ทนายสู้คดีปลอมเอกสาร

ทนายสู้คดีปลอมเอกสาร

ลักษณะ ๗ ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง

หมวด ๓ ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร
มาตรา ๒๖๔ ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติม หรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
ความผิดตามมาตรานี้เกี่ยวพันกับความผิดตาม มาตรา ๑๖๑ , ๑๖๒ , ๑๘๘ และมีความยุ่งยากมากพอสมควร องค์ประกอบความผิดตามมาตรานี้อาจแยกได้สามตอน คือ
(๑) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ หรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติม หรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
(๒) โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๓) กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
ข้อสังเกตประการแรก ซึ่งมีปัญหาค่อนข้างมาก็คือ คำว่า “เอกสาร” ตาม มาตรา ๑ (๗) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
“วัตถุอื่นใด” เช่น เครื่องหมายตัวอักษรและเลขที่พานท้ายปืน เครื่องหมายตัวอักษรและเลขที่ครั่งปิดปากไหสุรา และที่กระดาษปิดขวดสุรา หลักเขตที่ดิน ป้ายทะเบียนรถยนต์ และเลขหมายที่เครื่องของรถยนต์ ท่อนโลหะหลอมบอกน้ำหนัก เลขเครื่องหมายของโรงงานประจำเครื่องยนต์ เครื่องหมายที่ทำไว้ที่ตัวสัตว์
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๐๙/๒๕๒๒ ภาพถ่าย ห้อง เครื่องใช้ ตู้เสื้อผ้า และของอื่น ๆ ในบ้านเรือนเป็นภาพจำลอง ไม่ได้แสดงความหมายอย่างใด เมื่อถ่ายเป็นภาพออกมาก็ปรากฏอยู่ในสภาพอย่างนั้น ไม่เป็นหลักฐานแห่งความหมายอย่างไร ไม่เป็นเอกสารตาม มาตรา ๑ (๗) การเอาไปไม่เป็นความผิดตาม มาตรา ๑๘๘
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๓๐/๒๕๒๒ จำเลยเอาภาพถ่ายผู้อื่นที่รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต และสวมครุยวิทยฐานะมาปิดภาพถ่ายเฉพาะใบหน้าของจำเลย ลงไปแทน แก้เลข พ.ศ.๒๕๐๖ เป็น ๒๕๐๔ แล้วถ่ายเป็นภาพใหม่ ดูแล้วเป็นภาพจำเลยรับปริญญามีตัวอักษรว่า มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ.๒๕๐๔ ดังนี้ เป็นภาพถ่ายที่ไม่ได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น ๆ ตามความหมายของ มาตรา ๑ (๗) ส่วนตัวเลข พ.ศ. ก็ไม่ปรากฏความหมายในตัวเอง ไม่เป็นเอกสารปลอมและใช้เอกสารปลอม
ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ภาพถ่ายคดีนี้มีความหมายแสดงชัดแจ้งว่า ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นแพทยศาสตร์บัณฑิต โดยการสวมครุยถ่ายรูป จึงชัดแจ้งเป็นความหมาย ทำให้ปรากฏโดยภาพถ่าย ส่วนตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแผนแบบอย่างอื่น ก็ถือว่ารอยเส้นที่ปรากฏเป็นภาพจำเลยในรูปถ่ายภาพเป็นแผนแบบที่แสดงความหมายให้ปรากฏเป็นหลักฐาน ถือเป็นเอกสารที่ทำขึ้นด้วยวิธีถ่ายภาพ การรับและสวมครุยปริญญา ถ่ายภาพก็แสดงให้ใคร ๆ รู้ว่า ตนเป็นบัณฑิตผู้ได้รับปริญญา ตัวเลข พ.ศ. ก็บอกอยู่ในตัวว่าได้รับเมื่อใด ไม่เป็นเอกสารไม่ได้
ข้อสำคัญในคดีนี้คือ เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมหรือเอกสารโกหก จำเลยทำเอกสารขึ้น แม้จะเอาภาพถ่ายของผู้อื่นมาเปลี่ยนแปลงเป็นภาพหน้าจำเลย จำเลยก็ไม่ได้ทำให้ใครเข้าใจว่าภาพนั้นเป็นภาพคนอื่น คือ ไม่ได้ทำให้เข้าใจว่าข้อความในเอกสารว่าเป็นข้อความของคนอื่น แต่เป็นข้อความของจำเลยเอง ซึ่งหลอกผู้ได้เห็นภาพว่า จำเลยเป็นบัณฑิต เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ เท่านั้น เช่นเดียวกับเอาเอกสารสัญญากู้ที่คนหนึ่งทำไว้มาเปลี่ยนลายมือชื่อผู้กู้ลงในเอกสารเป็นลายมือชื่อจำเลย ถ้าทำโดยไม่ประสงค์ให้เข้าใจผิดว่าแทนที่จะเป็นผู้กู้เดิม กลายเป็นจำเลยกู้ ก็เป็นเอกสารเท็จ ใครจะเป็นผู้กู้เดิมไม่มีความหมายอันใด แต่ถ้าทำด้วยความประสงค์ให้เข้าใจผิดว่า ผู้กู้ไม่ใช่จำเลย อันเป็นความหมายแสดงออกในเอกสารนั้น เป็นเอกสารปลอม คดีนี้ใครจะเป็นเจ้าของภาพเดิมไม่มีความหมาย ในการเปลี่ยนภาพใบหน้า จำเลยอาศัยกระดาษเติมใส่ภาพหน้าจำเลยลงไปเท่านั้น เหตุผลในแง่ที่ไม่เป็นความผิด (ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัย น่าจะเป็นว่า) ภาพถ่ายเดิมเป็นแต่ภาพที่ระลึก ไม่ประสงค์เป็นหลักฐานแห่งความหมายใด ๆ ผู้ทำปลอมแปลงก็ทำเพื่อแสดงว่าตนเองได้รับปริญญา ไม่เป็นเอกสารของผู้อื่นทำขึ้น เป็นแต่เอกสารเท็จ ไม่ใช่เอกสารปลอม
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๐๗/๒๕๑๔ ลำพังแต่แบบพิมพ์เช็คที่ธนาคารได้จัดพิมพ์เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารใช้เป็นหนังสือตราสาร คำสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินแก่ผู้รับเงินที่ยังไม่ได้ลงชื่อผู้สั่งจ่ายและกรอกรายการอื่น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๘๘ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ แบบพิมพ์นั้นก็ยังไม่เป็นเช็คหรือตั๋วเงินที่ใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คือยังไม่เป็นเอกสาร เพราะไม่มีความหมาย
ข้อสังเกตประการที่สอง การทำปลอมเอกสารทั้งฉบับนั้น มีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะหากเป็นเพียงเอกสารเท็จแล้วก็ไม่เป็นความผิด อะไรเป็นเอกสารเท็จ อะไรเป็นเอกสารปลอม บางกรณีก็เข้าใจยาก
ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย อธิบายคำว่า “ทำเอกสารปลอม” ต่างกับคำว่า “ทำปลอมขึ้น” ในเรื่องปลอมเงินตรา ปลอมดวงตรา ปลอมแสตมป์ หรือปลอมตั๋ว เพราะการทำเอกสารปลอมขึ้นไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริง ส่วนคำว่า “ทำเอกสารปลอม” หมายความว่า ทำเอกสารขึ้นใหม่แสดงว่าเอกสารนี้มาจากผู้อื่น ไม่ใช่ผู้ที่ทำเอกสารนั้น “ผู้อื่น” จะมีตัวตนหรือไม่ก็ได้
ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายทำนองเดียวกันว่า การปลอมเอกสารไม่ต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน และไม่ต้องทำให้เหมือนของจริงก็เป็นปลอมเอกสาร
เหตุที่ท่านศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ไม่ต้องทำให้เหมือนของจริง ก็เป็นเอกสารปลอมได้ ก็เพราะเอกสารปลอมเป็นเรื่องของ “ข้อความ” ในเอกสาร ไม่ใช่แบบฟอร์มว่ามีรูปร่างอย่างไร
