การฟ้องคดีหมิ่นประมาท ในกรณีไม่ได้ระบุชื่อ
ในการฟ้องคดีหมิ่นประมาท ในกรณีที่ไม่ได้ระบุชื่อ ผมทนายพ […]
เรื่องคดีลิขสิทธิ์ มีประเด็นการต่อสู้หลายแบบ ซึ่งบางท่านดอาจคิดว่าการถูกจับลิขสิทธิ์นั้น บางครั้ง ผู้จับ อาจมีการจับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น มิใช่ผู้มอบอำนาจมาจับ การมอบอำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในเรื่องการฟ้องคดีก็ยังมีข้อต่อสู้ในสำนวน ที่เรียกว่าข้อกฎหมาย
บรรยายฟ้องคดีลิขสิทธิ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2036/2564 (หน้า 12 เล่ม 7) โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28 และ 69 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดในส่วนของการกระทำ คือ การทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการค้า ซึ่งองค์ประกอบความผิดในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง กล่าวคือ ต้องเป็นงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์รับรองว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 และ 7 และการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด เช่น ได้มาโดยการสร้างสรรค์งานเองตามมาตรา 6 หรือได้มาโดยการรับโอนลิขสิทธิ์ตามมาตรา 17 ทั้งยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของการได้มาที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 8 นอกจากนี้ งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ฉะนั้น หลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบของานสร้างสรรค์ที่จะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวมา จึงเป็นองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นสาระสำคัญ
องค์ประกอบความผิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้น ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 หากผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดาก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย หากผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุการคุ้มครองห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก การบรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานตามฟ้องมาเมื่อใดหรือมีการโฆษณางานนั้นๆ ครั้งแรกเมื่อใด จึงเป็นส่วนสาระสำคัญมิใช่เพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลโดยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมทั้งคำร้องและทำนอง งานสิ่งบันทึกเสียงที่บันทึกเสียงงานดนตรีกรรม และงานโสตทัศนวัสดุประกอบด้วยลำดับภาพและเสียงแบบคาราโอเกะในเพลงจำนวน 11 เพลง รายการชื่อเพลง ชื่อศิลปิน บริษัทผู้สร้างสรรค์ และวันที่ประกาศโฆษณาครั้งแรกในประเทศไทย ปรากฏรายละเอียดตามบัญชีแนบท้ายเอกสารท้ายฟ้อง แต่เมื่อพจารณาเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวแล้ว คงปรากฏรายละเอียดเพียงชื่อเพลง คำขึ้นต้น ผู้แต่งเนื้อร้อง ผู้แต่งทำนอง อัลบัม/ชุด วันสิ้นสุดสัญญา ประเภทของงานที่จัดเก็บ สถานะเพลง และบริษัท ซึ่งในหัวข้อวันสิ้นสุดสัญญาของแต่ละเพลงมีการระบุข้อความเพียง “อนุญาตตลอดอายุลิขสิทธิ์” โดยไม่มีรายละเอียดทั้งในการบรรยายฟ้องหรือเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางานผู้เสียหายโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด ย่อมเป็นฟ้องที่ไม่มีข้อเท็จจริงในส่วนที่แสดงให้เห็นว่า ลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 หรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด อันเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 158(5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ และมิใช่กรณีที่ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานหรือต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 176 เนื่องจากฟ้องโจทก์ต้องเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน
(หมายเหตุ 1 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27(1)(2) และมาตรา 28(1)(2) ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาพิพากษายืน