.จึงมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จโดยไม่จำเป็นที่ ก. จะต้องอยู่ด้วยในการเจรจาซื้อขายทุก ๆ ครั้งแต่อย่างใด
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 524/2537
การที่โจทก์ทั้งสองสามารถนำ ด.มาทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยได้นั้น ถือได้ว่าเกิดจากการชี้ช่องของโจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาจำเลยจะได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่จำเลยทำไว้กับ ด. ทำให้ไม่มีสัญญาจะซื้อขายอีกต่อไปก็ตามแต่ภายหลังจากนั้นจำเลยกับ ด.ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเกี่ยวกับที่พิพาทกันอีกว่า จำเลยยอมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้ ด.หรือบุคคลที่ ด.ประสงค์จะให้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ และ ด.ยินยอมชำระราคาที่ดินและค่าเสียหายแก่จำเลยจำนวนเท่ากับราคาขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทบวกกับค่าเสียหาย จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน-เจ้าหน้าที่ขายที่ดินพิพาทให้แก่ ส.ไปในราคาซึ่งตรงกับราคาที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท ดังนี้ สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อขาย เมื่อสัญญาจะซื้อขายมีผลสืบเนื่องมาจากการชี้ช่องของโจทก์ทั้งสองให้จำเลยกับ ด.ได้เข้าทำสัญญากัน สัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีผลสืบเนื่องมาจากการชี้ช่องของโจทก์ทั้งสองด้วย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จค่านายหน้าจากจำเลย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 845 ป.วิ.พ. ม. 138 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 2359/2537
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีที่ดินเนื้อที่ประมาณ 26 ไร่ ต้องการขายที่ดินดังกล่าวจำนวน 14 ไร่เศษ ซึ่งจำเลยมีโครงการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินจัดสรรขายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่ธนาคาร เพราะจำเลยได้จำนองที่ดินจำนวน 26 ไร่ ไว้แก่ธนาคารและธนาคารบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยจึงติดต่อโจทก์กับผู้มีชื่อให้เป็นนายหน้าขายที่ดินของจำเลยโดยสัญญาว่าจะยกที่ดินให้คนละ 1 ไร่เป็นค่าตอบแทนในการเป็นนายหน้า ต่อมากลางปี 2530 โจทก์สามารถติดต่อขายที่ดินให้จำเลยได้สำเร็จ แต่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา จึงมีคำขอบังคับให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดิน 120,000 บาท หากไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172วรรคสอง แล้ว จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ส่วนโจทก์จะติดต่อให้ผู้ใดมาซื้อที่ดินกับจำเลยในราคาเท่าใด เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
สัญญานายหน้าทำขึ้น 2 ฉบับ เมื่อเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลย 1 ฉบับ กรณีย่อมเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2)โจทก์จึงไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสามวัน
แม้คำพิพากษาของศาลล่างจะมิได้บังคับให้จำเลยชำระเงิน120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ก่อน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ขอบังคับจำเลยมาก็ตาม แต่เมื่อลำดับการขอบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้เป็นไปตามขั้นตอนของการบังคับชำระหนี้ ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้บังคับไปตามขั้นตอนของสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ที่ถูกต้องได้โดยพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ก่อน หากโอนไม่ได้จึงจะให้ชำระเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาของศาลล่างมิได้เกินคำขอแต่อย่างใด
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 845 ป.วิ.พ. ม. 90 (2), 142, 172 วรรคสอง |
คำพิพากษาฎีกาที่ 2519/2537
ถึงจำเลยจะเป็นเพียงบริษัทนายหน้าในการประกันภัย และที่ปรึกษาประกันภัย แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยแสดงออกในการติดต่อให้โจทก์นำเอาความเสี่ยงภัยที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปประกันภัยต่อแก่ผู้รับประกันภัยซึ่งอยู่ต่าง-ประเทศนั้นเกินเลยกว่าการเป็นนายหน้า แม้ผู้รับประกันภัยต่อมิได้มีหนังสือแต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนให้กระทำในกิจการดังกล่าว แต่การปฏิบัติของผู้รับประกันภัยต่อได้ยินยอมให้จำเลยปฏิบัติงานแทนตนตลอดมา จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 วรรคสองในกรณีเช่นนี้ตัวการไม่จำต้องแต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือและไม่อยู่ในบังคับของมาตรา798 เมื่อตัวการซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต่ออยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่าง-ประเทศ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยต่อแทนตัวการ จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยต่อตามลำพังตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
จำเลยฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกตามความหมายในหมวดที่ว่าด้วยความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอกจำเลยไม่มีสิทธิรับประกันภัยตามกฎหมายเพราะไม่มีใบอนุญาตและไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 797, 798, 824 ป.วิ.พ. ม. 249 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 2986/2537
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า จำเลยขายสินค้าโจทก์แล้วไม่ส่งมอบเงินมัดจำค่าสินค้าแก่โจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยในฐานะตัวแทนขายได้รับทรัพย์สินไว้แทนตัวการแล้วมิได้ส่งมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เป็นการผิดสัญญาตัวแทนและบรรยายคำขอบังคับ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยมีหลักฐานการสั่งซื้อสินค้าพร้อมหนังสือของจำเลยที่รับทราบการสั่งซื้อสินค้า และยอมรับการเป็นตัวแทนขายสินค้าให้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
โจทก์แต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรของโจทก์ในประเทศไทย จำเลยมีหน้าที่แนะนำผู้ซื้อเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องจักรให้ถูกต้องดูแลให้มีการตรวจสอบเครื่องจักรทุกชิ้นก่อนที่จะใช้เครื่องจักรดังกล่าว และจะต้องรับผิดชอบในการให้บริการหลังการขายตามสัญญา จำเลยจึงเป็นตัวแทนของโจทก์มิใช่นายหน้า จำเลยจะต้องส่งมอบเงินมัดจำให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการเมื่อจำเลยไม่ส่งมอบจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 811
เมื่อสัญญาตัวแทนมีข้อกำหนดว่า ราคาสินค้าที่ตัวแทนจะเสนอแก่ผู้จะซื้อนั้น จะต้องไม่สูงเกินกว่ารายการราคาสินค้าที่ส่งให้แก่ตัวแทน ดังนั้นการขายสินค้าเกินราคาให้แก่ลูกค้า และไม่ส่งเงินมัดจำดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จึงเป็นการที่ตัวแทนทำมิชอบด้วยหน้าที่ ตัวแทนไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จในส่วนนี้
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 797, 811, 818, 845 ป.วิ.พ. ม. 172 วรรคสอง |
คำพิพากษาฎีกาที่ 3377/2537
หนังสือสัญญานายหน้ามีข้อความว่า…”จึงมอบให้นายหน้าไปจัดการให้จดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินให้เสร็จภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันทำสัญญานี้…” ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว สัญญานายหน้านี้เป็นอันระงับสิ้นสุดลง” มีความหมายว่า เมื่อโจทก์ติดต่อหาผู้ซื้อได้แล้ว โจทก์ต้องจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนับแต่วันทำสัญญาด้วย กำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญานายหน้าไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนเวลาออกไปอีกแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ไม่สามารถจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันได้ภายในกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันทำสัญญา ถือว่าสัญญาสิ้นสุดไม่มีผลผูกพันคู่กรณี
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 880/2538
ข้อเท็จจริงที่ว่าตามธรรมเนียมประเพณีของการซื้อขายที่ดินในปัจจุบันโจทก์ควรได้ค่านายหน้าไม่เกินร้อยละ 3 ของราคาซื้อขายที่ดินนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แม้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์จะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่จะรับรองให้ฎีกาได้นั้นจะต้องเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ด้วย กรณีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ทั้งปัญหาดังกล่าวมิได้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 845 ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง |
คำพิพากษาฎีกาที่ 7855/2538
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่าง ม. กับจำเลยเกิดจากการชี้ช่องของโจทก์ แม้ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาและ ม.ฟ้องจำเลยแต่จำเลยก็ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลยอมโอนที่ดินพิพาทให้นาย ม.หรือบุคคลที่ ม.ประสงค์ ศาลพิพากษาตามยอม ภายหลังจำเลยได้ปฏิบัติตามโดยโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่บริษัท ช. ที่ ม.ประสงค์ ซึ่งตรงกับราคาที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขาย ดังนี้สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงมีผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายมีผลสืบเนื่องมาจากการชี้ช่องของโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมก็ย่อมมีผลสืบเนื่องมาจากการชี้ช่องของโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จค่านายหน้าจากจำเลย
สัญญานายหน้าเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาจะซื้อจะขายแม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะบันทึกเรื่องที่จำเลยตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์ไว้ก็หาทำให้สัญญาค่าบำเหน็จนายหน้าเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาจะซื้อจะขายไม่ โจทก์ฟ้องเรียกเอาบำเหน็จนายหน้าไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 164 เดิม, 193/30 ใหม่, 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 5094/2539
สัญญานายหน้าตัวแทนระหว่างจำเลยกับโจทก์กำหนดให้โจทก์ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แทนจำเลย โจทก์จึงเป็นตัวแทนของจำเลยมีอำนาจขายหุ้นแทนจำเลยได้โดยชอบและมีสิทธิได้รับค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายในการขายได้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา เมื่อหุ้นที่โจทก์ขายแทนจำเลยไปนั้น เป็นหุ้นที่จำเลยร่วมที่ 2 ลักมาและได้มีการอายัดหุ้นส่วนหนึ่งไว้แล้วทำให้มีการโอนหุ้นให้แก่ผู้ซื้อไม่ได้ โจทก์ในฐานะผู้ขายจะต้องรับผิดชอบใช้หุ้นอื่นแทนให้แก่ผู้ซื้อตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อโจทก์ได้ชดใช้หุ้นอื่นแทนแก่ผู้ซื้อ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำที่จำเป็นและสมควรต้องกระทำในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน โจทก์ในฐานะตัวแทนจึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยในฐานะตัวการชดใช้หุ้นหรือเงินค่าหุ้นที่โจทก์ออกแทนจำเลยไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 816 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 5103/2539
โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าบำเหน็จนายหน้าโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับนายหน้าไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด จึงต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี
สัญญาจะให้ค่านายหน้าแก่โจทก์มีสองจำนวน จำนวนแรกคือร้อยละ 5 ของราคาไร่ละ 160,000 บาท กับอีกจำนวนหนึ่ง ถ้าโจทก์ขายได้เกินกว่านี้ส่วนที่เกินนั้นเป็นของโจทก์ เมื่อโจทก์ชี้ช่องให้จำเลยผู้จะขายได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับผู้จะซื้อแล้ว ถือได้ว่าได้มีการทำสัญญากันเป็นผลสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการแล้ว แม้ว่าผู้จะซื้อผิดนัดไม่มารับโอนที่ดินจนเป็นเหตุให้จำเลยริบมัดจำ ก็ไม่เป็นผลให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิด ส่วนข้อความที่ว่าส่วนที่เกินกว่านี้จะเป็นของนายหน้าผู้เดียวนั้น เป็นข้อตกลงพิเศษอีกส่วนหนึ่งแยกจากกันได้กับข้อตกลงที่ให้บำเหน็จร้อยละ 5 ค่าบำเหน็จส่วนนี้ย่อมมีความหมายว่าหากมีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันเป็นผลจากที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการเมื่อจำเลยกับผู้จะซื้อไม่มีการซื้อขายกัน จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายส่วนที่เกินแก่โจทก์
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 193/30, 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 724/2540
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ.มาตรา 845 และ 846 แสดงให้เห็นว่า สัญญานายหน้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการตกลงกันระหว่างบุคคลที่ประสงค์จะทำสัญญากับบุคคลที่จะทำหน้าที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาหรือจัดการให้ได้ทำสัญญาที่เรียกว่านายหน้า เมื่อได้ความว่าโจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลย พ.น้องจำเลยเป็นผู้ติดต่อขอให้โจทก์ช่วยเสนอขายที่ดินของจำเลย โดยโจทก์ได้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและราคาจาก พ. พ.ตกลงกับโจทก์ว่าค่านายหน้าที่จำเลยจะให้ในอัตราร้อยละ 3ของราคาซื้อขายที่ดินนั้น พ.จะแบ่งให้โจทก์ร้อยละ 2 ส่วน พ.จะเอาไว้ร้อยละ 1 โจทก์ไม่เคยตกลงเรื่องค่านายหน้ากับจำเลยในวันทำสัญญาจะซื้อขายโจทก์ได้รับเงินค่านายหน้าจาก พ. และในวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยกับ จ.โจทก์ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดิน จ.เป็นคนรับเงินค่านายหน้าไว้แทนโจทก์ 200,000 บาท และบอกว่าส่วนที่เหลือให้โจทก์ติดต่อ พ. แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ตกลงโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ จ.มาซื้อที่ดินจำเลย แม้โจทก์ตกลงร่วมกับ พ.ทำหน้าที่ติดต่อชี้ช่องให้ จ.เข้าทำสัญญากับจำเลย หรือจัดการให้ จ.ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยแล้วได้ส่วนแบ่งค่านายหน้าจาก พ. ก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ พ.เท่านั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ร่วมกับ พ.ทำหน้าที่ชี้ช่องให้จำเลยกับ จ.เข้าทำสัญญากันแล้ว โจทก์ย่อมไม่ใช่นายหน้าของจำเลย โจทก์ได้รับแบ่งค่านายหน้าที่จำเลยจ่ายให้จาก พ.และ จ.มาบางส่วน ก็เป็นเพราะเหตุที่มีข้อตกลงกันไว้ระหว่างโจทก์กับ พ.และ จ.แต่โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับเรียกเอาค่านายหน้าจากจำเลยได้
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 845, 846 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 1821/2540
จำเลยให้โจทก์ทั้งสามเป็นนายหน้าขายที่ดินของจำเลยและของบุตรสาวในราคา 13,650,000 บาท โดยเริ่มแรก โจทก์ทั้งสามติดต่อกับบริษัทผู้ซื้อเพื่อขายที่ดินของจำเลยในราคาดังกล่าว แต่ไม่ตกลงกันในเรื่องราคาต่อมา ส.ซึ่งเป็นสามีของบุตรสาวจำเลยได้ติดต่อประสานงานจนกระทั่งมีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันในราคาดังกล่าว ดังนี้ แม้ ส.จะเป็นผู้ติดต่อประสานงานขายที่ดินสำเร็จในภายหลัง แต่ก็คงขายให้แก่บริษัทผู้ซื้อซึ่งโจทก์ทั้งสามได้ติดต่อไว้ก่อนในราคาเดิมซึ่งโจทก์ทั้งสามเคยเสนอไว้ เป็นกรณีที่จำเลยถือเอาประโยชน์จากการที่โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ติดต่อบอกขายที่ดินแก่บริษัทผู้ซื้อมาตั้งแต่ต้น ถือได้ว่าการซื้อขายที่ดินรายนี้ได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นนายหน้าชี้ช่องจัดการ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าตามข้อตกลงร้อยละ 5 ของราคาที่ดินที่ขายได้แต่คดีนี้โจทก์ที่ 3 มิได้อุทธรณ์ฎีกาโดยโจทก์ที่ 3 ได้ถอนอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์อนุญาตแล้ว ดังนี้ คดีสำหรับโจทก์ที่ 3 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงต้องชำระค่านายหน้าแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สองในสามส่วนของค่านายหน้า
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 290, 845 ป.วิ.พ. ม. 147 วรรคสอง, 245, 247 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 2123/2540
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่พิพาทเพื่อแก้ปัญหาให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่มิได้ประทับตราบริษัทตามข้อบังคับเพราะในวันดังกล่าวมิได้นำตราบริษัทไป แต่ในวันเดียวกันนั้น ร.ซึ่งเป็นน้องชายของ ย.และเป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ได้โทรสารถึง ก.ทนายความของจำเลยที่ 1เรื่องค่าบำเหน็จนายหน้าของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์อันเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งในสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งจำเลยที่ 3 รู้เรื่องสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นมูลเหตุในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่พิพาทด้วย ดังนี้ เมื่อการทำสัญญาประนีประนอมยอมความพิพาท ก็เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1กับฝ่ายโจทก์และอยู่ในความประสงค์หรือขอบอำนาจของจำเลยที่ 1 และถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ารับเอาประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้วสัญญาประนีประนอมยอมความที่พิพาทนี้ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งมิได้เป็นผู้จัดการเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและการทำนิติกรรมแทนจำเลยที่ 1 ก็ดี หรือที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่รับรองสัญญาประนี-ประนอมยอมความนี้ก็ดี หามีผลทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความนี้สิ้นความผูกพันจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 70, 77, 820, 823, 850 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 5542/2540