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๗๐/๒๔๙๖ จำเลยทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ แม้จะไม่มีต้นฉบับเอกสารที่แท้จริง ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๓๓/๒๕๑๔ จำเลยทำเอกสารมีข้อความเท็จทั้งสิ้น แล้วลงนามรับรองว่า เป็นสำเนาถูกต้อง แม้ต้นฉบับที่แท้จริงไม่มี ก็เท่ากับปลอมแปลงขึ้นทั้งฉบับ เพื่อให้เห็นว่าตนคัดมาจากต้นฉบับที่แท้จริง ถือว่าเป็นปลอมเอกสาร
คำว่า “เอกสารที่แท้จริง” ในมาตรานี้ ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า คำว่า “แท้จริง” ไม่ได้หมายความถึง “เท็จหรือจริง” ไม่ได้หมายความว่า ความหมายของเอกสารอันแท้จริงนั้นเป็นจริง “เอกสารปลอม” ต่างกับ “เอกสารเท็จ” เอกสารแท้จริงอาจมีข้อความเป็นเท็จก็ได้ เอการปลอมอาจมีข้อความตรงกับความจริงก็ได้ เอกสารมิได้เกิดขึ้นได้เองต้องมีผู้ทำขึ้น และตัวเอกสารนั้นเองย่อมแสดงว่าผู้ใดทำขึ้น จึงเพ่งเล็งถึงผู้ทำเอกสาร คือ เอกสารนั้นในตัวของมันเองดูแล้วเห็นได้ว่าผู้ใดทำขึ้นและความจริงผู้นั้นทำขึ้นจริงหรือไม่
คำว่า “เอกสารที่แท้จริง” ตามมาตรานี้ อาจอธิบายได้ว่า หมายถึง เอกสารต้นฉบับ การปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ นั้น หมายความว่า ปลอมขึ้น เพื่อให้คนที่เห็นเอกสารนั้นเข้าใจว่า เอกสารนั้นเป็นเอกสารต้นฉบับ ซึ่งความจริงแล้วจะมีเอกสารต้นฉบับ หรือไม่ก็ไม่สำคัญ และเอกสารที่ปลอมขึ้นทั้งฉบับนั้น จะมีข้อความตรงกับความจริงหรือไม่ ไม่สำคัญ เช่น ทำพินัยกรรมปลอมขึ้นทั้งฉบับ จะเห็นได้ว่าแม้ไม่มีต้นฉบับพินัยกรรมอยู่จริง ๆ เลย แต่ถ้าการปลอมทำให้ผู้ที่เห็นพินัยกรรมหลงเชื่อว่าเป็นพินัยกรรมที่แท้จริง ซึ่งเจ้ามรดกได้ทำขึ้น ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้ หรือปลอมจดหมายของบุคคลอื่นขึ้นทั้งฉบับ แม้ความจริงไม่มีต้นฉบับอยู่ และข้อความในจดหมายนั้นตรงกับความจริงก็ตาม หากทำให้ผู้ที่เห็นจดหมายนั้นหลงเชื่อว่า เป็นจดหมายที่บุคคลอื่นเขียนขึ้น และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ได้
โปรดสังเกตคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้ อธิบายว่า อะไรคือเอกสารเท็จ อะไรคือเอกสารปลอม
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๐/๒๔๗๙ อ ป ท และ ข ทำสัญญาใช้ช้างรับจ้างลากไม้โดยหลอกว่าชื่อ ม บ ส และ จ และมีช้าง ๖ เชือก แล้วรับเงินล่วงหน้าไป ความจริงช้างไม่มี และในสัญญาลงลายมือชื่อ ม บ ส หรือ จ ดังนี้ เป็นหนังสือของผู้ทำเอกสารเองแม้ไม่มีชื่อจริงก็ไม่เป็นความผิด
ขอให้สังเกตว่า การที่ อ บ ท และ ข ทำสัญญาใช้ช้างรับจ้าง โดยลงชื่อว่า ม บ ส และ จ นั้น เป็นการทำปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ และลงลายมือชื่อปลอม แต่เหตุที่ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสี่ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะศาลฎีกาในคดีนี้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการปลอมตัว เพื่อไปทำสัญญาฉ้อโกงทรัพย์ มิใช่เรื่องจำเลยทั้งสี่มีเจตนาปลอมหนังสือ ทั้งหนังสือนี้ก็เป็นหนังสือของจำเลยทั้งสี่ ตั้งใจทำเป็นของจำเลยทั้งสี่เอง เป็นแต่จำเลยทั้งสี่ ไม่เซ็นชื่ออันแท้จริงของจำเลยทั้งสี่เท่านั้น คำว่า “มิใช่เรื่องจำเลยทั้งสี่ มีเจตนาปลอมหนังสือ” ก็ดี