ฎีกา พรบ. ล้มละลาย ปี 2543- ปี 2547
- คำพิพากษาฎีกาที่ 40/2543
คดีล้มละลาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว ย่อมเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลยต่อไปตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ประกอบกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายจะต้องดำเนินเป็นการด่วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 และ 153 จำเลยจะมาขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดดังเช่นการขอทุเลาการบังคับคดีแพ่งธรรมดาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 231 หาได้ไม่
ป.วิ.พ. ม. 231 (พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 13, 153 )
- คำพิพากษาฎีกาที่ 150/2543
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเจ้าหนี้มีหนังสือทวงหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ เป็นการดำเนินการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 เมื่อลูกหนี้มิได้ปฏิเสธหนี้ที่ทวงถามภายในกำหนดเวลา 14 วัน ต้องถือว่าลูกหนี้เป็นหนี้กองทรัพย์สินของเจ้าหนี้ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งไปเป็นการเด็ดขาด โดยถึงที่สุดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2529 อันเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดเวลาให้ปฏิเสธหนี้ ต้องถือเสมือนว่าลูกหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2529 กรณีเช่นนี้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการบังคับคดีไว้โดยเฉพาะ ซึ่งมาตรา 153 กำหนดให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 271 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอบังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2529 อันถือเสมือนว่าเป็นวันมีคำพิพากษา มิใช่นับแต่วันที่ศาลออกคำบังคับ
ป.วิ.พ. ม. 271
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 119, 153
- คำพิพากษาฎีกาที่ 315/2543
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนจัดตั้งธนาคาร จ. โดยตกลงให้จำเลยทดรองจ่ายค่าจ้างแก่พนักงานของธนาคารรวมทั้งโจทก์ไปก่อน จำเลยจึงเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้นในธนาคารและเป็นแกนนำในการจัดตั้งธนาคาร จำเลยกับผู้ร่วมทุนทั้งหมดย่อมมีฐานะร่วมเป็นนายจ้างของโจทก์ประกอบกับโครงการจัดตั้งธนาคาร จ.ต้องระงับลงเพราะจำเลยกับบริษัทเงินทุน ซ.หนึ่งในผู้ร่วมทุนถูกทางราชการสั่งให้ระงับการดำเนินการ ธนาคาร จ.จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จำเลยอุทธรณ์ว่า ธนาคาร จ.เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำเลย และมีผู้ร่วมก่อการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย จนปัจจุบันนี้จำเลยก็ยังมิได้เข้าชื่อซื้อหุ้นธนาคาร จ. จะถือว่าจำเลยเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้นมิได้ จำเลยมิได้มีส่วนควบคุมดูแลสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ จำเลยทดรองจ่ายค่าจ้างแทนธนาคาร จ.เท่านั้น จำเลยมิได้เป็นนายจ้างโจทก์ทั้งสิบสาม จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงค่าจ้างค้างจ่าย อายุงาน และค่าจ้างอัตราสุดท้ายไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว เมื่อจำเลยไม่ให้การปฏิเสธก็ต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีอายุงาน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายและค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
แม้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 37 วรรคสอง จะให้สิทธิแก่จำเลยที่จะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้การเป็นหนังสือแล้วก็ต้องเป็นไปตาม ป.วิ.พ. เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งในข้อใดย่อมถือว่าจำเลยให้การรับในข้อนั้นแล้ว
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยรับที่จะจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ตามฟ้องเนื่องจากมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย เท่ากับจำเลยให้การปฏิเสธในประเด็นนี้โดยชัดแจ้งแล้วตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบในประเด็นนี้ประกอบกับสัญญาจ้างงานระบุว่า ในระหว่างที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งธนาคาร จ.เป็นนิติบุคคล โจทก์ทั้งสิบสามจะได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่าง ๆ ของจำเลยในส่วนที่มิได้ระบุไว้ในสัญญานี้ ยกเว้นเรื่องการจ่ายเงินโบนัสจะเป็นไปตามประกาศของโครงการธนาคาร จ.จนกว่าจะมีการจัดตั้งธนาคาร จ.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ตามระเบียบข้อบังคับของธนาคาร จ. แสดงว่า โจทก์จะได้รับเงินโบนัสต่อเมื่อมีการจัดตั้งธนาคาร จ.เสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อไม่อาจจัดตั้งธนาคารดังกล่าวได้ ประกอบกับระเบียบข้อบังคับของจำเลยไม่ได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส
จำเลยอุทธรณ์ว่า พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงินพ.ศ. 2540 บัญญัติให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจัดการชำระบัญชีรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยออกประมูลเพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทุกราย โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เฉลี่ยกับเจ้าหนี้ทุกราย แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยใช้สิทธิไม่สุจริตยื่นฟ้องคดีนี้จึงไม่ชอบ แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้อันเป็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
พ.ร.ก.การปฏิรูปสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเท่านั้นเมื่อคดีนี้ไม่ใช่คดีล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดี
ป.พ.พ. ม. 11, 171
ป.วิ.พ. ม. 84, 177, 225
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ไม่ระบุ
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ม. 26
- คำพิพากษาฎีกาที่ 672/2543
คดีก่อนโจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 144/2532 มาฟ้องขอให้จำเลย ล้มละลาย และศาลฎีกาได้หยิบยกเอาที่ดินที่จำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นขึ้นวินิจฉัยว่า จำเลยมีทรัพย์สินที่โจทก์อาจยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีไม่ต้องด้วยเหตุที่กฎหมายสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงยกฟ้อง ต่อมาโจทก์นำเอา มูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 144/2532 มาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายอีก โดยอ้างว่านำยึดที่ดินดังกล่าวแล้วแต่ติดจำนองและไม่มีผู้เข้าประมูล อีกทั้งหากขายได้ก็จะได้เงินส่วนของจำเลยไม่พอชำระหนี้ ดังนี้ หนี้สินและทรัพย์สินที่โจทก์กล่าวในฟ้องล้วนแต่เป็นหนี้สินและทรัพย์สินที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้แล้วในคดีก่อน จึงเป็นการที่โจทก์รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่วินิจฉัยไว้แล้วในคดีก่อน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ป.วิ.พ. ม. 148
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 153
- คำพิพากษาฎีกาที่ 741/2543
บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 286(2) ซึ่งมีผลทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิขออายัดเงินเช่นว่านั้นเพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาก็โดยมีเจตนารมณ์จะให้ข้าราชการและลูกจ้างของรัฐบาลทั้งที่ยังรับราชการอยู่และพ้นจากราชการไปแล้ว ตลอดจนคู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ของบุคคลเหล่านี้ที่ตามกฎหมายมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์หรือบำนาญได้มีเงินเลี้ยงชีพ การที่นำเงินเช่นว่านั้นมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของบทมาตราดังกล่าว
เงินที่โจทก์นำยึดเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จของจำเลยซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22และมาตรา 121 โดยที่ไม่ปรากฏว่าได้มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปปะปนกับเงินจำนวนอื่นของจำเลยจนแยกไม่ออกว่าเงินส่วนไหนเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จเงินจำนวนดังกล่าวที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดไว้จึงยังคงเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) อันโจทก์จะยึดมาชำระหนี้ไม่ได้อยู่นั่นเอง การอายัดเงินดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาได้ทำให้เงินดังกล่าวแปรสภาพไปจนไม่อาจได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) ไม่
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์สำเนาให้โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ แม้จำเลยมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้นอันถือว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ แต่ศาลชั้นต้นก็หามีอำนาจที่จะสั่งจำหน่ายคดีที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ไว้แล้วได้ไม่ เพราะเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ ส่วนการที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยนั้น ก็เป็นดุลพินิจที่ศาลอุทธรณ์กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่าศาลอุทธรณ์จะต้องจำหน่ายคดี หรือไม่มีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลย
ป.วิ.พ. ม. 132, 235, 286(2)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22, 121
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1232/2543
จำเลยขอเลื่อนคดีในการนัดสืบพยานจำเลยมา 2 ครั้ง แล้ว ซึ่งศาลอนุญาตให้เลื่อนคดีโดยกำชับให้จำเลยเตรียมพยานให้พร้อมสืบ เมื่อถึงวันนัดทนายจำเลยก็ขอเลื่อนคดีอีก เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้และจำเลยมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรมดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ.มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ประกอบพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจึงชอบแล้ว
นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและโจทก์นำพยานเข้าสืบในวันนัดแรกเพียงปากเดียว แล้วเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ที่เหลือในนัดต่อไป การสืบพยานโจทก์จึงยังไม่เสร็จบริบูรณ์ในนัดต่อมาทนายจำเลยมาศาลและได้ถามค้านพยานโจทก์ที่มาเบิกความ เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จทนายจำเลยขอสืบพยานตัวจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาตและนัดสืบพยานจำเลยต่อไป เช่นนี้ จำเลยนำพยานคือตัวจำเลยทั้งสองเข้าเบิกความได้เพราะจำเลยมาศาลเมื่อยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ และถือได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ขาดนัดพิจารณาหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบภายหลังที่ตนมาศาลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 205 วรรคสาม (2) (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 153 ดังนั้น ในวันนัดสืบพยานจำเลย เมื่อจำเลยขอเลื่อนคดีและศาลชั้นต้นเห็นว่าการขอเลื่อนคดีไม่มีเหตุสมควร ศาลชั้นต้นก็ต้องสั่งให้สืบตัวจำเลยในวันนั้น เพราะตัวจำเลยซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานจำเลยได้มาศาล ศาลชั้นต้นจะถือว่าจำเลยไม่ได้เตรียมพยานมาพร้อมสืบตามที่ศาลชั้นต้นกำชับไว้ไม่ได้
ป.วิ.พ. ม. 40, 205 (เดิม)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153 (เดิม)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1233/2543
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าผู้ร้องเป็นหนี้ลูกหนี้ แต่ผู้ร้องปฏิเสธหนี้ ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง การที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ยื่นคำร้องว่าตนได้รับความเสียหายจากคำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับความเห็นของผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา146 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ร้องยังคงเป็นหนี้ลูกหนี้อยู่ คำสั่งนี้เป็นคำสั่งที่วินิจฉัยว่าคำสั่งของผู้คัดค้านไม่ถูกต้อง มีผลเท่ากับผู้คัดค้านมีความเห็นว่าผู้ร้องเป็นหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงต้องปฏิบัติตามโดยต้องแจ้งจำนวนหนี้ยืนยันให้ผู้ร้องทราบ และต้องแจ้งไปด้วยว่าถ้าจะคัดค้านให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายใน 14 วัน เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา 119 วรรคสาม ผู้ร้องย่อมสามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบว่ามิได้เป็นหนี้ได้อีกทั้งในการพิจารณาคดีที่ขอให้แก้คำสั่งของผู้คัดค้านนี้ ผู้ร้องไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความคำสั่งของศาลชั้นต้นในครั้งแรกดังกล่าวจึงไม่ผูกพันผู้ร้องให้ต้องปฏิบัติตาม
ผู้ร้องรับเงิน 38,000,000 บาท ไปจากลูกหนี้ เพื่อดำเนินการซื้อที่ดินให้แก่โครงการพัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพัก แต่ต่อมาภายหลังไม่ได้มีการดำเนินการตามโครงการนี้ ผู้ร้องจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้ลูกหนี้ และในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา193/30 ผู้ร้องนำเช็คลงวันที่ 15 มีนาคม 2528 และวันที่ 16 เมษายน 2528ของลูกหนี้ไปเรียกเก็บเงินได้แล้ว อายุความที่ลูกหนี้จะเรียกเงินคืนเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป อายุความ 10 ปี จึงครบกำหนดวันที่ 15 มีนาคม 2538 และวันที่ 16 เมษายน 2538 ตามลำดับ
ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังผู้ร้องให้ชำระเงินคืนแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ซึ่งผู้คัดค้านมีอำนาจกระทำได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล ถือได้ว่าเป็นการกระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) แล้ว มิใช่ว่าต้องรอให้มีการออกหนังสือยืนยันหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง เสียก่อนเมื่อผู้คัดค้านมีหนังสือทวงถามให้ผู้ร้องชำระเงินและผู้ร้องได้รับแล้วยังไม่เกิน10 ปี คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ
ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เคยมีความเห็นว่าผู้ร้องไม่ได้เป็นหนี้และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแล้ว แต่คำสั่งของผู้คัดค้านยังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของผู้คัดค้านและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้านโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องยังคงเป็นหนี้อยู่อันมีผลให้ผู้คัดค้านต้องมีหนังสือแจ้งจำนวนหนี้ยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง อายุความจึงยังคงสะดุดหยุดลงจะนำ ป.พ.พ.มาตรา 193/17 และ 193/18 มาใช้โดยถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงหาได้ไม่
ป.พ.พ. ม. 193/16, 193/17, 193/18, 193/30
ป.วิ.พ. ม. 145
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 119, 146
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1305/2543
ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ทนายโจทก์ได้รับสำเนาแล้วแถลงคัดค้านว่าทนายจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นสำคัญแห่งคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ การแถลงคัดค้านของโจทก์ดังกล่าวเป็นการคัดค้านเพื่อประกอบดุลพินิจของศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตต่อไปเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากโจทก์ไม่เห็นด้วยโจทก์ต้องโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวให้ปรากฏไว้ จึงจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา153 แต่หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้แล้วไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์โจทก์จะถือเอาคำแถลงคัดค้านของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นการโต้แย้งคำสั่งโดยปริยายหาได้ไม่
ป.วิ.พ. ม. 86, 226(2)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1564/2543
จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจมีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ได้ กรณีเช่นว่านี้โจทก์อาจขอให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์เข้ามาแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตายนั้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 83 และ 87 ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ก่อน การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1เด็ดขาดจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ใหม่
การที่ศาลออกหมายบังคับคดี แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้น เข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (5) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 คงมีเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ หามีน้ำหนักไม่เมื่อข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว คดีจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด ทั้งไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย
ป.วิ.พ. ม. 84
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8(5), 14, 83, 87
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2526/2543
การซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย ผู้ตายจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องหลังจากออกโฉนดที่ดินแล้ว จึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขายหากการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวตกเป็นพ้นวิสัย เนื่องจากที่ดินของผู้ตายที่ออกโฉนดในภายหลังต้องห้ามไม่ให้โอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน ทำให้ผู้ตายหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 219 วรรคหนึ่ง ไม่ต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้อง แต่ผู้ตายหามีสิทธิได้รับชำระราคาที่ดินตอบแทนไม่ตาม ป.พ.พ.มาตรา 372 วรรคหนึ่ง ผู้ตายจึงต้องคืนเงินราคาที่ดินให้แก่ผู้ร้องเมื่อผู้ตายยังมิได้คืนเงิน ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย และมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1713
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย และกรณีมีเหตุจำเป็นประกอบกับผู้ร้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนล้มละลายมาก่อน ทั้งไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และเนื่องจากเงินค่าที่ดินที่ผู้ตายต้องคืนให้แก่ผู้ร้องสืบเนื่องมาจากการซื้อขายที่ดินดังกล่าว การตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงไม่เกินคำขอของผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้แจ้งคำสั่งนี้ให้พนักงานอัยการทราบ
ป.พ.พ. ม. 219, 372, 1711, 1713
ป.วิ.ฑ. ม. 142, 188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2567/2543
++ เรื่อง ค้ำประกัน ++
++ ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 22 (3) ที่ว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ หมายถึง คดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ลูกหนี้มีสิทธิฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องเท่านั้น หากลูกหนี้ไม่มีสิทธิฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องย่อมไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าดำเนินการ จำเลยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. ต่อโจทก์แม้ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. เด็ดขาดและโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องร้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เพราะจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. แต่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลย
++ แม้จำเลยจะทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่เมื่อขณะทำสัญญาค้ำประกันโจทก์ยังไม่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้อายุความยังไม่เริ่มนับ โจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. เป็นคดีล้มละลายเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ บัญญัติไว้โดยเฉพาะมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(2) เป็นโทษแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฤ. และย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วยตามมาตรา 692 และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในภายหลัง ก็ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ +++
ร.ย. 360/43 ไม่ระบุ
คำพิพากษาฎีกาสั่งออก – รอย่อ – แจ้งการอ่านแล้ว ไม่ระบุ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2615/2543
ฟ้องโจทก์คดีแรกเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย คดีมีประเด็นว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่ ส่วนในคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์อ้างว่าจำเลยทำสัญญาแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ โจทก์ได้ออกเงินทดรองชำระค่าหลักทรัพย์ที่จำเลยสั่งซื้อ แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินคืนโจทก์ คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ แม้พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองคดีจะเป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกัน แต่ก็เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน และการวินิจฉัยของศาลในเรื่องทั้งสองดังกล่าวก็ไม่ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินค่าหุ้นและค่านายหน้าที่โจทก์ได้ออกทดรองแทนจำเลยไป เป็นกรณีที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปชดใช้จากตัวการในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ป.พ.พ. ม. 193/30, 816 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. ม. 173 วรรคสอง (1)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2709/2543
โจทก์ได้ทำหนังสือค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ให้แก่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเพื่อเป็นการค้ำประกันสัญญาซื้อขายหัวกระเทียมแห้งระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หากห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์ยินยอมใช้เงินให้แก่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรในวงเงินฉบับละ 1,000,000 บาท รวม 3 ฉบับ เป็นเงิน 3,000,000 บาท การที่โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันดังกล่าว น. และ ว. กับจำเลยต่างทำสัญญายอมรับผิดชอบชำระเงินรวมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในกรณีที่โจทก์ต้องจ่ายเงินแทนห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ไปตามหนังสือค้ำประกัน ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ผิดสัญญาต่อองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรแล้วฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. น. และ ว. เป็นคดีล้มละลาย และศาลได้พิพากษาให้บุคคลทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลายแล้วโดยโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย ในกรณีเจ้าหนี้มีลูกหนี้หลายคนนั้นเจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้คนใด และหากฟ้อง จะฟ้องอย่างไรย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเลือกกระทำได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องลูกหนี้คนอื่น ๆ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. น. และ ว. เป็นคดีล้มละลายโดยไม่จำต้องฟ้องจำเลยด้วย ทั้งการที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในคดีล้มละลายดังกล่าว ย่อมเป็นคุณแก่จำเลยในอันที่จะไม่ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย และแม้ต่อมาลูกหนี้คนอื่น ๆ จะตกเป็นบุคคลล้มละลายก็ตาม จำเลยก็หาได้หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ และจะเสียสิทธิในการไล่เบี้ยเอาจากบุคคลทั้งสามดังกล่าวหรือไม่ เพราะการไล่เบี้ยเป็นเรื่องระหว่างลูกหนี้ด้วยกันเอง กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต
โจทก์นำสำเนาภาพถ่ายของต้นฉบับเอกสารที่สูญหายไปมาสืบว่าถูกต้องกับต้นฉบับ แม้จะไม่ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์นำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมาสืบก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์นำสำเนาหนังสือสัญญาและพยานบุคคลมาสืบ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์นำสำเนาเอกสารและพยานบุคคลมาสืบแล้ว สำเนาหนังสือสัญญาจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2)
โจทก์ชำระเงินให้แก่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามสัญญาที่ทำไว้แก่โจทก์ได้เป็นต้นไป หาใช่ เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ถูกองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเรียกร้องให้ชำระเงินตามภาระที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกัน ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ไม่ เมื่อนับจากวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 ถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นจะให้จำเลยใช้แทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีหรือจะให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องคดีนั้นเป็นดุลพินิจของศาล เมื่อไม่นอกเหนือไปจากบทบัญญัติกฎหมายก็ไม่มีเหตุที่จะต้องแก้ไข
ป.พ.พ. ม. 5, 226, 291
ป.วิ.พ. ม. 55, 93 (2), 161
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2900/2543
กำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิใช่เรื่องอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องอันจะอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ.อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับแก่กำหนดระยะเวลาบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองภายในกำหนด10 ปี และจำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วน เป็นเพียงขั้นตอนในการบังคับคดีเมื่อหนี้ที่ค้างชำระโจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีเสียภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้
ป.วิ.พ. ม. 271
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3242/2543
จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ด.ยอมรับสภาพหนี้ของ ด.ต่อโจทก์ มีผลผูกพันกองมรดกของ ด.เท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้สินตามที่ปรากฏในหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่อาจถือได้ถึงขนาดว่าจำเลยยอมเข้าผูกพันตนเป็นลูกหนี้แทนในลักษณะแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยจึงมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์
แม้จำเลยจะเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแต่ก็รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่มิใช่ทรัพย์มรดก ประกอบกับหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ ด.ก่อขึ้นเอง หาก ด.ยังคงมีชีวิตอยู่ด.อาจถูกฟ้องขอให้ล้มละลายได้ ด.จึงมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายล้มละลายต่อโจทก์และเป็นหน้าที่และความรับผิดโดยเฉพาะของ ด. ไม่ใช่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่จำเลยผู้เป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ด.โจทก์จึงนำหนี้ตามฟ้องมาฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด.ให้ล้มละลายไม่ได้ แต่ชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ด.ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 82
ป.พ.พ. ม. 193/14 (1), 349, 350, 1601
ป.วิ.พ. ม. 84
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14, 82
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3528/2543
โจทก์ฟ้องขอศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ขาดนัดพิจารณาเนื่องจากโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดเวลาซึ่งโจทก์ได้ทราบนัดโดยชอบแล้ว และจำเลยแถลงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อไป กรณีนี้ ป.วิ.พ.มาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 153 บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเช่นว่านี้ หรือมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นนำคดีที่ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีไปแล้วกลับมาทำการพิจารณาต่อไป เป็นการขอให้พิจารณาคดีใหม่นั่นเอง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
ป.วิ.พ. ม. 201 (เดิม)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3687/2543
ในคดีล้มละลาย ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความจริงว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ประเด็นพิพาทในคดีจึงมีว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่
คดีก่อน โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมมาฟ้องขอให้จำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ล.และ ส.ล้มละลาย แต่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงว่า ส.ยังมีที่ดินอีก 11 แปลง ที่โจทก์อาจยึดมาชำระหนี้ได้ คดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ล.และ ส.ไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ จำเลยจึงไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวการที่โจทก์กลับนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายอีกโดยอ้างว่า เมื่อได้ยึดที่ดินของ ส.ที่ปลอดจำนองทั้งหมดอีก 6 แปลงแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ไม่พอชำระหนี้โจทก์ทั้งหมด และจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ก็เป็นเหตุดังที่เคยอ้างและศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วในคดีก่อน เมื่อคู่ความในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาเดียวกัน และเหตุที่อ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวก็เป็นมูลเหตุเช่นเดียวกัน ซึ่งศาลได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 153 แห่ง
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483
ป.วิ.พ. ม. 148
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14, 153 (เดิม)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4300/2543
++ เรื่อง ภาระจำยอม ละเมิด ++
การจัดสรรที่ดิน ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 1หมายความว่า การจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไปไม่ว่าด้วยวิธีใด โดยมิได้มีข้อกำหนดว่าผู้จัดสรรที่ดินที่ทำการจัดสรรที่ดินต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ที่ทำการแบ่งแยกที่ดินที่นำมาจัดสรร แม้เจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้รังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อย แล้วต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.ซื้อที่ดินที่เจ้าของเดิมแบ่งแยกไว้ทั้งหมดนำมาจัดจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ก็หาทำให้การดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวไม่ ส่วนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.จะได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
การดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.เป็นการจัดสรรที่ดิน ทางเท้า ท่อระบายน้ำใต้ทางเท้าและถนนคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นสาธารณูปโภคในที่ดินพิพาทย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่สาธารณูปโภคดังกล่าวก่อสร้างในที่ดินย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินในโครงการทุกแปลงแม้จำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัท ซ.ซึ่งซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ตามที่จำเลยนำสืบอันเป็นทำนองอ้างว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ทำให้ภาระจำยอมนั้นสิ้นไป จำเลยจึงต้องรับภาระตามกฎหมายดังกล่าวด้วย
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่สาธารณูปโภคก่อสร้างในที่ดินเป็นภาระจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 โจทก์ซึ่งซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ในที่ดินจัดสรรดังกล่าวย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์แห่งภาระจำยอม และเมื่อมีการกั้นรั้วสังกะสีบนถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างในที่ดินพิพาทแล้วต่อมาได้สร้างเป็นกำแพงคอนกรีตยาวตลอดแนวทำให้ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าวแคบลง ก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกโจทก์ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องให้ปลดเปลื้องความเสียหายดังกล่าวได้ โดยมิต้องคำนึงว่ายังมีผู้อื่นทำให้โจทก์เสื่อมประโยชน์ในการใช้ภารยทรัพย์และโจทก์ได้ฟ้องบุคคลเหล่านั้นหรือไม่
ป.พ.พ. มาตรา 1477 ได้บัญญัติให้สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องต่อสู้หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แม้จะเกี่ยวด้วยการจัดการสินสมรส โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องคดีโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส
โจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งว่า ที่ดินของโจทก์และที่ดินจำเลยต่างเป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่เพื่อจัดสรรขายแก่บุคคลทั่วไป โดยที่ดินจำเลยดังกล่าวถูกจัดให้เป็นที่ก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรแปลงอื่นที่ดินจำเลยจึงตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรทุกแปลง เมื่อจำเลยสร้างกำแพงคอนกรีตลงในที่ดินแปลงดังกล่าวทำให้ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่สร้างในที่ดินดังกล่าวแคบลง ทำให้ประโยชน์ในการใช้ภารยทรัพย์ของโจทก์ลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีต รั้วไม้ ขนกองหินตลอดจนสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ออกไป เป็นคำฟ้องที่บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172วรรคสอง แล้วส่วนรายละเอียดต่าง ๆ เป็นต้นว่า โจทก์ใช้ถนนเข้าออกอย่างไรตั้งแต่เมื่อใด ถนนดังกล่าวเดิมมีสภาพเป็นอย่างไร มีอยู่กี่สาย ยาวเท่าใด มีทางเท้ากว้างยาวเท่าใด มีอยู่กี่ฝั่งของถนน ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้า น้ำประปามีอยู่ตรงไหนทำไมถึงมี มีได้อย่างไร และที่อ้างว่าถนนเหลือแคบ เป็นถนนตรงไหนนั้น ล้วนเป็นรายละเอียดที่โจทก์แต่ละคนจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ข้อที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับปัญหาฟ้องโจทก์เคลือบคลุมในเรื่องค่าเสียหาย ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายไม่แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ โจทก์มิได้ฎีกาขึ้นมา ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ที่ดินจำเลยตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโจทก์โดยผลกฎหมาย ฉะนั้น ตราบใดที่กำแพงคอนกรีตหรือวัสดุอื่นใดที่จำเลยสร้างหรือทำลงในภารยทรัพย์เป็นเหตุให้ประโยชน์การใช้สอยภารยทรัพย์ของโจทก์ลดไปหรือเสื่อมความสะดวกยังอยู่ โจทก์ย่อมสามารถฟ้องบังคับให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตและขนย้ายวัสดุที่จำเลยสร้างหรือทำลงในภารยทรัพย์นั้นได้
ป.พ.พ. ม. 448, 1298, 1387, 1390, 1391
ป.วิ.พ. ม. 55
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4470/2543
แม้ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอและศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้ บริษัท ส. จะถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของบริษัท ส. โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นการใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โดยผู้ร้องมิได้กล่าวหาว่ามีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้อง จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของผู้ร้องอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติบังคับให้ต้องมีการส่งหมายและสำเนาคำร้องขอให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ส. การที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่ประกาศคำร้องขอในหน้าหนังสือพิมพ์ กับส่งหมายและสำเนาคำร้องขอแก่บริษัท ส. กับบริษัท ง. ผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวก่อนการไต่สวน จึงมิได้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ทั้งการที่ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ก็หาได้เสียสิทธิไม่ เพราะผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก หากคำสั่งศาลชั้นต้นทำให้สิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายของบริษัท ส. ถูกโต้แย้ง ก็ชอบที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการจัดกิจการทรัพย์สินของบริษัท ส. ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 จะฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของบริษัท ส. เป็นคดีอีกเรื่องหนึ่งต่างหากเพื่อพิสูจน์ว่าบริษัท ส. มีสิทธิในที่ดินโฉนดดังกล่าวดีกว่าผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) หรือหากการดำเนินการในชั้นบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีนี้มีผลกระทบต่อสิทธิของบริษัท ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีชื่อโฉนดถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าว บริษัท ส. ก็อยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามคำสั่งนั้น ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับคดีตามคำสั่งนั้น เพื่อพิสูจน์ว่าบริษัท ส. มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวดีกว่าผู้ร้อง โดยไม่จำต้องไปฟ้องผู้ร้องเป็นคดีใหม่ก็ได้ ดังนั้นผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้ของศาลชั้นต้นที่ได้ดำเนินมาแล้วโดยชอบได้
ป.พ.พ. ม. 1382
ป.วิ.พ. ม. 27, 55, 70, 145, 188
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 22, 153
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4731/2543
คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้น เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ การอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/79 ทั้งไม่ปรากฏว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือตามมาตรา 90/79 (4) ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/79
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4937/2543
++ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 208/2525 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่7 กรกฎาคม 2529 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 3,353,698.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 75,067.68 บาท และตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน1,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 73,605.47 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ โจทก์ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยออกขายทอดตลาด จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยว่าไม่ถูกต้องและขอให้ศาลชั้นต้นงดการบังคับคดีไว้ก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2532
++ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีต่อไปโดยอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2534 โจทก์บังคับคดีได้เงินชำระหนี้บางส่วนยังค้างชำระอยู่ 2,843,377.25 บาท รวมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน378,909.15 บาท รวมเป็นเงิน 3,222,286.40 บาท
++
++ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายได้หรือไม่
++ โจทก์ฎีกาว่า มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ โจทก์มีสิทธิบังคับคดีจำเลยทั้งสามได้ภายในสิบปีซึ่งจะครบในเดือนเมษายน 2542เนื่องจากจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีเมื่อวันที่ 16 มกราคม2532 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีต่อไปซึ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2534จะเห็นได้ว่าโจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิบังคับคดีนับแต่วันที่ 16 มกราคม2532 จนถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2534 เป็นเวลา 2 ปี 9 เดือนเศษซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือโดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์ จึงไม่ควรนำระยะเวลาดังกล่าวมานับรวมในระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ดังนั้น โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้ถึงเดือนเมษายน 2542
++
++ศาลฎีกาเห็นว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลาย เป็นมูลหนี้ที่ถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกามีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2529 โจทก์จึงชอบที่จะนำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสามภายในสิบปีนับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2529กล่าวคือ จะต้องฟ้องภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2539 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงและต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม2534 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีต่อไปนั้น ถึงแม้จะมีช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2532 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม2534 เป็นเวลานาน 2 ปี 9 เดือนเศษ ที่โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิบังคับคดีได้เพราะเหตุจากคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนของศาลชั้นต้นก็ตาม กรณีดังกล่าวก็หาเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตาม 193/14 ไม่
++
++ อนึ่ง คดีนี้โจทก์ได้ใช้สิทธิในการบังคับคดีแล้ว เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งปรากฏว่าจำเลยทั้งสามยังค้างชำระหนี้โจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงทราบแล้วว่าโจทก์สามารถฟ้องคดีล้มละลายแก่จำเลยทั้งสามนับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 จนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม2539 ซึ่งเป็นเวลานานหลายเดือนเพียงพอที่โจทก์ฟ้องคดีล้มละลายได้แต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 จึงพ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นมูลที่จะนำมาฟ้องคดีล้มละลายขาดอายุความแล้ว จึงเป็นเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ++
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5596/2543
การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเป็นการนำเอาสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่มาใช้บังคับแก่ลูกหนี้ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ.บรรพ 1 ลักษณะ 6
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2529 ให้ลูกหนี้กับพวกร่วมกันชำระเงินแก่เจ้าหนี้ สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ.มาตรา 193/32 เจ้าหนี้นำเอาหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องได้ และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามป.พ.พ.มาตรา 193/14 (2) และทำให้ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความยังสะดุดหยุดลงจึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 (1)กรณีนี้มิใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา จึงนำเอาระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 271 มาปรับใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้สำหรับมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงใด แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน
เจ้าหนี้ฎีกาเฉพาะมูลหนี้ตามคำพิพากษา จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลฎีกาเพียง 25 บาท ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 (2) วรรคท้าย
ป.พ.พ. ม. 193/14(2), 193/15, 193/32
ป.วิ.พ. ม. 271
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94(1), 179(2)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6440/2543
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 บัญญัติว่า นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา 30 ได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้ ซึ่งคำว่า หนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าว ย่อมหมายถึงหนี้ทุกประเภทโดยไม่ต้องคำนึงถึงเจ้าหนี้ว่าเป็นผู้ใด และเข้ามาขอรับชำระหนี้ตามพระราชกำหนดนี้ได้โดยวิธีใด ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการจึงตกอยู่ในบังคับของบทกฎหมายดังกล่าวด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541
แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
พ.ร.ก.ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเท่านั้น เมื่อคดีนี้เป็นคดีแรงงานไม่ใช่คดีล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีและมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ป.วิ.พ. ม. 225
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ม. 31
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ม. 5, 26, 30
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6829/2543
แม้นางสาวสุพรรณีกับจำเลย และผู้ค้ำประกันคนอื่น ๆ จะร่วมกันค้ำประกันหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คของบริษัทถุงกระดาษไทย จำกัด ด้วยกัน และโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากนางสาวสุพรรณีบางส่วน กระทั่งโจทก์ปลดหนี้ให้โดยได้ถอนฟ้องนางสาวสุพรรณีในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย การที่โจทก์ได้นำหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 23817/2532 ที่พิพากษาตามสัญญายอม โดยนางสาวสุพรรณีมิได้ร่วมเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย มาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเป็นคดีนี้ นางสาวสุพรรณีจึงมิได้เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้อง แม้โจทก์จะปลดหนี้ให้แก่นางสาวสุพรรณีก็ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมกับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 และมาตรา 293
ป.พ.พ. ม. 293, 340
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 9
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6830/2543
ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ครบถ้วนตามประเด็นแห่งคดีของโจทก์เป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 141 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 153 แต่โจทก์ได้ยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้อฎีกาขึ้นมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยตามปัญหาข้อนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่าลักษณะของจำเลยต้องด้วยกฎเกณฑ์ตามกฎหมายที่ศาลจะพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายได้แล้ว แต่กฎหมายกำหนดให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเสียก่อน เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย หากไม่มีการประนอมหนี้หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ศาลต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา 61 ทันทีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงเป็นคำสั่งชี้ขาดคดีมีผลเป็นคำพิพากษา ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้พิจารณาใหม่ภายหลังเมื่อมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จึงมิใช่คำสั่งในระหว่างพิจารณาและไม่ต้องห้ามอุทธรณ์
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอคัดและถ่ายเอกสารคำเบิกความพยานโจทก์ รายงานกระบวนพิจารณารายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พร้อมเอกสารประกอบรายงาน คำสั่งให้พิจารณาใหม่เพื่อใช้ประกอบการเขียนอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว แต่จนกระทั่งก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ 1 วัน และเป็นวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นก็ยังไม่สามารถจัดการให้โจทก์ได้รับสำเนาเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือการบังคับของโจทก์ ถือเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 23 ประกอบพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153
เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ถึงวันตามที่โจทก์ขอ อุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในวันดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดที่ศาลฎีกาขยายระยะเวลาให้ ชอบที่จะรับฎีกาโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป
อุทธรณ์ในส่วนที่เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ซึ่งเป็นคำสั่งที่แยกได้ต่างหากจากคำสั่งระหว่างพิจารณาในการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายและไม่ได้ขอขยายระยะเวลาไว้ เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่อาจรับไว้ดำเนินการได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6934/2543
การเพิกถอนการโอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องร้องขอเพิกถอน การโอนได้ในกรณีที่ลูกหนี้จำเลยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ซึ่งมีความหมายว่าการโอนทรัพย์สินนั้นเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว
จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 น้องชายของผู้คัดค้านได้มาติดต่อขอให้ผู้คัดค้านช่วยเหลือโดยขอให้ผู้คัดค้านชำระหนี้แทน ผู้คัดค้านจึงชำระหนี้แทนไป 3 ครั้ง แม้จะไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินก็ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นตัวแทนในการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด แทนจำเลยที่ 1 แล้ว ผู้คัดค้านย่อมฟ้องเรียกเงินที่ผู้คัดค้านชำระหนี้แทนจากจำเลยที่ 1 ได้ ในมูลหนี้ตามสัญญา ตัวแทนแม้การเป็นตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม จำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านจึงมีนิติสัมพันธ์กันมาก่อนแล้ว อันเป็นการก่อสิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ต่อไป ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 ประกอบมาตรา 1087 จึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านหลังจากที่มีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านหักเงินที่ผู้คัดค้านชำระแทนไป และจำเลยที่ 2 รับเงินส่วนที่เหลือไป และเนื่องจากผู้ร้องรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้เพียง 10,394 บาท ขณะที่จำนวนหนี้ทั้งหมดที่ศาลมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 เป็นเงินถึง 29,949,426.04 บาท การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีไปโอนชำระหนี้ แก่ผู้คัดค้านโดยเฉพาะ จึงเป็นการให้เปรียบแก่ผู้คัดค้านและทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบเพราะเจ้าหนี้อื่นไม่มีโอกาส ได้รับชำระหนี้โดยเฉลี่ยจากทรัพย์สินที่โอนไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องจึงมีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการโอน ทรัพย์สินรายนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 โดยไม่ต้องพิจารณาว่าผู้รับโอนได้รับโอนโดยสุจริตและ มีค่าตอบแทนหรือไม่
ป.พ.พ. ม. 1077, 1087
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 114, 115
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6982/2543
คำฟ้องในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องเป็นไปตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 6 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 172 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับ โจทก์ในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่จำต้องบรรยายฟ้องให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 วรรคสอง ดังนี้หากโจทก์บรรยายฟ้องให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับก็เพียงพอที่จะให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว หากจำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่เข้าใจคำฟ้องในส่วนใด ศาลอาจสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องโดยอธิบายรายละเอียดในส่วนนั้นให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ และจำเลยมีสิทธิแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การในส่วนคำฟ้องที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้ ตามข้อกำหนดดังกล่าวข้อ 6 วรรคสอง แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของ ข้อกำหนดดังกล่าวว่าประสงค์จะให้คู่ความแพ้ชนะกันในเนื้อหาแห่งคดี ไม่ถือเอาข้อบกพร่องในการบรรยายฟ้อง อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความมาเป็นข้อแพ้ชนะในคดี ดังนี้ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้สั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง แสดงว่าศาลเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของ ป.รัษฎากรกำหนดในข้อ 7 ว่า กรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคล คนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท และกรณี (ค) มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ คิดตามรายตัวบุคคลที่ รับมอบคนละ 30 บาท
โจทก์มอบอำนาจให้ ส. ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายหรือ บ. ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของธนาคารโจทก์เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ในการดำเนินคดี แก้ต่างคดีของโจทก์ ฟ้องแย้ง ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความรวมทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีแรงงาน คดีภาษีอากร คดีล้มละลาย ในศาลทั่วราชอาณาจักร ต่อบุคคล นิติบุคคล กลุ่มคณะบุคคลใด ๆ ที่ได้โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ต่อโจทก์ และกระทำการอื่นตามที่ระบุไว้ในข้อ 2 ถึง 8 โดยให้ผู้รับมอบอำนาจคนใด คนหนึ่งมีอำนาจกระทำการดังกล่าวแทนโจทก์ในนามโจทก์ได้ การมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้ต่างคนกระทำกิจการแยกกันได้ ค่าอากรแสตมป์จึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่ รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7(ค) ท้าย ป.รัษฎากรดังกล่าว เมื่อตามหนังสือ มอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจ 2 คน คนใดคนหนึ่งทำการฟ้องคดีแพ่งและกระทำการอื่น ๆ แทนโจทก์ได้ โจทก์จึงต้องปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท รวมจำนวน 60 บาท
โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย แม้โจทก์ได้ไป เสียอากรแสตมป์และเงินเพิ่มสำหรับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเพื่อให้มีผลเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 117 ก็ตาม แต่โจทก์ได้ดำเนินการดังกล่าวภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิพากษาคดีไปแล้ว โจทก์มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์เสียก่อนหรือในขณะที่ได้นำหนังสือ มอบอำนาจนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสี่ก็ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ปิดอากรแสตมป์ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจจึงเป็น ตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐาน หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในป.รัษฎากร มาตรา 118 กรณีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจ ส. ให้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
ป.วิ.พ. ม. 47, 172
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญา ม. 26, 30
ป. รัษฎากร ม. 117, 118
- คำพิพากษาฎีกาที่ 7703/2543
แม้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ แต่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายตาม มาตรา 135 ได้
เหตุต่าง ๆ ที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ล้วนแต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งเป็นข้อที่ศาลชั้นต้นจะพึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 คือถ้ามีเหตุดังกล่าวที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายศาลก็จะพิพากษายกฟ้อง แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกเอาเหตุดังกล่าวมาขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายตาม มาตรา 135 (2) ได้อีก
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14, 91, 135 (2)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 8274/2543
เจ้าหนี้ทำงานกับลูกหนี้มานานจนกระทั่งเป็นกรรมการคนหนึ่งและเป็นกรรมการผู้จัดการของลูกหนี้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้ย่อมต้องทราบถึงฐานะและกิจการของลูกหนี้ได้ว่าตกอยู่ในสภาพเช่นไร ฉะนั้น เมื่อกิจการของลูกหนี้อยู่ในภาวะขาดทุนอีกทั้งลูกหนี้ยังค้างชำระค่าจ้างพนักงานและเจ้าหนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2536 เป็นต้นไป เจ้าหนี้ก็ยังคงให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินโดยลูกหนี้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้จนถึงปี 2539 เป็นเงินทั้งสิ้น 7,900,000 บาท แสดงว่า เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวโดยรู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 (2)
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 94 (2)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 8275/2543
++ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ในปัญหาข้อกฎหมายว่า สำเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่
++ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ และทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้นว่า สำเนาเอกสารดังกล่าวของเจ้าหนี้รับฟังไม่ได้ มีผลเท่ากับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โต้แย้งคัดค้านการนำสำเนาเอกสารมาสืบแล้ว จะถือว่าคู่ความที่เกี่ยวข้องตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (1) หาได้ไม่
++ และการที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้น เป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐเป็นผู้รับและวินิจฉัยข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้เพื่อเสนอต่อศาลชั้นต้นหาใช่กระทำในฐานะที่เป็นคู่ความในคดีไม่นั้น
++ เห็นว่า เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการทรัพย์สินหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 ฉะนั้นเมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจที่จะตรวจและสอบสวนแล้วทำความเห็นเสนอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 105ถึงมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
++ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อสู้คดีว่าหนี้ของผู้ขอรับชำระหนี้มีเพียงสำเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้นจะรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมไม่ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงทำได้ตามลำพังโดยไม่ต้องให้ลูกหนี้รู้เห็นยินยอมด้วย
++ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้นว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวของเจ้าหนี้รับฟังไม่ได้ จึงมีผลเท่ากับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โต้แย้งคัดค้านการนำสำเนาเอกสารมาสืบแล้ว จึงไม่อาจรับฟังสำเนาเอกสารได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 (เดิม)
++ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94 (1)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 8361/2543
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 และมาตรา 48 โดยฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากสำนวน อันเป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเห็นว่าจำเลยไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ จึงให้คณะกรรมการเดิมของจำเลยพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นคณะกรรมการของจำเลยเพื่อดำเนินการแทนจำเลยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 แสดงว่าจำเลยมิได้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู และโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีตามมาตรา 26 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าเจ้าหนี้ผู้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการไม่ได้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (3) และมาตรา 16 (3) แห่ง พ.ร.ก.ดังกล่าวก็หาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ป.พ.พ. ม. 5
ป.วิ.พ. ม. 55
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8, 54
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 ม. 7, 16, 26, 30
- คำพิพากษาฎีกาที่ 8/2544
การที่ผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จากเช็คตามฟ้องจากกองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายอย่างเต็มจำนวน มิได้หมายความว่า ผู้เสียหายได้รับชำระหนี้ในเช็คตามฟ้องแล้ว จึงไม่อาจถือได้ว่าหนี้ตามเช็คได้ระงับและสิ้นผลผูกพันไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คดีจึงยังไม่เลิกกัน ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7
พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ม. 7
- คำพิพากษาฎีกาที่ 581/2544
ที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า หนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ยังไม่ขาดอายุความ เพราะก่อนยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ได้นำหนี้ตามคำพิพากษาไปฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ลูกหนี้ล้มละลายภายในอายุความ และในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถึงการฟ้องคดีแล้ว แต่ปรากฏในสำนวนสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า พยานเจ้าหนี้ให้การและเสนอพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนแต่เพียงเรื่องมูลหนี้และจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอรับชำระเท่านั้น มิได้ให้การหรือแจ้งถึงเหตุที่หนี้ตามคำพิพากษายังไม่ขาดอายุความ ทั้งที่เจ้าหนี้มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์เพื่อแสดงต่อ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระตามคำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 (1) ดังนั้น ข้ออ้างของเจ้าหนี้จึงนอกจากจะระงับฟังไม่ได้แล้ว ยังเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้น โต้เถียงในชั้นฎีกา มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ ฎีกาของเจ้าหนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ป.วิ.พ. ม. 249
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 94 (1), 153
- คำพิพากษาฎีกาที่ 586/2544
การที่จำเลยได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี 2526 และ 2527 ถือว่า เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยแล้ว เป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี เพราะประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรค้างได้โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี จึงเป็นเหตุให้ อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อเจ้าพนักงานประเมินกำหนดให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินโดยจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2530 อายุความ จึงเริ่มต้นนับใหม่เมื่อพ้น 30 วัน นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2530 ซึ่งอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป
การยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ ให้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. โดยอนุโลมจึงต้องใช้อำนาจภายในกำหนดเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 นับแต่วันที่อาจใช้อำนาจตามมาตรานี้ได้ แต่กำหนดเวลาในการบังคับคดีตามมาตรา 271 มิใช่อายุความอันจะอยู่ในบังคับแห่ง บทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. จึงไม่อาจนำบทบัญญัติอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้ การที่โจทก์มี คำสั่งอายัดเงินมัดจำขวดและลังที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากบริษัท บ. และบริษัทดังกล่าวส่งเงินอายัดให้โจทก์เป็นเพียง ขั้นตอนในการบังคับคดีเท่านั้น ไม่ใช่การกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี ไม่ทำให้อายุความ สะดุดหยุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกิน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิ ที่จะบังคับคดีแก่จำเลย จึงไม่อาจนำหนี้มาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้
ประมวลรัษฎากร ม. 12
ป.พ.พ. ม. 193/14 (5)
ป.วิ.พ. ม. 271
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 14
- คำพิพากษาฎีกาที่ 663/2544
ผู้ร้องยืนยันในคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดว่า ผู้ร้องอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และไม่เคยแจ้งการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ใหม่ไปที่อื่นให้ศาลชั้นต้นทราบเลย แสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาถือเอาที่อยู่ที่กรุงเทพมหานครเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการดำเนินคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 42 แม้ในขณะปิดหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้ร้องได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่อื่นแล้ว ก็ต้องถือว่าผู้ร้องยังมีภูมิลำเนาเฉพาะการอยู่ที่กรุงเทพมหานครและได้ทราบกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชอบแล้ว เมื่อผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัด ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลับหลังผู้ร้องได้ กรณีไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ฎีกาเนฯ ตอน 2/2544)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 761/2544
สิทธิในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เป็นสิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีคือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นที่จะร้องขอให้บังคับคดี จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้ออ้างว่าโจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายเพราะสามารถเข้าสวมสิทธิแทนจำเลยในการบังคับคดีเอาจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีอื่นไม่ได้
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยก่อนวันที่ พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับและคดียังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาล จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่เป็นกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น ไม่อาจนำ หลักเกณฑ์จำนวนหนี้ขั้นต่ำที่อาจฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาเปรียบเทียบในคดีนี้ได้
ป.วิ.พ. ม. 271
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 14
พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ม. 34
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1672/2544
คดีนี้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ทั้งสามและตั้งผู้ทำแผน ต่อมาผู้ทำแผนยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขออนุญาตเบิกจ่ายเงินของลูกหนี้ทั้งสามเพื่อชำระค่าวิชาชีพและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผน ศาลแพ่งมีคำสั่งอนุญาต ต่อมามีการโอนสำนวนไปยังศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของศาลแพ่ง ผู้ทำแผนจึงยื่นคำร้องขอเบิกจ่ายค่าวิชาชีพและค่าใช้จ่ายส่วนที่ค้างต่อศาลล้มละลายกลาง ศาลล้มละลายกลางสั่งยกคำร้อง ผู้ทำแผนจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งโดยขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้ผู้ทำแผนเบิกจ่ายค่าวิชาชีพและค่าใช้จ่ายจากบัญชีของลูกหนี้ทั้งสามได้ เมื่อปรากฏว่าภายหลังจากที่ผู้ทำแผนยื่นอุทธรณ์ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ทั้งสามโดยกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้กำหนดค่าวิชาชีพและค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีล้มละลายหรือคดีฟื้นฟูกิจการโดยหักจากเงินในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดค่าวิชาชีพและค่าใช้จ่ายให้ผู้ทำแผนแล้วโดยผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งคัดค้านแต่ประการใด เท่ากับว่าผู้ทำแผนสามารถเบิกจ่ายค่าวิชาชีพและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้อยู่แล้วตามคำสั่งศาลดังกล่าว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ทำแผนอีกต่อไป ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ป.วิ.พ. ม. 132
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ม. 14
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1736/2544
ในชั้นตรวจคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 104 แม้จะไม่มีผู้คัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นหรือเป็นผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ก็มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า มูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริงและลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว
เจ้าหนี้อ้างว่า บริษัท ผ. เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันและตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยลูกหนี้ทั้งสองเป็นผู้ค้ำประกัน แต่เจ้าหนี้ไม่มีบัญชีกระแสรายวันและตั๋วสัญญาใช้เงินอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ ทั้งไม่มีหนังสือสัญญาค้ำประกันของลูกหนี้ ทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจสอบสวนถึงมูลหนี้แห่งคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่เจ้าหนี้มีเพียงสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้เท่านั้น ยังไม่เพียงพอที่ให้เชื่อได้ว่าลูกหนี้ทั้งสองเป็นหนี้ตามจำนวนที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้และเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามพ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 94
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา 1 ฉบับ ในการอุทธรณ์หรือฎีกาจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงศาลละ 25 บาท เท่านั้นตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 179 (2)
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ม. 94, 104, 107 (1), 179 (2)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2221/2544
การที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัท ฟ. แล้วโจทก์ร่วมนำเช็คพิพาทในคดีนี้ที่จำเลยลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทดังกล่าวสั่งจ่ายไปยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนเงินในเช็คที่พิพาทเช่นนี้จะถือว่า หนี้ตามเช็คที่พิพาทในคดีนี้ได้สิ้นผลผูกพันไปก่อน ที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลอุทธรณ์ จำเลยย่อมยกขึ้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์ร่วมยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามเช็คพิพาทที่โจทก์ร่วมนำไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนเงินในเช็คพิพาทก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้สิ้นผลผูกพันไปแล้วก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงยังไม่เลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7
ป.วิ.อ. ม. 39, 195 วรรคสอง, 225
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 105, 106, 107
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ม. 7
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2230/2544
ปัญหาว่าโจทก์ยังมีสิทธิบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวหรือไม่ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นโต้เถียงโดยตรง แต่เมื่อในการพิจารณาคดีล้มละลายนั้นการที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้บุคคลใดล้มละลายย่อมมีผลกระทบถึงความสามารถสถานะ และทรัพย์สินของบุคคลนั้นทั้งใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14ให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง กรณีจึงถือว่า พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวได้
ในมูลหนี้ภาษีตามฟ้อง เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้าให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินถือว่าเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากรผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรโดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึด ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 และมาตรา 30ในการบังคับชำระหนี้ โจทก์ต้องดำเนินการภายใน 10 ปี นับแต่วันที่เกิดสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าว ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ แม้ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินซึ่งลงวันที่ 30 มิถุนายน 2530 ตามในวันใด แต่ในวันที่ 31 สิงหาคม 2530 จำเลยติดต่อขอผ่อนชำระหนี้ดังกล่าว แสดงว่าจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินก่อนหรือภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2530 เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน โจทก์สามารถเริ่มต้นดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระหนี้ภาษีอากรค้างได้เมื่อล่วงเลยระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันดังกล่าวการที่โจทก์นำหนี้ภาษีอากรค้างมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่27 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นการล่วงเลยระยะเวลาที่โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้แล้วส่วนการที่จำเลยได้ขอผ่อนชำระหนี้และชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนภายในกำหนดเวลาที่โจทก์ยังมีสิทธิบังคับชำระหนี้นั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนในการบังคับชำระหนี้และวิธีการในการชำระหนี้เท่านั้น มิได้มีผลทำให้ระยะเวลาในการบังคับชำระหนี้ของโจทก์ขยายออกไปแต่อย่างใด เมื่อหนี้ภาษีอากรค้างที่โจทก์นำมาฟ้องนั้น โจทก์หมดสิทธิในการบังคับชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้
ประมวลรัษฎากร ม. 12, 30
ป.วิ.พ. ม. 142(5)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14, 153
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2459/2544
โจทก์ไม่มีสิทธินำหนี้ค่าภาษีการค้าซึ่งยังมิได้มีการประเมินและยังไม่ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบโดยชอบมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ เนื่องจากเป็นกรณีที่จำเลยไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตามมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เพราะหนี้ค่าภาษีการค้าตามฟ้องอาจถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้
พ.ร.บ. ล้มละลายฯ ม. 9
คำพิพากษาฎีกาย่อสำนักงานศาลยุติธรรม ไม่ระบุ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2651/2544
การฟ้องให้ล้มละลายต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 7 โดยลูกหนี้ต้องมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ล้มละลายหรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น แม้ตามอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินเดียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ข้อ 5 อนุ 4 ที่โจทกอ้างจะถือได้ว่าจำเลยมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย แต่คำว่า “สถานประกอบการถาวร” ตามอนุสัญญาดังกล่าว ข้อ 5 อนุ 1 และ 2 หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน และหมายความรวมถึง (ก) สถานจัดการ (ข) สาขาสำนักงาน (ง) โรงงาน (จ) โรงช่าง…และตามอนุ 4 (ค) หมายถึง บุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับคำสั่งซื้อซึ่งกระทำในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับลักษณะของการดำเนินการในการประกอบธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรแก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย ตาม พ.ร.ฏ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ไม่เกี่ยวกับระยะเวลาในการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด แต่เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพราะใบอนุญาตสิ้นอายุไปแล้ว จึงไม่มีการประกอบธุรกิจ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ส่วนการประกอบธุรกิจในประเทศนั้น เมื่อใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสิ้นอายุแล้ว จำเลยไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปอีกได้ ทั้งจำเลยปิดการประกอบธุรกิจไปแล้ว และโจทก์เพิ่งฟ้องคดีหลังจากจำเลยยื่นอุทธรณ์การประเมินเกือบ 10 ปี จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรในขณะที่มีการขอให้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 7
อนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินเดียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนนี้เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ ข้อ 5
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2762/2544
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และมีคำสั่งให้รับเงิน 8,150,000 บาท จากผู้ร้อง กับดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อทรัพย์ต่อไป ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ หากศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยจะมีผลเพียงให้ผู้ร้องวางเงินไว้ร้อยละห้าของราคาทรัพย์ที่ซื้อโดยวางเพิ่มอีกเป็นเงิน 8,150,000 บาท และผู้ร้องจะได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการวางเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 173,850,000 บาท ไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งถึงที่สุดเกี่ยวกับคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด คำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของผู้ร้องดังกล่าวไม่ได้มีผลเป็นการขอบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการขายและโอนที่ดินที่ผู้ร้องซื้อได้จากการขายทอดตลาดให้ผู้ร้อง ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 วรรคท้าย ไม่ใช่เสียตามทุนทรัพย์
ป.วิ.พ. ม. 132 (1), 174 (2), 246
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 179 วรรคท้าย
ตางราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ 2 (ก) (ค่าขึ้นศาล)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2867/2544
หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของโจทก์เป็นเอกสารมหาชนซึ่งเจ้าพนักงานจัดทำขึ้นและต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร โจทก์จึงไม่จำต้องนำพยานบุคคลมาเบิกความรับรองเอกสารดังกล่าวอีก
โจทก์จึงไม่จำต้องนำพยานคำพิพากษาตามยอมคดีหมายเลขแดงที่ 15475/2537 ของศาลแพ่ง บัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินในการบังคับคดีทรัพย์สินจำเลยของกรมบังคับคดี รายละเอียดการคำนวณยอดหนี้ของจำเลย และคำขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน แม้โจทก์จะไม่ได้นำพยานที่จัดทำเอกสารดังกล่าวมาสืบ แต่ก็ได้ทำเป็นสำเนาเอกสารท้ายฟ้องและอ้างไว้ในบัญชีระบุพยาน เมื่อโจทก์นำสืบ จำเลยก็ไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับ จึงเป็นพยานหลักฐานที่ศาลรับพิจารณาได้ว่ามีข้อเท็จจริงอยู่อย่างไร โดยไม่ต้องมีพยานที่จัดทำเอกสารมาเบิกความรับรองหรือชี้แจงประกอบ
โจทก์ได้ตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว ซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาแล้ว ไม่พบชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ถือได้ว่าโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีสินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.
ป.วิ.พ. เอกสารมหาชน ม. 127
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ม. 8(5)
คำพิพากษาฎีกาย่อสำนักงานศาลยุติธรรม ไม่ระบุ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3017/2544
กำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 จะนำมาใช้กับกรณีที่เจ้าหนี้นำมุลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายแล้วขอรับชำระหนี้ไม่ได้ เพราะมิใช่เรื่องร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาคดีแพ่ง แต่เป็นเรื่องการนำเอาสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่มาใช้บังคับแก่ลูกหนี้ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี
เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ให้เป็นบุคคลล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาไม่เกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี ย่อมเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา193/14 (2) ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในระหว่างเวลาที่อายุความสะดุดหยุดลง เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งได้ ไม่ต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 94 (1)
ป.พ.พ. อายุความสะดุดหยุดลง อายุความ ม. 193/14, 193/32
ป.วิ.พ. บังคับคดี ม. 271
พ.ร.บ.ล้มละลาย ม. 94 (1)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5272/2544
ในชั้นพิจารณาคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายจำเลยอุทธรณ์ 2 ประการ คือไม่มีเหตุที่จะถือว่าจำเลยทุจริตดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประการหนึ่ง และคดีมีเหตุไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายเนื่องจากมีการแก้ไขกฎหมายล้มละลายโดย พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 กำหนดจำนวนหนี้ขั้นต่ำที่จะฟ้องคดีล้มละลายไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท และในคดีมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เพียง 4 ราย ขอให้ศาลอุทธรณ์หยิบยกมาตรา 14 ขึ้นพิจารณาอีกประการหนึ่ง แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในปัญหาที่สองว่าจำเลยจะสามารถขอให้ศาลยกเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มลายตามมาตรา 14 มาพิจารณาในชั้นขอประนอมหนี้ได้หรือไม่ อย่างไร จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา 243 (1) และมาตรา 247 ประกอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 แต่เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วสมดั่งเจตนารมณ์ของกฎหมายล้มละลาย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนี้ไปเสียทีเดียว
ในการพิจารณาคดีล้มละลายนั้น กฎหมายได้กำหนดลำดับขั้นตอนไว้อย่างชัดเจนแล้วกล่าวคือ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 14 ลูกหนี้มีสิทธิทำคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายตามมาตรา 45 เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอต่อศาลให้สั่งว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาในชั้นนี้ ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย หากมีข้อเท็จจริงตามมาตรา 53 และมาตรา 54 ในชั้นพิจารณาว่าจะเห็นชอบกับการประนอมหนี้ก่อน ล้มละลายหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาเพียงแต่ว่ามีเหตุที่ห้ามมิให้ศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่เท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำการทุจริต จำเลยมิได้ฎีกาจึงเป็นอันยุติไป ส่วนที่ว่าจะมีเหตุไม่ควรให้จำเลย ล้มละลายหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องยกขึ้นว่ากล่าวก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด คดีส่วนดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้วจนถึงขั้นพิจารณาคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย จึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนที่จะหยิบยกเหตุดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย
ป.วิ.พ. ม. 243 (1), 247
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 14, 45, 53, 54, 61, 153
พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ไม่ระบุ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5273/2544
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยแล้ว อำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายย่อมเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 ผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงบุคคลภายนอก ที่ฟ้องคดีล้มละลายเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิม จึงไม่มีหน้าที่และความรับผิดใด ๆ เป็นส่วนตัวโดยตรงตามกฎหมาย ล้มละลายในเรื่องค่าธรรมเนียมในคดี การที่ผู้ร้องเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือผู้คัดค้าน(เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์)ในการรวบรวมทรัพย์สินโดยปราศจากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นชอบด้วยกับ ข้อเสนอของผู้ร้องเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ใช้ดุลพินิจดำเนินการยึดทรัพย์สินเองโดยเชื่อตาม คำเสนอแนะของผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจจะอ้างอิงอาศัย พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาออก คำสั่งให้ผู้ร้องต้องนำค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายมาชำระ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 22, 179
ตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. ค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย ไม่ระบุ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5314/2544
มูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนดอายุความ 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001
เจ้าหนี้นำหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายก่อนที่ตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับจะครบกำหนดอายุความ เป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องจึงมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 (เดิม) แม้ต่อมาเจ้าหนี้ได้ถอนฟ้องคดีล้มละลายดังกล่าวอันเป็นผลให้ไม่นับว่าเป็นเหตุให้อายุความ สะดุดหยุดลงตามมาตรา 174 (เดิม) ก็ตาม แต่เมื่อกำหนดอายุความตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้ล่วงพ้นไปแล้วลูกหนี้ ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ยินยอมรับผิดชดใช้หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและหนี้อื่น ๆ ต่อเจ้าหนี้ ถือได้ว่าลูกหนี้ได้ละเสียซึ่งอายุความที่ครบบริบูรณ์แล้ว และเริ่มนับอายุความใหม่ต่อไปตั้งแต่วันรับสภาพหนี้
ป.พ.พ. ม. 173 เดิม, 174 (เดิม), 193/17 วรรคแรก, 193/15, 1001
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6287/2544
พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 112 (1) และเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่อง การจัดเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมบางประเภท (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การค้าซึ่งสถานการค้าอยู่ในเขตเทศบาล ให้ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่เสียภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาลอีกในอัตราร้อยละ 10 ของอัตราภาษีการค้าตาม ป.รัษฎากร ความมุ่งหมายของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้สถานการค้าในเขตเทศบาลกรุงเทพหรือกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ต้องชำระภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาล
ลูกหนี้ขายที่ดินไป 1 แปลง โดยไม่ปรากฏว่าลูกหนี้มีสถานการค้า จึงต้องถือว่าบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของลูกหนี้เป็นสถานการค้าตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77 (เดิม) เมื่อสถานการค้าดังกล่าวอยู่ในเขตเทศบาลนครกรุงเทพหรือกรุงเทพมหานคร ลูกหนี้จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีส่วนท้องถิ่น
ภาษีส่วนท้องถิ่นที่คำนวณมาจากเงินเพิ่มภาษีอากรการค้าจำนวน 80,052.50 บาท ในอัตราร้อยละ 10 เมื่อเงินเพิ่มจำนวน 35,145 บาท ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 3,514.50 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130 (6) แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนเงินเพิ่มที่เหลือจำนวน 44,907.50 บาท ถึงกำหนดชำระเกินกว่า 6 เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 4,490.75 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะต้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130 (8) แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
ป.รัษฎากร ม. 56, 77 เดิม, 78
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 130 (8) เดิม
พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ม. 112 (1)
เทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่อง การจัดเก็บภาษีอากร และค่าธรรมเนียมบางประเภท (ฉบับที่ 2) ไม่ระบุ
พ.ศ. 2497 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6722/2544
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 และ 96 แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตามมาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น ดังนี้ กำหนดเวลาให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 จึงไม่มี และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย วิธีที่สอง โดยเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายภายใต้เงื่อนไขมาตรา 96 ซึ่งมีอยู่ 4 ประการในประการใดประการหนึ่ง
ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินมายังไม่พอชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ และการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 ต้องยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95 และ 96 แยกให้เห็นข้อแตกต่างในวิธีการขอรับชำระหนี้และข้อแตกต่างในผลของการใช้สิทธิมาตราใดมาตราหนึ่ง เจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น เมื่อผู้ร้องเลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) แล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เพียงแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าจะถือเอาสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็น หลักประกันและจะต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าตรวจดูทรัพย์สินเท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งว่าให้ได้รับชำระหนี้หรือไม่ ดังนั้น คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านในคดีนี้ที่เคยอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 จึงไม่ถูกต้องแม้จะกลับมามีคำสั่งใหม่เป็นว่า ไม่อนุญาตในภายหลังซึ่งล่วงเลยมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี คำสั่งของผู้คัดค้านในครั้งก่อนและในครั้งหลังจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสิทธิของผู้ร้องตามกฎหมาย เพราะไม่ทำให้ผู้ร้องได้สิทธิหรือเสียสิทธิ เมื่อผู้ร้องได้ใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายตามมาตรา 96 แล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6911/2544
การขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 เป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา
ตามหนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องระบุไว้ชัดเจนให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินคดีแทนทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และล้มละลายจนกว่าคดีถึงที่สุด ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอคืนของกลางแทนผู้ร้องได้ นอกจากนี้ในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวยังระบุให้ผู้รับมอบอำนาจตั้งตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินการแทนได้ภายในขอบเขตที่ได้ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ และปรากฏในหนังสือมอบอำนาจช่วงผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจให้ อ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงดำเนินการยื่นเรื่องราวลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการขอรับรถจักรยานยนต์ของกลางคืน อันหมายถึงการยื่นคำร้องขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืนต่อศาลนั่นเอง ถือได้ว่า ผู้ร้องได้มอบอำนาจให้ อ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงยื่นคำร้องต่อศาลขอคืนของกลางได้
ป.อ. ม. 36
ป.พ.พ. ม. 797, 808
- คำพิพากษาฎีกาที่ 7469/2544
ในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ มีระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ พ.ศ. 2541 ข้อ 23 กำหนดว่า “เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งคำสั่งแก่ผู้มีส่วนได้เสียทราบโดยเร็ว” การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้แล้ว หากยังไม่ได้แจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ จะถือว่าผู้มีส่วนได้เสียทราบคำสั่งในวันนั้นและเริ่มนับระยะเวลาในการยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/32 วรรคสาม หาได้ไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ แต่ไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ทราบคำสั่งดังกล่าว อีกทั้งปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ทราบโดยได้ส่งสำเนาคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังเจ้าหนี้ คำสั่งดังกล่าวมีบุคคลอื่นรับไว้แทนเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2544 จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้ทราบคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ในวันดังกล่าว การนับระยะเวลาในการยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2544 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านในวันที่ 29 มกราคม 2544 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 14 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/32 วรรคสาม
ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ พ.ศ. 2541 ข้อ 23
- คำพิพากษาฎีกาที่ 7548/2544
ในชั้นตรวจอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ และให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 15 วัน แต่จำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น แม้ตามทางปฏิบัติจะมีหนังสือแจ้งให้ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลดำเนินการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแทนก็ตาม แต่โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาอุทธรณ์ไปชำระแก่เจ้าหน้าที่ของศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง ส่วนเงินที่โจทก์ได้วางไว้ในขณะยื่นคำฟ้องเป็นประกันค่าใช้จ่ายต่อศาลตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 11 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 6 มิใช่เงินที่โจทก์ได้วางไว้เป็นการชำระค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาอุทธรณ์ล่วงหน้า หากโจทก์ประสงค์จะให้หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเป็นค่าธรรมเนียมในคดีจากเงินประกันดังกล่าว ก็ชอบที่โจทก์จะแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบและได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นก่อน ข้อที่โจทก์อ้างว่าได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายนำหมายของศาลชั้นต้นว่าได้วางเงินประกันค่าใช้จ่ายไว้ต่อศาลแล้ว และเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะดำเนินการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยโดยหักเงินค่าธรรมเนียมในการส่งจากเงินประกันดังกล่าว แม้เป็นความจริงก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบ เมื่อโจทก์มิได้ชำระเงิน ค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาอุทธรณ์แก่เจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลย เป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) และมาตรา 246 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
ป.วิ.พ. ม. 70 วรรคสอง, 174 (2), 246
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 11
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ม. 14
- คำพิพากษาฎีกาที่ 7673/2544
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้โดยมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วน แต่มิได้แสดงโดยชัดแจ้งในรายละเอียดของข้อเท็จจริงและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง เพื่อแสดงว่ามูลหนี้ที่ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้นในแต่ละอันดับ ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงใด และไม่มีรายละเอียดว่าผู้ร้องคำนวณผิดพลาดคลาดเคลื่อนในมูลหนี้อันดับใด อย่างไร เป็นข้อวินิจฉัยที่รวบรัดและเคลือบคลุม อันเป็นการยากที่ผู้ร้องจะมีโอกาสหยั่งทราบถึงเหตุผลและรายละเอียดในคำสั่งและโต้แย้งคัดค้านได้ถูกต้อง การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าผู้ร้องส่งพยานเอกสารครบถ้วนถูกต้องแล้ว และลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ร้องตามจำนวนที่ขอรับชำระหนี้มาและขอให้พิจารณาทบทวนพยานหลักฐานและเอกสารทั้งหมด เพื่อคำนวณรายการหนี้ใหม่ให้ถูกต้องและแก้ไขคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาด รวมตลอดทั้งโต้แย้งในมูลหนี้ภาระค้ำประกันว่าผู้ร้องออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้ไว้ เมื่อถูกเรียกเก็บเงินมาจำต้องจ่ายเงินตามภาระค้ำประกัน จึงชอบที่จะได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ทั้งหมดนั้น เป็นการโต้แย้งตามสภาพที่เปิดช่องให้อยู่ในวิสัยที่พึงกระทำได้แล้ว จึงถือได้ว่าคำร้องคัดค้านของผู้ร้องเป็นการคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/32 วรรคสาม แล้ว
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/32 วรรคสาม
- คำพิพากษาฎีกาที่ 7960/2544
ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าคำขอรับชำระหนี้รายนั้นมีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด คือให้ยกคำขอรับชำระหนี้ อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหรืออนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ บางส่วน เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งดังกล่าวแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ตามมาตรา 90/32 และเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาล และผู้คัคค้านแถลงคัดค้านคำร้องดังกล่าว ศาลล้มละลายจะต้องดำเนินการไต่สวนหาความจริงในข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันอยู่แล้ววินิจฉัยคดีตามประเด็นซึ่งเกิดจากคำร้องและคำคัดค้านนั้น ในคำสั่งศาลเรื่องดังกล่าวจะต้องแสดงถึงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงและ คำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและมีปัญหาข้อกฎหมาย ตลอดจนค่าฤชาธรรมเนียม ตามมาตรา 14 และข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ข้อ 24
ตามคำร้องของผู้ร้องได้อ้างเป็นประเด็นในการคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในมูลหนี้อันดับที่ 2 ส่วนที่ 1 ภาษีอากรที่วัตถุดิบในคลังสินค้าทัณฑ์บนขาดหายไปว่า จะใช้จำนวนวัตถุดิบในคลังสินค้าที่ขาดหาย ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านเข้าไปตรวจสอบจำนวนวัตถุดิบเป็นฐานในการคำนวณภาระภาษีอากรจำนวนวัตถุดิบที่ขาดหายไปนั้นผู้ร้องสามารถชี้แจงได้หรือไม่ และลูกหนี้ต้องรับผิดภาษีจำนวนเท่าใด และส่วนที่ 2 ภาษีอากรสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามามีอายุเกิน 2 ปี นับแต่วันนำเข้าเป็นภาระภาษีอากรที่ซ้ำซ้อนกับมูลหนี้ส่วนที่ 1 และเมื่อผู้คัดค้านโต้แย้งประเด็นดังกล่าว ศาลล้มละลาย จึงต้องมีคำสั่งโดยวินิจฉัยคดีตามประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวให้ป็นที่ชัดแจ้งว่าจะใช้จำนวนวัตถุดิบที่ขาดหายไป ณ วันใดเป็นฐานในการคำนวณภาษีอากร มีสินค้าประเภทใดขาดหายไป จำนวนเท่าใด แล้วเหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าทำให้ สินค้าขาดหายนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และหากเหตุดังกล่าวมีอยู่จริงถือว่าเป็นเหตุอันสมควรหรือไม่ จากเหตุดังกล่าว ลูกหนี้ต้องรับผิดในมูลหนี้ภาษีอากรเนื่องจากวัตถุดิบในคลังสินค้าทัณฑ์บนขาดหายตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 13/2534 เรื่องระเบียบเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า ข้อ 17 และข้อ 19 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 ทวิ (2) แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 หรือไม่ เพียงใด และในมูลหนี้ภาษีอากรเนื่องจาก นำวัตถุดิบเข้ามาค้างเกิน 2 ปี ซ้ำซ้อนกับมูลหนี้ค่าภาษีอากรเนื่องจากจำนวนวัตถุดิบในคลังสินค้าทัณฑ์บนขาดหายไปหรือไม่ อย่างไร เมื่อคำวินิจฉัยของศาลล้มละลายเป็นการกล่าวแบบรวม ๆ มิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและ แสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ข้อ 24
ผู้ร้องประสงค์จะอ้างหรือขอให้เรียกพยานเอกสารอีกหลายฉบับซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดี อีกทั้งได้ระบุรายละเอียดของเอกสารดังกล่าวมาแล้วในคำร้องคัดค้านและคำฟ้องอุทธรณ์ พร้อมทั้ง ขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเพิ่มเติม นอกจากนี้ในคำร้องและคำคัดค้านยังมีข้อเท็จจริงที่ยังโต้เถียงกันอีกหลายประการ ศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนแล้วเห็นว่ายังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัย จึงจำต้อง ย้อนสำนวนคืนไปยังศาลล้มละลายเพื่อพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (1) และ (2) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28
ป.วิ.พ. ม. 243 (1), 243 (2)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/26, 90/32
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ม. 14, 19, 28
ข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ข้อ 24
- คำพิพากษาฎีกาที่ 7966/2544
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว มีอำนาจเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่จำเลยหรือซึ่งจำเลยมิสิทธิจะได้รับจากผู้อื่นตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (2)
ลูกจ้างและกรรมการของบริษัทจำเลยชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้ที่ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้แทนจำเลยผู้ให้กู้ จึงถือ ไม่ได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 315 หนี้เงินกู้ยังไม่ระงับสิ้นไป และการรับชำระหนี้ดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและบุคคลผู้ที่ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้อง ใช้สิทธิในการทวงถามหนี้เงินกู้จากลูกจ้างและกรรมการของจำเลยผู้กู้และไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 เรียกร้องให้ผู้ที่ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้แทนจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวได้
ป.พ.พ. ม. 149, 315
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 22 (2), 119
- คำพิพากษาฎีกาที่ 8047/2544
อำนาจฟ้องในคดีอาญาเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงทำให้บริษัทโจทก์เป็นอันเลิกกันโดยบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1236 (5) และโจทก์ย่อมหมดอำนาจที่จะทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ต่อไปอีก การจัดการรวมทั้งการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะจัดการแต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 , 24 ทั้งมาตรา 1247 ก็บัญญัติไว้ว่า การชำระบัญชีบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้น ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ ดังนั้นกรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่กลับมีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้อีกโดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 เพราะมาตรา 1251 ก็ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้แล้วว่าบริษัทในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย กรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี คดีนี้บริษัทโจทก์เลิกกันเพราะเหตุล้มละลาย กรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ชำระบัญชีและไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 1252
ป.วิ.อ. ม. 195 วรรคสอง, 225
ป.พ.พ. ม. 1236 (5), 1247, 1249, 1251, 1252
พ.ร.บ.ล้มละลาย ม. 22, 24
- คำพิพากษาฎีกาที่ 8428/2544
ในการฟื้นฟูกิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวได้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการ หรือปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนิน กิจการตามปกติต่อไปได้ เมื่อลูกหนี้มีกิจการเฉพาะโรงงานผลิตกระดาษและผลิตกล่องกระดาษแต่โรงงานดังกล่าว อยู่ระหว่างสัญญาเช่ากับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในโรงงานดังกล่าวในขณะที่ยื่น คำร้องขอ ลูกหนี้ยังไม่อาจปรับปรุงฟื้นฟูกิจการในการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวได้ ทั้งการให้เช่าโรงงานของลูกหนี้ ก็มีสัญญาเช่าเพียงรายเดียวคือสัญญาเช่าระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 2 เท่านั้นซึ่งกำหนดค่าเช่าแน่นอน หาใช่กรณีลูกหนี้ประกอบกิจการทำเป็นธุรกิจในการเช่าทรัพย์สินอันจะต้องมีการจัดการบริหารดำเนินงานในทางธุรกิจการค้าไม่ กรณีจึง ไม่มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/10
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/9 วรรคสาม บัญญัติว่า “ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านวันนัด ไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่าสามวัน ในกรณีที่เป็นการคัดค้านผู้ทำแผน ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็น ผู้ทำแผนด้วยหรือไม่ก็ได้…” และในบทนิยามมาตรา 90/1″ “เจ้าหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน” จึงเห็นได้ว่ากฎหมายล้มละลายส่วนการฟื้นฟูกิจการให้สิทธิเจ้าหนี้ทุกประเภทยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟู กิจการเพื่อปกป้องสิทธิของตน ส่วนคำว่า “เจ้าหนี้” นั้น คือผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้
ผู้ร้องขอ (ลูกหนี้) ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อนำโรงงานในขณะที่ตกอยู่ในภาระการเช่าแก่ผู้คัดค้านที่ 2 มาดำเนินกิจการ แต่ตามสัญญาเช่าโรงงานดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้เช่าชอบที่จะได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ใน โรงงานอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาการเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 และมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะผู้ให้เช่า จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านการขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/9 วรรคสาม
ป.พ.พ. ม. 537
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/1, 90/9 วรรคสาม, 90/10
- คำพิพากษาฎีกาที่ 8718/2544
ผู้ร้องไม่ได้ขอรับชำระหนี้ค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดให้รวมไว้ในมูลหนี้ ในบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินซึ่งยื่นไว้ การที่ผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ว่า ได้แจ้งความประสงค์ว่าผู้ร้องต้องการขอรับชำระหนี้ในส่วนค่าปรับรายวันจากลูกหนี้ตามที่ยื่นฎีกาไว้ มิใช่การขอรับชำระหนี้ตามแบบพิมพ์แสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินตามบทบัญญัติ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 วรรคสอง และผู้ร้องสามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ส่วนนี้ได้ล่วงหน้าอยู่แล้วโดยไม่ต้องรอให้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาเสียก่อน ดังนั้นเมื่อผู้ร้องนำหนี้ปรับรายวันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามบทบัญญัติ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 อีกทั้งหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ เด็ดขาด ย่อมต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94
ดูย่อฏีกายาว
ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์
ดูภาพถ่ายต้นฉบับ ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 91, 94
- คำพิพากษาฎีกาที่ 8878/2544
คดีก่อนลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่าไม่มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงให้ยกคำร้องขอ ส่วนคดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้โดยอ้างช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ มีสาระสำคัญในเหตุที่อ้างอันเป็นช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการแตกต่างจากคดีก่อนอย่างเห็นได้ชัด ทั้งมีเหตุซึ่งเกิดขึ้นใหม่อันจะเป็นผลดีในการที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อีกหลายประการ การรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ได้ยื่นไว้พิจารณา จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
ป.วิ.พ. ม. 144
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/6 (3)
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ม. 14
- คำพิพากษาฎีกาที่ 9160/2544
ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนของศาลนั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่าต้องบทบัญญัติพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 หรือไม่ และตามมาตรา 90/58 (1) ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 โดยมาตรา 90/42 (7) ในแผนนั้นจะต้องมีรายการ ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทนของผู้บริหารแผน เช่นนี้ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน ศาลจึงต้องพิจารณาถึงค่าตอบแทนของผู้บริหารแผนด้วยว่าค่าตอบแทนของผู้บริหารแผนนั้นเหมาะสมกับสภาพการงานที่ทำหรือไม่และจำนวนดังกล่าวสูงเกินสมควรหรือไม่
แผนมีโอกาสดำเนินการสำเร็จหรือไม่ แม้ว่ากฎหมายมิได้มีบัญญัติเงื่อนไขส่วนนี้ไว้โดยตรง แต่การที่กระบวนพิจารณาในการฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ว่าหลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนด้วยมติพิเศษตามพระราชบัญญัติ
ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายได้กำหนดให้แผนดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นตอนหนึ่งตามบัญญัติในส่วนที่ 8 เรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีจึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางธุรกิจเพื่อจะได้วินิจฉัยเพื่อจะได้วินิจฉัยตรวจสอบในการให้ความเห็นชอบด้วยแผนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และมอบให้เป็นดุลพินิจว่าสมควรให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแผนนั้นด้วย เพราะว่ากรณีไม่มีประโยชน์อันใดที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อเป็นไปได้ว่าแผนนั้นไม่มีโอกาสดำเนินการสำเร็จได้หรือหากดำเนินการไปแล้วลูกหนี้ต้องประสบกับภาวะล้มละลายในที่สุด
ในการที่จะพิจารณาว่าค่าตอบแทนนั้นสมควรหรือไม่ เมื่อยังไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับเรื่องนี้ใช้บังคับ กรณีจึงต้องพิจารณาถึงขนาดของกิจการ ความยุ่งยากในการดำเนินการ ปริมาณของบุคลากรที่จะต้องใช้ วิธีการในการฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนชื่อเสียง ผลงาน ประสบการณ์ของผู้บริหารแผนนั้น รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ประกอบกันตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แต่ละรายไป
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/42, 90/46 (2), 90/58, 90/58 (1)
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ม. 19
ข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 24
- คำพิพากษาฎีกาที่ 9189/2544
เจ้าหนี้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายได้แก่รถบรรทุกและเงินฝากธนาคารชำระหนี้แล้ว เมื่อหักกลบกับหนี้ ตามฟ้องแล้วจะเหลือหนี้ค้างชำระเพียงจำนวนเล็กน้อยประมาณ 10,000 บาท อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ตายเป็นลูกหนี้ บุคคลอื่นอีก รูปคดีจึงยังไม่พอฟังว่าลูกหนี้ที่ตายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว กรณีมีเหตุที่ไม่ควรให้จัดการทรัพย์มรดก ของผู้ตายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 82
ดูย่อฏีกายาว (พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 14, 82 )
- คำพิพากษาฎีกาที่ 9528/2544
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ให้นำประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ในคดีล้มละลายได้ ก็ต่อเมื่อ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 และข้อกำหนดคดีล้มละลาย มิได้บัญญัติหรือกำหนดไว้โดยเฉพาะและนำมาใช้โดยอนุโลมตามสภาพลักษณะของคดีล้มละลายที่ให้พิจารณาเป็นการด่วน
การทราบนัดหรือกระบวนพิจารณาของแต่ละนัด พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 15 บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่นำ ป.วิ.พ. มาตรา 140 (3) มาใช้บังคับ
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 15 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 90/11 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ให้ศาลล้มละลายดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดี ให้ศาลล้มละลายรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว ในกรณีที่คู่ความไม่มาศาลในนัดใดไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ให้ถือว่าคู่ความนั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว” ดังนั้น ในวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่ง ศาลล้มละลายสั่งงดสืบพยานจำเลยและนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา แม้ฝ่ายจำเลยไม่มาศาลก็ต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งศาลล้มละลายดังกล่าวแล้ว ศาลล้มละลายกลางจึงอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาไปได้โดยไม่จำต้องแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบอีก
คำสั่งศาลล้มละลายที่ให้งดสืบพยานจำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ในคดีนี้จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวหรือคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่จำเลยมากล่าวอ้างเหตุดังกล่าวในคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่และให้สืบพยานจำเลยจึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนแล้ว กรณีจึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล้มละลายจึงต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์และฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
ป.วิ.พ. ม. 140 (3), 225 วรรคหนึ่ง, 226 (2), 249 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ม. 14, 15
- คำพิพากษาฎีกาที่ 265/2545
การจะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองสมควรล้มละลายหรือไม่ ต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่มีการยื่นฟ้องและคดีนั้นยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาล ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 34 ที่บัญญัติว่า “บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังค้างพิจารณาอยู่ในศาล… ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” เมื่อคดีนี้ยื่นฟ้องก่อนที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับและได้ความว่าจำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท จึงเข้าองค์ประกอบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (เดิม) ประกอบกับในการพิจารณาคดีล้มละลายต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 (เดิม) หรือมาตรา 10 (เดิม) ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ยกฟ้อง ฉะนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์นำสืบได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ และจำเลยทั้งสองนำสืบไม่ได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด ลำพังเหตุที่มีการแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยเพิ่มจำนวนหนี้ที่จะฟ้องล้มละลายให้สูงขึ้น ยังไม่พอฟังว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 9 (เดิม), 10 (เดิม), 14 , พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ม. 34
- คำพิพากษาฎีกาที่ 266/2545
การบังคับคดีเป็นสิทธิตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการบังคับคดีตาม ขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ดังนั้นโจทก์จะดำเนินการบังคับคดีเมื่อใด ภายในกำหนด 10 ปี จึงเป็นสิทธิที่โจทก์สามารถทำได้โดยชอบ จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระ จึงต้องรับผิดในหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนดอกเบี้ยที่ศาลกำหนดไว้ในคำพิพากษาแก่โจทก์ หาใช่เป็นผลจากการที่โจทก์ไม่ดำเนินการบังคับคดีแต่อย่างใด ดังนั้น การที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับดีในทันทีจึงมิใช่เหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
ป.วิ.พ. ม. 271
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 9 (2)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 728/2545
++ เรื่อง ล้มละลาย (ชั้นขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ) ++
การที่ลูกหนี้ซื้อที่ดินบางส่วนจากบริษัท อ. ในขณะที่ที่ดินแปลงดังกล่าวจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ที่บริษัท อ. และ/หรือบริษัท ส.มีต่อธนาคาร ม. ซึ่งธนาคารเจ้าหนี้ได้รับโอนกิจการมา เป็นการซื้อขายติดจำนอง สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิย่อมติดไปกับตัวทรัพย์นั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์จะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ตามป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ลูกหนี้จึงต้องรับภาระจำนองมาด้วย เจ้าหนี้จึงยังมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าว การที่ธนาคาร ม. จดทะเบียนปลดจำนองเฉพาะส่วนที่ดินของบริษัท อ. ในเวลาต่อมาโดยส่วนของลูกหนี้ยังคงติดจำนองอยู่และภาระหนี้ยังคงเป็นของบริษัท ส.ตามเดิม ที่ดินส่วนของลูกหนี้จึงติดจำนองเพื่อประกันหนี้ของบริษัท ส.ที่มีต่อธนาคาร ม. ต่อไป เจ้าหนี้จึงมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินส่วนของลูกหนี้ในวงเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6
การที่ลูกหนี้ซื้อทรัพย์ซึ่งติดจำนองมา ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้ ลูกหนี้มีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันจะมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะ 12 หมวด 5 มิได้ทำให้ลูกหนี้มีฐานะเป็นผู้จำนอง เมื่อประสงค์จะให้จำนองประกันหนี้ของลูกหนี้ด้วยจะต้องมีการจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยตามมาตรา 714 การที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงให้ทรัพย์สินที่ลูกหนี้ซื้อมาโดยติดจำนองนั้นเป็นการจำนองประกันหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ด้วย แต่มิได้จดทะเบียนจำนอง จึงตกเป็นโมฆะ เจ้าหนี้จึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันในส่วนนี้
นอกจากมีบริษัท ส.เป็นผู้ค้ำประกันหนี้บางอันดับแล้ว ยังมีบุคคลอื่นเป็นผู้ค้ำประกันร่วมอีกด้วย เช่นนี้หากผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ย่อมมีผลถึงลูกหนี้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 วรรคหนึ่ง การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้วางเงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระหนี้ในส่วนนี้และศาลล้มละลายมิได้แก้ไขให้ถูกต้อง กรณีเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
ร.ย.41/2545 ไม่ระบุ
ป.พ.พ. ม. 292, 702, 714, 744
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 6
- คำพิพากษาฎีกาที่ 845/2545
ตามแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผน และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้น ได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เจ้าหนี้เงินเหรียญสหรัฐฯ ที่ไม่มีประกัน กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้เงินบาทที่ไม่มีประกัน กลุ่มที่ 3 เจ้าหนี้บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกัน กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น ๆ กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้ภาระหนี้ ที่อาจเกิดขึ้น กลุ่มที่ 6 เจ้าหนี้ที่ปรึกษาทางการเงิน, ที่ปรึกษาทางกฎหมาย และที่ปรึกษาอื่น ๆ ของเจ้าหนี้ สำหรับ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 แผนได้ระบุไว้ว่าจะกำหนดยอดหนี้มาจาก (ก) ข้อตกลงระหว่างผู้ทำแผนและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง (ข) คำชี้ขาดจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (ค) คำพิพากษาของศาลอันเป็นที่สุด (ง) คำสั่งศาล นอกจากนี้ในกรณีที่ภาระหนี้ซึ่งอาจเกิดขึ้นกลายเป็นภาระหนี้ที่ครบกำหนดชำระและต้องจ่าย ภาระหนี้เหล่านี้จะได้รับการจัดกลุ่มตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับลักษณะและสกุลเงินของภาระหนี้ที่ครบกำหนดชำระนั้น ภาระหนี้จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับหนี้ในกลุ่มที่โอน ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในกลุ่มนั้น ๆ เสมือนภาระหนี้ได้รับการจัดกลุ่มตั้งแต่วันที่ศาลพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน ทั้งนี้ผู้ทำแผนได้ชี้แจงเพิ่มเติมในรายงานการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนด้วยว่า หากศาลมี คำพิพากษาถึงที่สุดหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้ทำแผนจะจัดให้อยู่ในกลุ่มที่เหมาะสมอาจอยู่ในกลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มที่ 2 แล้วแต่สกุลเงินขณะนั้น โดยผู้คัดค้านได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่ลูกหนี้ในคดีนี้ได้ค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งบริษัทไทยวา พลาซ่า จำกัด ออกให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 22,950,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา มูลหนี้เดียวกันนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยวา พลาซ่า จำกัด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีดังกล่าวมีคำสั่งอนุญาตให้ ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้ตามคำขอ ผู้ทำแผนจึงจัดให้ผู้คัดค้านอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 อันถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยเหตุผลและความเป็นธรรมแล้ว เพราะหนี้ของผู้คัดค้านเป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอน ทั้งในเรื่องของจำนวนหนี้และสกุลเงินที่จะได้รับชำระหนี้ โดยเป็นหนี้อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้าตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือ คำพิพากษาของศาลอันเป็นที่สุดว่าจะให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้เท่าใดและเป็นเงินสกุลใด การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ที่ ผู้ทำแผนดำเนินการตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42(3)(ข) จึงชอบด้วยมาตรา 90/42 ทวิ ซึ่งกำหนดไว้ใน (3) ว่า “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน”
พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ทวิ วรรคท้าย เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้รายใดที่เห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวมาแล้ว ก็อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม ซึ่งศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้อง แต่ผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้จัดกลุ่มเสียใหม่ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าผู้คัดค้านเห็นชอบด้วยกับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ของผู้ทำแผนแล้ว
สิทธิของผู้คัดค้านซึ่งถูกจัดให้อยู่ในเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับเจ้าหนี้อื่นซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หาทำให้ผู้คัดค้านเสียเปรียบเจ้าหนี้อื่นไม่ ดังนั้น แผนจึงมีข้อเสนอในการชำระหนี้ไม่ขัดต่อมาตรา 90/42 ตรี ทั้งข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย มิได้ขัดต่อมาตรา 90/58 (2) และมาตรา 130 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้นชอบแล้ว
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/42 ทวิ, 90/42 ตรี, 90/42 (3)(ข), 90/46(2), 90/58(2), 130
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1183/2545
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/26 บัญญัติแสดงโดยแจ้งชัดว่าหากเจ้าหนี้ประสงค์ที่จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่นคำรับชำระหนี้ตามวิธีการที่กฎหมายได้ระบุไว้ โดยบทบัญญัติวรรคหนึ่งของมาตรานี้ส่วนท้ายแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา กรณีที่สองเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาซึ่งหมายถึงศาลยังไม่มีคำพิพากษา
การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง ในกรณีแรก หากรอให้ศาลพิพากษาในชั้นที่สุดเสียก่อน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ ทำให้เจ้าหนี้หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 90/61 การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ จึงมิใช่เป็นเพราะหนี้นั้นเป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงประการเดียวแต่ต้องประกอบด้วยการพิสูจน์หนี้ของเจ้าหนี้ การสอบสวนและคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวมทั้งคำสั่งของศาลในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านเป็นสำคัญ กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้มีผู้โต้แย้งมูลหนี้ดังกล่าวได้ แต่เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา และผู้บริหารแผนร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายหากศาลล้มละลายได้พิจารณาคำร้องคัดค้านคำคัดค้านของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้แล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัย จึงให้งดไต่สวน ย่อมถือได้ว่าเป็นอำนาจของศาลล้มละลายที่กระทำได้โดยชอบ
ลูกหนี้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลล้มละลายเรื่องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงฉบับละ 25 บาท ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/2 วรรคสอง
ป.วิ.พ. ม. 86, 104
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/2 วรรคสอง 90/26, 90/75, 90/75(1), 179(2)
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2543 ม. 14
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1242/2545
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความเนื่องจากจำเลยถูกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมด้วย บทบัญญัติของกฎหมายในมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร ซึ่งต่างจากกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลต้องมีคำสั่งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด หรือในกรณีที่มีการถอนคำฟ้องหรือได้มีการ ตัดสินให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ หรือเมื่อคดีได้เสร็จเด็ดขาดลงโดยสัญญาหรือ การประนีประนอม ยอมความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบางส่วนแก่คู่ความได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับ จำเลยทั้งหกเป็นพับจึงชอบแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ ซึ่งเกิดจากเหตุที่จำเลยทั้งหก ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น โจทก์ทั้งสองก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายอีกด้วย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่คืน ค่าธรรมเนียมให้โจทก์ทั้งสองเลยนั้น น่าจะเป็นภาระแก่โจทก์ทั้งสองที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน คือ ค่าธรรมเนียมในการยื่นฟ้องคดีนี้และค่าธรรมเนียมในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งเป็นหนี้จำนวนเดียวกันที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้อง ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสอง
ป.วิ.พ. ม. 131, 132, 151 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 167 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 22, 25, 27, 179
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1431/2545
ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 และ มาตรา 1266 ที่จะต้องชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จสิ้นไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัท ถ้าเห็นว่าเมื่อเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ยังไม่พอกับหนี้สิน ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้ออกคำสั่งว่าบริษัทล้มละลายทันที นอกจากนี้ ป.รัษฎากร มาตรา 72 ยังบัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการบริษัทมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกบริษัท อีกทั้งมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบ แม้ไม่ปรากฏว่าผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลสั่งว่า บริษัทล้มละลาย แต่ความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีดังกล่าวเป็นการยื่น รายการของบริษัทและนำเงินของบริษัทไปชำระค่าภาษี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นอกจากสิทธิเรียกร้องในเงินที่บริษัทฝากไว้แก่ธนาคารซึ่งโจทก์ได้อายัดและนำมาชำระค่าภาษีบางส่วนแล้ว บริษัทไม่มีทรัพย์สินอื่นอีกและไม่มีการ แบ่งปันทรัพย์สินของบริษัท คืนแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ชำระบัญชีจึงหาต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีของบริษัทเป็นส่วนตัวไม่
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (2) เป็นการกำหนดว่า ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรหรือไม่ หาใช่บทบัญญัติว่า ผู้ใดจะต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรไม่
ป.พ.พ. ม. 1250, 1266
ป.รัษฎากร ม. 72
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ม. 7 (2)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1490/2545
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในคดีก่อน โดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาที่มีการบังคับคดีแต่ยังไม่พอชำระหนี้ และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ศาลพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วเนื่องจากยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ทั้งทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดไว้อาจขายทอดตลาดได้ราคาสูงกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ก็ได้ จึงมีเหตุที่ยังไม่ควรให้ ล้มละลาย การที่โจทก์กลับนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายอีกในเหตุดังที่เคยอ้างและศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วในคดีก่อน จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 แม้คดีนี้โจทก์อ้างว่ามีข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากคดีก่อน โดยโจทก์ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้เงินไม่พอ ชำระหนี้ก็ตาม
การใช้กฎหมายล้มละลายในทางบีบคั้นลูกหนี้ให้ต้องล้มละลายซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นการผิดจากเจตนารมณ์ ที่แท้จริงของ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ป.วิ.พ. ม. 148
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 14, 153
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3285/2545
การที่โจทก์มิได้ส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำพยานให้จำเลยก่อนวันนัดพิจารณาคดีตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ถือว่ามิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย ข้อ 14 วรรคสอง ย่อมทำให้โจทก์มิได้รับประโยชน์ในกระบวนพิจารณาส่วนนี้ ศาลล้มละลายกลางชอบที่จะไม่ยอมรับบันทึกถ้อยคำพยานโจทก์นั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแทนการซักถามพยานโจทก์ และต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยตามที่นัดไว้ต่อไป
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ม. 14, 19
ข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 14
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3318/2545
ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของศาลนั้น มาตรา 90/58 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย เป็นบทกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาใช้ดุลพินิจในการให้ความเห็นชอบด้วยแผน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการใช้ดุลพินิจดังกล่าว ศาลมีอำนาจที่จะตรวจสอบในเนื้อหาของแผนฟื้นฟูกิจการแล้วนำมาพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่