เมื่อตามหนังสือสัญญาการซื้อขายและสัญญายินยอมกับหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ มิได้มีข้อความระบุไว้แต่อย่างใดว่า จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้า โดยจะยกเงินส่วนที่เหลือเป็นค่าบำเหน็จในการชี้ช่องให้จำเลยเข้าทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าว แต่ในสัญญาสองฉบับข้างต้นกลับเป็นเรื่องที่โจทก์กระทำการแทนบริษัท ท.ซึ่งโจทก์ในฐานะกรรมการคนหนึ่งของบริษัทท.ดำเนินการเป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าวตกลงซื้อที่ดินจากจำเลย มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทำหน้าที่เป็นนายหน้าขายที่ดินของจำเลยให้แก่บริษัท ท. ดังนั้น หากมีเงินส่วนที่เหลือที่จำเลยจะต้องคืน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิรับไว้เนื่องจากเงินดังกล่าว โจทก์ด้มาในฐานะที่ทำการแทนตัวการเท่านั้น
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 797, 810, 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 5758/2540
คำฟ้องของโจทก์ แม้มิได้บรรยายรายละเอียดให้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ดำเนินการอย่างไรในฐานะส่วนตัวและแสดงออกอย่างไรในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ให้ซื้อที่ดินแปลงใด เนื้อที่เท่าใด ที่ดินตั้งอยู่บริเวณไหนโจทก์อ้างว่าที่ดินมี 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีข้อตกลงแตกต่างกันอย่างไร ใครเป็นผู้ตกลงในเงื่อนไขอย่างไร เหตุใดจึงเรียกค่านายหน้าจำนวน 182 ไร่ เป็นเงิน1,456,000 บาท ก็ตาม แต่เมื่อคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 2 ร่วมกันตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าติดต่อซื้อที่ดินบริเวณติดและใกล้กับแม่น้ำป่าสัก ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ตกลงจะให้ค่าบำเหน็จตอบแทนไร่ละ 8,000 บาทโจทก์จึงรับเป็นนายหน้าและจัดการให้จำเลยทั้งสองซื้อและรับโอนที่ดินจากผู้มีชื่อจำนวน 182 ไร่เศษ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่บรรยายรายละเอียดดังกล่าวมาในฟ้องก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์มีใจความว่า จำเลยที่ 1ให้โจทก์เป็นผู้จัดหาที่ดินมาให้จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อขายกับเจ้าของที่ดินในราคาไร่ละไม่เกิน 250,000 บาท และให้โจทก์จัดหาทางเข้าออกเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 เมตร เป็น 10 เมตร ทั้งนี้ต้องจัดการให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนแล้วจำเลยที่ 1 จะให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์ในอัตราไร่ละ 8,000 บาท ดังนี้การที่จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อขายกับเจ้าของที่ดินผู้ขายเกิดจากการชี้ช่องของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าเมื่อจำเลยที่ 1 ตกลงจะให้ค่านายหน้าแก่โจทก์ และโจทก์ได้ดำเนินเป็นผลสำเร็จให้จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญากับเจ้าของที่ดินผู้ขายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าจากจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะดำเนินการล่าช้าไปบ้างและที่ดินบางแปลงจะมีราคาเกินกว่า250,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ก็ยินยอมเข้าทำสัญญากับเจ้าของที่ดินผู้ขาย โดยไม่ทักท้วงหรือถือเป็นข้อสาระสำคัญ ทั้งเหตุที่ล่าช้าบางส่วนก็เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 เองที่เข้าทำสัญญากับเจ้าของที่ดินล่าช้า จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่
โจทก์ฟ้องเรียกเอาบำเหน็จนายหน้าไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 193/30 ป.วิ.พ. ม. 172 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 6446/2540
บันทึกข้อตกลงท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ป.ผู้ขาย กับจำเลยผู้ซื้อระบุว่า จำเลยต้องการให้โจทก์เป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการขายที่ดินให้กับบริษัท ค.ไม่ว่าจะเป็นที่ดินส่วนใดก็ตาม ซึ่งทางจำเลยขายให้กับทางบริษัท ค.ได้ จำเลยสัญญาว่าจะจัดค่านายหน้าให้กับโจทก์ 20,000 บาท ต่อไร่ของที่ดินทุก ๆ แปลง ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากข้อตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้า 3 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์ในอัตราไร่ละ 20,000 บาท ต่อเมื่อโจทก์ดำเนินการให้จำเลยขายที่ดินดังกล่าวได้จนเป็นผลสำเร็จ เมื่อโจทก์เพียงแต่จัดให้จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับ พ.กรรมการบริษัท ค. แต่ต่อมาผู้จะซื้อผิดสัญญาจนมีการเลิกสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไปแล้ว กรณีจึงหาได้มีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันจะทำให้จำเลยได้รับเงินตามราคาที่ตกลงกันไว้ไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินส่วนเกินหรือค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ดังกล่าว
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 11, 149, 183, 219, 845 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 3343/2541
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 883 และตามกรมธรรม์ประกันภัยมุ่งประสงค์จะคุ้มครองวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดขึ้นแก่ของที่ขนส่ง ในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไปจนได้ส่งมอบของนั้นให้แก่ผู้รับตราส่ง คือการคุ้มครองบรรดาความเสี่ยงภัยทั้งหลายที่เป็นการสูญหายหรือเสียหายทุกประเภทที่มีต่อสินค้าที่เอาประกันภัยไว้นั่นเองเมื่อปรากฏว่าสินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ขนส่งไปถึงประเทศอุรุกวัยอันเป็นจุดหมายปลายทางโดยปลอดภัย โดยไม่มีการสูญหายหรือเสียหาย และผู้ซื้อก็ได้รับสินค้าไปเรียบร้อยแล้ว แม้ผู้ขนส่งจะได้จ่ายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อไป โดยผู้ซื้อมิได้ชำระราคาสินค้าแก่ธนาคารผู้รับตราส่งก่อนตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่สินค้าที่เอาประกันภัยสูญหายหรือเสียหายตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย อันจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์
ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นก็เป็นเพียงนายหน้าชี้ช่องให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญากันเมื่อโจทก์ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัย และโจทก์ยอมชำระเบี้ยประกันภัยแก่จำเลยที่ 2 แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกชื่อของอีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 848 แล้วจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 848, 883 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 4309/2541
แม้ค่านายหน้าที่โจทก์ได้รับในแต่ละเดือนจะมีจำนวนไม่แน่นอนและไม่เท่ากัน แต่จำเลยจ่ายค่านายหน้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน โดยคำนวณตามยอดขายสินค้าที่โจทก์ขายได้และยอดเงินที่จำเลยเก็บค่าสินค้าซึ่งโจทก์ขายได้จึงเป็นการจ่ายเป็นประจำทุกเดือน กรณีถือได้ว่าค่านายหน้าดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงานโดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำได้ จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 จำเลยต้องนำค่านายหน้าดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยจ่ายค่านายหน้าซึ่งต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยเกินไปจากจำนวนเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้อง แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาและแก้ไขให้ถูกต้องได้
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.วิ.พ. ม. 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 39, 52, 56 ไม่ระบุ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 5684/2541
ฟ้องเดิมเป็นเรื่องโจทก์เรียกร้องหนี้เงินอันเกิดจากการที่โจทก์เป็นตัวแทนนายหน้าของจำเลยในการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยจำเลยกู้เงินโจทก์แล้วหักชำระหนี้กัน ส่วนจำเลยให้การต่อสู้ในชั้นแรกอ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์แต่ต่อมากลับฟ้องแย้งว่า หากจะฟังว่าจำเลยต้องรับผิด โจทก์ทำให้จำเลยเสียหายขอให้โจทก์ชดใช้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงมีเงื่อนไขและไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินไปด้วยกันได้ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสามและมาตรา 179 วรรคท้าย ชอบที่ศาลจะไม่รับฟ้องแย้งไว้พิจารณา
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสาม, 179 วรรคท้าย |
คำพิพากษาฎีกาที่ 1891/2542
++ เรื่อง นายหน้า ++
++ ตามพยานเอกสารและข้อนำสืบของจำเลยรับฟังได้ว่า การเป็นนายหน้าคงมีแต่โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นร่วมกันทำการเป็นนายหน้าเท่านั้น โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นนายหน้าแต่อย่างใด ลักษณะการทำงานและการแบ่งผลประโยชน์กันของกลุ่มนายหน้า เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำงานในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนกัน ทั้งผลประโยชน์ที่จะได้จากการทำการเป็นนายหน้าก็ตกลงเป็นอัตราส่วนของยอดเงินที่ได้รับมา แม้โจทก์ที่ 2 จะไม่มีนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก ก็รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ที่ 2 ให้ทำการเป็นนายหน้า จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ว่าจ้าง และเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ที่ 2 ให้ทำการเป็นนายหน้า จำเลยที่ 2 จึงรับผิดชำระส่วนแบ่งค่านายหน้าให้โจทก์ที่ 2 ตามส่วนที่ตกลงจากยอดเงินที่จำเลยที่ 2 รับมาจากกลุ่มบริษัท ฮ. เท่านั้น หาใช่ต้องรับผิดชำระส่วนแบ่งจากยอดเงินร้อยละ 1 ของมูลค่าตามสัญญาไม่ และเมื่อข้อนำสืบของจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าเงินค่านายหน้าที่จำเลยที่ 2 รับมาทั้งหมดมีการแบ่งให้กลุ่มนายหน้า ซึ่งรวมทั้งโจทก์ที่ 2 ครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่านายหน้าให้โจทก์ทั้งสองอีก ++
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ร.ย. 623/42 ไม่ระบุ |
คำพิพากษาฎีกาที่ 8831/2542
โจทก์สั่งซื้อเครื่องตกแต่งหินแกรนิต จำนวน 2 ชุด จากบริษัทซ.ประเทศอิตาลี โจทก์ว่าจ้างจำเลยติดต่อขนส่งสินค้าดังกล่าวมาประเทศไทย จำเลยติดต่อบริษัทอินเตอร์ คอสเพ็ด จำกัด ประเทศอิตาลี บริษัทอินเตอร์ คอสเพ็ด จำกัดประเทศอิตาลี จ้างจำเลยร่วม ขนส่งสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากประเทศอิตาลีมาประเทศไทยปรากฏว่าสินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายเมื่อปรากฏว่า จำเลยประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนหรือนายหน้าในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจำเลยมิได้ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเอง จำเลยได้ยื่นจดทะเบียนเสียภาษีเป็นตัวแทนนายหน้ากับกรมสรรพากร บริษัทตัวแทนจะมีหน้าที่ในการติดต่อผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อนำสินค้าส่งต่อให้แก่ผู้ขนส่ง ในการรับสินค้าทางบริษัทตัวแทนจะออกใบเฮ้าส์บิล ออฟเลดดิ้ง เพื่อแสดงว่าได้รับสินค้าตามจำนวนและส่งให้แก่ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งจะออกหลักฐานเป็นบิลออฟเลดดิ้ง หรือใบตราส่ง จำเลยจึงเป็นตัวแทนผู้ส่ง ไม่ใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ร่วมขนส่งเรือ พ.ของจำเลยร่วมที่ 2 เดินทางมาถึงท่าเรือบริษัท ด. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์2535 โจทก์ได้รับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ใช้บังคับจึงต้องนำ ป.พ.พ.มาตรา 624มาใช้บังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 4 วรรคสอง ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความในคดีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2536ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้าคดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามป.พ.พ.มาตรา 624
โจทก์ฎีกาว่า สินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในมูลละเมิด เมื่อจำเลยร่วมทั้งสองถูกเรียกเข้ามาเป็นคู่ความ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2536 ต้องถือว่าโจทก์ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 25 มีนาคม 2536คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยยกข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงข้อเดียวว่า จำเลยต้องรับผิดในมูลหนี้ผิดสัญญารับขนของ หาได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 4, 624 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 504/2543