และคำว่า “ทั้งหนังสือนี้ ก็เป็นหนังสือของจำเลยทั้งสี่ ตั้งใจ ทำเป็นของจำเลยทั้งสี่เอง” ก็ดี เห็นได้ว่าศาลฎีกาวินิจฉัย “เจตนา” จำเลยว่า ไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร อันเป็นการกระทำที่ขาดเจตนาตาม มาตรา ๕๙ ศาลฎีกาจึงไม่ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๕/๒๔๖๑ จำเลยเป็นปลัดอำเภอได้จ้าง ก และ ข ถ่อเรือจากอำเภอโพนพิสัย ไปส่งเงินผลประโยชน์ที่จังหวัดหนองคายตามคำสั่งนายอำเภอ ไปและกลับเป็นเงิน ๔ บาท แล้วจำเลยทำใบสำคัญว่า เหมาจ้างจากอำเภอไชยบุรีถึงจังหวัดหนองคาย ไปและกลับ รวม ๑๐ บาท ให้ ก ลงชื่อ แล้วเบิกเงินจากคลังไป ๑๐ บาท ตามใบสำคัญนั้น จำเลยจ่ายเงินให้แก่ ก ไป ๔ บาท จำเลยเอาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ๖ บาท ดังนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมหนังสือ แต่ผิดฐานฉ้อโกง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๗๐/๒๔๗๒ , ๓๓๓/๒๔๗๖ , ๗๓๖/๒๔๗๘ ปลัดอำเภอวานคนถ่อเรือไปราชการ แล้วทำใบสำคัญว่าได้จ้างถ่อเรือให้คนที่ถ่อเรือ ลงลายมือชื่อจริง เพื่อนำไปเบิกเงิน เป็นแต่เพียงเอกสารเท็จ ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๑/๒๕๐๗ จำเลยใช้ชื่อปลอมในการเปิดบัญชีฝากเงิน และออกเช็คเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวตามแผนที่วางไว้เพื่อฉ้อโกง ดังนี้ ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะเป็นการกระทำของตนเอง เป็นแต่ไม่ใช่นามจริงเท่านั้น
คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยลงลายมือชื่อปลอมในคำขอเปิดบัญชีเงินฝาก โดยใช้ชื่อว่า นายสมศักดิ์ แซ่ตั้ง ซึ่งไม่ใช่ชื่อจริงของจำเลยนั้น จำเลยมิได้ปลอมเอกสารของผู้ใด เป็นเรื่องจำเลยมิได้ฝากเงินในนามจริงของจำเลยเท่านั้น ซึ่งจำเลยกระทำได้ ไม่ได้ทำให้ธนาคารเสียหาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิด
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยลงชื่อในแบบคำขอฝากเงิน และในแบบตัวอย่างลายเซ็นในนามของ นายสมศักดิ์ แซ่ตั้ง ซึ่งมิใช่นามอันแท้จริงของจำเลยเพื่อขอฝากเงินต่อธนาคารนั้น จำเลยมิได้ปลอมชื่อหรือเอกสารของผู้ใด เป็นเรื่องจำเลยขอเปิดบัญชีฝากเงินต่อธนาคาร โดยจำเลยไม่ประสงค์จะใช้นามอันแท้จริงของจำเลยเป็นผู้ฝากเท่านั้น
โปรดสังเกตว่า ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยลงชื่อว่าเป็นนายสมศักดิ์ แซ่ตั้ง เพราะไม่ประสงค์จะใช้นามอันแท้จริงของจำเลยเท่านั้น ซึ่งเท่ากับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยลงลายมือชื่อว่า สมศักดิ์ แซ่ตั้ง โดยเจตนาจะใช้เป็นชื่อจำเลย ไม่ได้ลงลายมือชื่อว่า สมศักดิ์ แซ่ตั้ง เพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นลายมือชื่อนายสมศักดิ์ แซ่ตั้ง จึงไม่ใช่เป็นการลงลายมือชื่อปลอม ขาดองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอ้างว่า จำเลยมีสิทธิกระทำได้ มิได้ทำให้ธนาคารเสียหาย ซึ่งก็ขาดองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกัน (ดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๓/๒๕๔๐)

author avatar
PongrapatLawfirm