ทนายสู้คดีลิขสิทธิ์ การจับแบบไหนถึงไม่ผิดคดีลิขสิทธิ์
เรื่องคดีลิขสิทธิ์ มีประเด็นการต่อสู้หลายแบบ ซึ่งบางท่า […]
การนำรถที่รับจำนำไปขายผิดหรือไม่ !!
แล้วทางแก้ไข คืออะไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997/2563 (หน้า 132 เล่ม 3) จำเลยรับจำนำรถยนต์พิพาทจาก ป. จำเลยมีเพียงสิทธิยึดถือครอบครองรถยนต์พิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน และมีสิทธิจะขายทรัพย์จำนำได้ต่อเมื่อบอกกล่าวบังคับจำนำเป็นหนังสือไปยัง ป.ให้ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาอันสมควรก่อน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 758 และ 764 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้ ป.ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาพอสมควร จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรถยนต์พิพาทไปขาย แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำไปขายให้แก่บุคคลใดก็ตาม แต่การที่จำเลยแจ้งแก่ ป.ว่า ได้ขายรถยนต์พิพาทไปแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นในการขายรถยนต์พิพาท เมื่อจำเลยยึดถือครอบครองรถยนต์พิพาทแทน ป. ผู้จำนำแล้ว จำเลยนำรถยนต์พิพาทไปขาย และไม่สามารถนำมาคืนให้แก่ ป.ผู้จำนำซึ่งได้ใช้สิทธิไถ่ถอนโดยนำเงินมาชำระหนี้แก่จำเลยแล้ว จึงเป็นการเบียดบังเอารถยนต์พิพาทนั้นไปเป็นของตนโดยทุจริต อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ป.ผู้จำนำ ผู้เสียหายที่ 1 ผู้ให้เช่าซื้อและผู้เสียหายที่ 2 เจ้าของรถยนต์พิพาทในขณะนั้น จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอก
(หมายเหตุ 1 ข้อเท็จจริง ผู้เสียหายที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์จากผู้เสียหายที่ 1 และให้ ป.เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์
2 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 ป.นำรถยนต์ไปจำนำกับจำเลย เมื่อถึงกำหนดชำระดอกเบี้ยในวันที่ 21 มกราคม 2560 ป.โทร.ไปหาจำเลยขอผัดผ่อนชำระหนี้ จำเลยพูดขู่ว่าถ้าไม่นำเงินมาชำระหนี้จะนำรถไปขาย
3 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้เสียหายที่ 2 มอบเงินให้ ป.นำไปไถ่ถอนรถยนต์คืนจากจำเลย จำเลยบอกว่า นำรถยนต์ไปขายแล้ว ผู้เสียหายจึงมอบอำนาจให้ ป.ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
4 ต่อมา ผู้เสียหายที่ 1 ดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเช่าซื้อจากผู้เสียหายที่ 2 และได้รับชำระหนี้จากผู้เสียหายที่ 2 ครบถ้วนแล้ว
5 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.อ.มาตรา 357 วรรคแรก(เดิม) จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตาม ป.อ.มาตรา 352 วรรคหนึ่ง
6 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยมีเพียงยึดถือครอบครองรถยนต์ไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน และมีสิทธิจะขายทรัพย์จำนำได้ต่อเมื่อบอกกล่าวบังคับจำนำเป็นหนังสือไปยัง ป.ให้ชำระหนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือบอกกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรถยนต์ไปขาย จึงเป็นการเบียดบังเอารถยนต์ไปเป็นของตนโดยทุจริต)