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชี้ให้โจทก์ร่วมดูบ้านและที่ดิน จำเลยที่ 2 มีอาชีพเป็นนายหน้าชักชวนโจทก์ร่วมมาดูที่ดินและรับซื้อฝาก เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วย ในลักษณะเป็นตัวการร่วมกัน แต่แบ่งงานกันทำ เมื่อที่ดินที่โจทก์ร่วมรับซื้อฝากตามสัญญาขายฝากที่ดินเป็นคนละแปลงกับที่จำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อ ทั้งไม่มีทาวน์เฮาส์ปลูกอยู่ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานฉ้อโกง
โจทก์ร่วมรับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม นิติกรรมยอมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 คู่กรณีต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันคืนเงินที่รับซื้อฝากไว้ให้แก่โจทก์ร่วมก็ต่อเมื่อโจทก์ร่วมต้องคืนที่ดินที่รับซื้อฝากไว้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้เสนอที่จะคืนที่ดินดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ชำระเงินค่าที่ดินที่ซื้อฝากไปเท่าใด ศาลจึงไม่อาจสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินที่รับฝาก แก่โจทก์ร่วมได้ ชอบที่โจทก์ร่วมจะต้องไปว่ากล่าวในทางแพ่งต่อไป ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.อ. ม. 341 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 620/2543
ฉ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ช. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันปล่อยเงินกู้ ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากประจำทั้งสามรายการเป็นทรัพย์สินที่ ช. และ ฉ. ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ช. และ ฉ. จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินจำนวนดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน
การที่ ฉ. ฝากเงินประจำไว้แก่จำเลยที่ 2 เงินที่ฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ฝากประจำให้ครบจำนวนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อถึงกำหนดแก่ ฉ.
การที่ ฉ. มีเจตนายกเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 และได้ทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย ถือได้โดยปริยายว่ามีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของ ฉ. ที่ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ฉ. ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง การโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของ ฉ. ให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมสมบูรณ์ สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีไม่ใช่เป็นเพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทน ฉ. เท่านั้น เมื่อ ฉ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฉ. โดยคำสั่งของศาลชั้นต้น ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินฝากประจำดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 306, 672, 1357, 1457 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 2615/2543
ฟ้องโจทก์คดีแรกเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย คดีมีประเด็นว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่ ส่วนในคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์อ้างว่าจำเลยทำสัญญาแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ โจทก์ได้ออกเงินทดรองชำระค่าหลักทรัพย์ที่จำเลยสั่งซื้อ แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินคืนโจทก์ คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ แม้พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองคดีจะเป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกัน แต่ก็เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน และการวินิจฉัยของศาลในเรื่องทั้งสองดังกล่าวก็ไม่ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินค่าหุ้นและค่านายหน้าที่โจทก์ได้ออกทดรองแทนจำเลยไป เป็นกรณีที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปชดใช้จากตัวการในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 193/30, 816 วรรคหนึ่ง ป.วิ.พ. ม. 173 วรรคสอง (1) |
คำพิพากษาฎีกาที่ 7392/2543
สัญญาที่จำเลยที่ 1 กับพวก ทำกับโจทก์ เป็นสัญญาจะซื้อจะขายให้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกันภายหน้า แม้ขณะทำสัญญาผู้จะขายยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือไม่มีทรัพย์สินสัญญาก็มีผลใชับังคับได้ เพราะเมื่อสัญญาถึงกำหนด หากผู้จะขายผิดสัญญา ผู้จะซื้อสามารถให้ผู้จะขายชดใช้ค่าเสียหายแทนการโอนทรัพย์สินที่จะขายกันได้
การที่จำเลยที่ 1 กับพวกได้เคยรวบรวมที่ดินเสนอขายให้ผู้อื่นมาแล้ว เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ทำไว้กับโจทก์มีผลใช้บังคับได้ จึงหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 กับพวก เป็นผู้ชี้ช่องให้โจทก์เข้าทำสัญญาหรือจัดการให้โจทก์ได้ทำสัญญากับเจ้าของที่ดินอันจะถือว่าเป็นสัญญานายหน้าไม่
หนังสือสัญญานายหน้าเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับพวกโดยเฉพาะอีกฉบับหนึ่งต่างหาก ไม่เกี่ยวกับโจทก์หรือเกี่ยวกับสัญญาจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กับพวก แต่ประการใด สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงไม่เป็นนิติกรรมอำพรางหนังสือสัญญานายหน้า อันจะมีผลทำให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตกเป็นโมฆะ
เมื่อจำเลยที่ 1 กับพวก ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดต่อกันเป็นผืนเดียวกันให้กับโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลา ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ จำเลยที่ 1 กับพวก ต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และยังต้องรับผิดใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินด้วย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 155, 381, 456, 459 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 8303/2543
โจทก์ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 2 หลังจากโจทก์วางเงินมัดจำแล้วจำเลยที่ 2 จึงสั่งรถยนต์มาจากจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์ให้ โจทก์จึงร้องเรียนไปยังบริษัท ส.ซึ่งเป็นผู้ประกอบรถยนต์คันที่โจทก์ซื้อ บริษัทส.มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 (ดิลเลอร์) ได้ดำเนินการติดต่อประสานงานกับจำเลยที่ 2 (โบรคเกอร์) เพื่อเจรจาใช้หนี้ให้โจทก์ หากโจทก์ประสงค์ซื้อรถยนต์ในครั้งต่อไปขอให้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 โดยตรงเพราะจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จำหน่ายจากบริษัท ส.แล้ว พอแปลคำว่าดิลเลอร์ได้ว่าหมายถึงผู้จำหน่าย ประกอบกับจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัท ส. ดังนั้นจำเลยที่ 1จึงเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ของบริษัท ส. ส่วนคำว่าโบรคเกอร์ หมายถึงนายหน้าประกอบกับจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์เป็นนายหน้า ความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในลักษณะจำเลยที่ 1 เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นนายหน้าในการขายรถยนต์ให้
โจทก์ซื้อรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ผ่านทางจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดส่งมอบชุดจดทะเบียนแก่โจทก์ด้วย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 453, 820 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 6082/2544
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 4 หน้า 208 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++
++
++
การที่จำเลยหักจากค่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขายเป็นงวด ๆ เพื่อเป็นค่าสินค้าที่เรียกเก็บจากลูกค้าไม่ได้ โดยจำเลยจะต้องจ่ายเงินคืนโจทก์เมื่อเก็บค่าสินค้าที่ขายให้แก่ลูกค้าได้แล้ว เมื่อคดีที่จำเลยฟ้องโรงเรียน ก. เรียกค่าเครื่องพิมพ์ดีดที่โจทก์นำไปขายได้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 แสดงว่าจำเลยได้รับค่าสินค้าจากลูกค้าแล้ว จึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิบังคับตามสิทธิเรียกร้องเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 บรรพ 1 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
หนี้การเรียกเงินที่นายจ้างหักจากค่านายหน้าจากการขาย (ค่าจ้าง) ของลูกจ้างเพื่อชำระค่าเสียหายนั้น ป.พ.พ. และกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 บรรพ 1 เดิม
โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 จึงไม่ขาดอายุความ
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. อายุความ ม. 164 เดิม, 169 เดิม คำพิพากษาฎีกาย่อสำนักงานศาลยุติธรรม ไม่ระบุ |
คำพิพากษาฎีกาที่ 8543/2544
จำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงให้โจทก์ถอนซองประกวดราคาของโจทก์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยที่ 1 ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในฎีกาจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยประกาศประกวดราคาให้ผู้สนใจเสนอขายที่ดินเพื่อใช้ก่อสร้างที่ทำการเขตโทรศัพท์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เป็นนายหน้าตกลงค่านายหน้าร้อยละ 3 ของราคาที่ตั้งไว้ หากขายได้เกินราคา ดังกล่าวเงินที่ขายเกินยอมยกให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างยื่นซองประกวดราคาเสนอขายที่ดินของจำเลยที่ 1 แปลงเดียวกันแก่องค์การโทรศัพท์ โดยโจทก์เสนอขายในราคาต่ำกว่าราคาที่จำเลยที่ 2 เสนอ คณะกรรมการ รับและเปิดซองประกวดราคาเรียกจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของที่ดินกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้ตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนเสนอขายที่ดินเพียงผู้เดียว โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอขายที่ดินของ จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว แล้วมีการทำหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 7 และหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 8 ต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตกลงซื้อที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามคำเสนอขายของจำเลยที่ 2 และได้ชำระค่าที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ กันเสร็จสิ้นแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้ค่าตอบแทนหรือที่เรียกว่าค่านายหน้าแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 7 เนื่องจากโจทก์ยอมตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่เกี่ยวกับหนังสือ สัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ได้ทำกันไว้ในตอนแรกโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามข้อตกลง ดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงว่าการที่จำเลยที่ 1 กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่องหรือจัดการหรือไม่ และเมื่อโจทก์ได้ถอนซองประกวดราคาของโจทก์โดยปริยาย ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามเอกสารหมาย จ. 8 จากจำเลยที่ 2 ด้วย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 149, 369, 845 ป.วิ.พ. ม. 177, 225 วรรคหนึ่ง, 249 วรรคหนึ่ง |
คำพิพากษาฎีกาที่ 8869/2544
จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนและนายหน้าให้ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แทนจำเลยและให้โจทก์มีอำนาจนำเงินที่ได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ในวันที่ทำสัญญาจำเลยได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบมาร์จิ้นซึ่งเป็นการซื้อหลักทรัพย์ด้วยเงินเชื่อ ต่อมาจำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหลักทรัพย์หุ้นบริษัท ร. โดยให้โจทก์เป็นตัวแทนการซื้อหุ้นแบบมาร์จิ้น จำเลยค้างชำระค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยและจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระหนี้เงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ การซื้อขายหุ้นที่จำเลยค้างชำระไม่ใช่การซื้อขายแบบเงินสด การที่โจทก์ดำเนินการขายหุ้นและนำเงินมาหักกลบลบหนี้ที่ค้างชำระจึงไม่ขัดต่อระเบียบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้สมาชิกถือปฏิบัติในการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ม. 15 (5) พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535ม. 112 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 991/2545
จำเลยทำสัญญาตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนนายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ ดังนั้นความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทน ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยเกินจำนวนที่จำเลยสั่งให้ขายก็เป็นการกระทำที่อยู่ในฐานะของตัวแทนของจำเลย โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี จึงยังไม่ขาดอายุความ
จำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นเพียง 10,000 หุ้น แต่โจทก์ขายหุ้นไปจำนวน 20,000 หุ้น และส่งมอบเงินที่ขายได้ทั้งหมดจำนวน 502,475 บาท ให้แก่จำเลย จึงมียอดเงินที่จำเลยรับไว้เกินเป็นจำนวน 251,237.50 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 193/30, 816 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 6103/2545
การที่โจทก์ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 4,000,000 บาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีเจตนาจะขายที่ดินพิพาทในราคา 52,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 ก็ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทมีราคาท้องตลาดมากกว่า 36,000,000 บาท เป็นการทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดเพราะถูกนายหน้าขายที่ดินพิพาทหลอกลวง ซึ่งตามพฤติการณ์จำเลยที่ 1 กับพวกรู้ถึงการหลอกลวง การที่โจทก์สำคัญผิดในเรื่องราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันเช่นนี้ แม้มิใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีหรือทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันย่อมมีความสำคัญมากพอกับตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม จึงถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 เช่นเดียวกัน เมื่อนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 156 แต่นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีผลเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 159 จึงต้องถือว่านิติกรรมรายนี้เป็นโมฆะเพราะเป็นผลดีต่อผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยบกพร่องยิ่งกว่าเป็นโมฆียะ
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 156, 157, 453 |
คำพิพากษาฎีกาที่ 3027/2547
โจทก์เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย โจทก์สั่งสินค้าจากบริษัท อ. จำกัด ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงค์โปร์ การสั่งซื้อสินค้าและจำหน่ายสินค้าของโจทก์แบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก สินค้า อะไหล่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ขนาดเล็ก โจทก์จะสั่งสินค้าเข้ามาในนามโจทก์ เมื่อมีลูกค้ามาซื้อโจทก์จะขายและส่งมอบสินค้าไป ประเภทที่สอง เป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่ โจทก์จะไม่สั่งซื้อสินค้ามาเก็บ เมื่อมีลูกค้ามาสั่งซื้อสินค้าโจทก์จะทำสัญญาซื้อขายในนามโจทก์ ออกเอกสารว่าโจทก์เป็นผู้ขาย ลูกค้าเป็นผู้ซื้อระบุรายละเอียดให้ลูกค้าเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ส่งเงินราคาสินค้าไปให้แก่บริษัท อ. จำกัด ที่อยู่ในต่างประเทศโดยตรง สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข การรับประกันของโจทก์ต่อลูกค้าระบุว่าโจทก์มีความรับผิดในฐานะผู้ขายสินค้า หลังจากนั้นผู้ขายจะส่งสินค้าให้แก่ ผู้ซื้อโดยตรง ในการทำสัญญาซื้อขายโจทก์จะเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าที่ขายเองมีอิสระที่จะขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อทางใดก็ได้ หากสินค้าบกพร่องโจทก์มีหน้าที่รับผิดต่อลูกค้าโดยตรง เงินทุนที่ใช้ประกอบกิจการเป็นของโจทก์ หากมีกำไรหรือขาดทุนโจทก์รับภาระการขาดทุนหรือผลกำไรแต่ผู้เดียว ผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจึงอยู่ในรูปกำไรมิใช่บำเหน็จจากการเป็นตัวแทนหรือนายหน้า โจทก์มิได้เป็นลูกจ้างผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อให้กับบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ ไม่เข้าลักษณะเป็นกิจการตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศ จึงไม่มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีแทนบริษัท อ. จำกัด ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 76 ทวิ
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.รัษฎากร ม. 66, 76 ทวิ |
คำพิพากษาฎีกาที่ 8189/2547
โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายชำระหนี้ค่านายหน้าแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การรับว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระค่านายหน้าแก่โจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยให้การต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองผิดสัญญานายหน้า จำเลยจึงมีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงิน และโจทก์ทั้งสองได้รับเงินตามเช็คพิพาทไปแล้วบางส่วนนั้น จำเลยมิได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า โจทก์ทั้งสองผิดสัญญาอย่างไร และโจทก์ทั้งสองได้รับเงินตามเช็คพิพาทไปแล้วจำนวนเท่าใด เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองผิดสัญญานายหน้าหรือไม่ และโจทก์ทั้งสองได้รับเงินตามเช็คพิพาทไปแล้วบางส่วน แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
ปัญหาว่า คำให้การของจำเลยก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิใช่ปัญหาที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งคู่ความมิได้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ |
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.วิ.พ. ม. 142 (5), 177 วรรคสอง, 246 |