การพิจารณาว่าข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผน เจ้าหนี้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันตามมาตรา 90/42 ตรี หรือไม่ ต้องพิจารณาเฉพาะบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้ กำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันแล้ว จึงถือว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชำระหนี้เป็นไปตามมาตรา 90/58 (2) ประกอบส่วนมาตรา 90/42 ตรี แล้ว
การแปลงหนี้เป็นทุนนั้น พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 90/42 วรรคท้าย บัญญัติว่า “มิให้นำ… มาตรา 1119 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์… มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้” ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 1119 ห้ามหักหนี้กับค่าหุ้นของบริษัท จึงไม่สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ ดังนั้น เมื่อในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการมีบทบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนนี้ ผู้ทำแผนจึงสามารถทำแผนเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้มาเป็นทุนได้
ผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน แล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนบุคคลอื่นซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้จะต้องรับผิดเช่นไร ต้องเป็นไปตามกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ดังนี้ ในส่วนตัวลูกหนี้ย่อมได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดในส่วนที่ขาดโดยผลของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ แต่ในส่วน ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดก็เมื่อหนี้นั้นได้ระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 การที่ แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไปเสียทีเดียว ย่อมเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
แม้ว่าข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการที่ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่มีผลบังคับ แต่เมื่อรายการ ดังกล่าวมิใช่รายการสำคัญและ พ.ร.บ. ล้มละลายก็ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้แล้ว ตามมาตรา 90/60 วรรคสอง การที่ข้อกำหนดดังกล่าวตกไปจึงไม่กระทบถึงความสมบูรณ์ของแผน กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าแผนมีรายการสมบูรณ์ครบถ้วนตามมาตรา 90/42
ในการขอฟื้นฟูกิจการนั้นกฎหมายได้กำหนดลำดับขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาในแต่ละช่วงไว้ อย่างชัดเจน ปัญหาตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ที่ว่า กิจการของลูกหนี้โดยทั่วไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว ไม่มีทางกลับ ฟื้นคืนตัวได้ จึงไม่มีเหตุผลอันสมควร และไม่มีช่องทางให้ฟื้นฟูกิจการนั้น เป็นปัญหาในขั้นพิจารณาคำร้องขอ ฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/10 อันเป็นกระบวนพิจารณาก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่เมื่อคดีนี้ศาลมีคำสั่งให้ ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จนกระทั่งมีการทำแผนและแผนนั้นได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้ถึงชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของศาล กรณีจึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนที่จะยกเหตุ ดังกล่าวขึ้นคัดค้านแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3319/2545
ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 บัญญัติว่า” ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย_ _ _ (4) การไถ่ถอนหลักประกันในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกันและความรับผิดของผู้ค้ำประกัน_ _ _” ในรายการเรื่องความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมหมายความรวมถึงการระบุชื่อผู้ค้ำประกัน วงเงินความรับผิดตลอดจนผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนต่อผู้ค้ำประกันด้วย ในคดีนี้ผู้ทำแผนได้ระบุชื่อผู้ค้ำประกันและวงเงินค้ำประกันไว้โดยละเอียดโดยผู้ทำแผนชี้แจงว่าเป็นการจัดทำตามข้อมูล เอกสารแห่งหนี้ และหลักประกันที่ลูกหนี้มีอยู่ แสดงว่าผู้ทำแผนได้พยายามแสดงหรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว อีกทั้งการที่ผู้ทำแผนระบุชื่อและความรับผิดของผู้ค้ำประกันไม่ครบถ้วนก็มิใช่รายการที่มีสาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แต่อย่างใด และหากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติไว้อยู่แล้ว กรณีจึงถือว่าแผนของลูกหนี้มีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ประกอบกับมาตรา 90/58 (1) แล้ว
การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในบรรดาเจ้าหนี้ไม่มีประกันนั้นมาตรา 90/42 ทวิ บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่มโดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน” และในมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง ได้บัญญัติถึงการคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ว่า “เจ้าหนี้รายใดเห็นว่า การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่งอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็วคำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด” คดีนี้เจ้าหนี้รายที่ 80 ซึ่งผู้ทำแผนจัดอยู่ในกลุ่มที่ 14 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันต่อศาลล้มละลายกลางก่อนวันนัดประชุมเพื่อพิจารณาแผน และศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยยกคำร้องของเจ้าหนี้รายที่ 80 ดังกล่าว การจัดกลุ่มเจ้าหนี้รวมถึงเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามแผนจึงถือว่าถึงที่สุดแล้วตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคท้าย และในส่วนการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มนั้นจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในทางธุรกิจในอันที่จะให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ เกี่ยวกับเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 11 และกลุ่มที่ 12 จะต้องได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนเช่นเดียวกับเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจกับลูกหนี้ก็คงไม่มีผู้ใดยินยอมให้บริการ การกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงินแตกต่างกับเจ้าหนี้การค้าอื่น ๆ จึงเป็นธรรมแล้ว ส่วนที่มาตรา 90/58 (2) กำหนดให้ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายนั้น หมายความว่าจะต้องดำเนินการแบ่งทรัพย์สินไปตามลำดับบุริมสิทธิที่กำหนดไว้ตามมาตรา 130 (1) ถึง (6) ส่วนหนี้ในมาตรา 130 (7) จะได้ส่วนแบ่งอย่างไรจะต้องเป็นไปตามการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นเมื่อแผนกำหนดให้แต่ละกลุ่มได้รับชำระหนี้ในหลักเกณฑ์เดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นแผนที่กำหนดถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันให้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตามมาตรา 90/42 ตรี แผนจึงไม่ขัดต่อมาตรา 90/58 (2)
พ.ร.บ.ล้มละลาย ม. 90/42, 90/42 ทวิ, 90/42 ตรี, 90/58, 130
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3392/2545
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า “เจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่งอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มและศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด” ตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ระบุว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งหมายแจ้งวันนัดประชุมเจ้าหนี้พร้อมแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทางไปรษณีย์ตอบรับลงวันที่ 4 มกราคม 2544 และเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการประชุมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2544 อ้างว่า แผนฟื้นฟูกิจการมีรายละเอียดและสาระสำคัญหลายเรื่องต้องใช้ความรอบคอบ เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้แล้ว การที่เจ้าหนี้ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการจึงแสดงโดยแจ้งชัดว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลในวันที่ 22 มกราคม 2544 ย่อมพ้นกำหนดเวลาที่อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งจัดกลุ่มเสียใหม่ได้แล้ว
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/42 ทวิ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3403/2545
การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีเดียวกันภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เมื่อมีแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ จำเลยที่ 1 จึงได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (4) แต่ผู้เดียวโดยเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์ก็สามารถแยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้อยู่แล้ว ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะถูกโจทก์ฟ้องให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นคดีเดียวกันกับคดีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่อาจได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (4) เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้มีฐานะเป็นผู้ร่วมร้องขอหรือเป็นลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้กล่าวมาในคำร้องเป็นข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นเลย คำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคท้าย ส่วนคำร้องของจำเลยที่ 4 มิได้แสดงรายละเอียดชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 4 แพ้คดีไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง ทั้งหาได้คัดค้านในเนื้อหาแห่งคำตัดสินของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร หากมีการพิจารณาพิพากษาใหม่แล้วจำเลยที่ 4 จะชนะคดีอย่างไร จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคท้าย (ป.วิ.พ. ม. 208) (พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/12 (4) )
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4047/2545
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินอันเกิดจากการผิดสัญญาจะซื้อขาย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีจึงมีคำขอให้มีการพิจารณาใหม่ การที่จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ถือได้ว่าเป็นการต่อสู้คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยนั่นเอง เมื่อความปรากฏต่อศาลชั้นต้นในระหว่างการพิจารณาหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับของจำเลยว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาแล้วโดยไม่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (4) ซึ่งบัญญัติให้ศาลที่มีการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยงดการพิจารณาไว้และย่อมหมายความรวมถึงการพิจารณาคดีในชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาด้วย ดังนั้น การพิจารณาหลักประกันของศาลชั้นต้นตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ดี หรือการที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ดี ล้วนถือได้ว่าเป็นการพิจารณาคดีอย่างหนึ่งซึ่งต้องงดการพิจารณาไว้ตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาและศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการพิจารณาที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องเพิกถอนการพิจารณานั้นเสียทั้งหมด
ป.วิ.พ. ม. 208
พ.ร.บ.ล้มละลาย ม. 90/12 (4)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4823/2545
ศาลมีบทบาทในการควบคุมดูแลการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เมื่อได้คำนึงถึงประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้รับคำขอแก้ไขแผนที่ยื่นล่วงเลยระยะเวลาตามที่พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/45 กำหนดไว้เพื่อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ได้
พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/27, 90/60 ประสงค์ให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรแต่เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรในมูลหนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งเมื่อ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมได้
ดูย่อฏีกายาว
ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์
ดูภาพถ่ายต้นฉบับ ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 56, 90/27, 90/45, 90/46, 90/58, 90/60
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5597/2545
ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้รายใดงดออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ แต่คำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คงมีผลเฉพาะในที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น หามีผลถึงชั้นพิจารณาของศาลด้วยไม่ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/30 และ 90/23 วรรคสอง ทั้งในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของศาล มาตรา 90/57 กำหนดให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ทำแผน รวมทั้งขอคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน ดังนั้นเจ้าหนี้รายนั้นจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางได้ การที่ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายที่ 285 ไว้พิจารณาก่อนที่จะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยมาตรา 90/57
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/23, 90/30 และ 90/57
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5737/2545
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถไปจากโจทก์ โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เอาประกันภัยระบุให้โจทก์เป็น ผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยนั้น สัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้ออันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 เพื่อทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์อีกทางหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนจากข้อผูกพันตามสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับจนกว่าจะได้รับครบถ้วน การที่รถที่เช่าซื้อประสบอุบัติเหตุเสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้ และโจทก์ได้เข้าถือเอาผลประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย แต่ผู้รับประกันภัยถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ดังกล่าว ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าการเข้าถือเอาประโยชน์ของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยได้รับชดใช้ค่าเสียหายแล้ว เพราะการยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเพียงการปฎิบัติตามขั้นตอนที่บังคับไว้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายเพื่อรักษา สิทธิเรียกร้องเอาไว้และเป็นการไม่แน่นอนว่าจะได้รับชำระหนี้ เพราะคำขออาจถูกยกหรืออนุญาตทั้งหมดหรือ แต่บางส่วนก็ได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้
ป.พ.พ. ม. 374
พ.ร.บ. ล้มละลาย ม. 27, 91, 106, 107
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5844/2545
ในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของศาล พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/57 บัญญัติว่า “ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลพิจารณาข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ด้วยแต่มิได้บังคับว่าศาลจะต้องทำการไต่สวนคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เสมอไป จึงย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาเห็นสมควรเป็นเรื่องๆ ไป เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการ คำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของเจ้าหนี้มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดชัดเจนเพียงพอแก่การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้งดการไต่สวนจึงชอบแล้ว
แม้ช. จะมีฐานะเป็นกรรมการลูกหนี้และมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ด้วยก็ตามแต่เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. เจ้าหนี้มีประกันรายใหญ่ คือบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน 2. เจ้าหนี้ไม่มีประกันรายย่อย คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 3. เจ้าหนี้ไม่มีประกันในฐานะเจ้าหนี้เงินให้กู้ยืม คือ ช. และแผนได้กำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่จเานี้ทั้งสี่กลุ่มโดยปรับลดภาระหนี้ดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1.62 ส่วนภาระหนี้เงินต้นจะชำระโดยโอนหุ้นบริษัท ส. มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และหุ้นบริษัท บ. มูลค่าหุ้นละ 18 บาท ชำระหนี้ส่วนหนึ่ง จัดสรรหุ้นกู้ไม่มีประกันของลูกหนี้ มูลค่าหุ้นละ 10 ชำระหนี้อีกส่วนหนึ่ง และจะทยอยชำระหนี้ส่วนที่เหลือด้วยเงินสดภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่มีดอกเบี้ย ตามแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 6.2 ถึง 6.4 และเอกสารแนบท้ายหมายเลข 3 ถึง 6 ถือได้ว่าเจ้าหนี้ทุกรายได้รับการปฏิบัติชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้เท่าเทียมกัน ช. ไม่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยทางตรงหรือทางอ้อม นอกจากประโยชน์ที่เจ้าหนี้จะควรได้รับในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ดังนั้น ช. จึงชอบที่จะออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 34 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90/2 วรรคสอง
การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ โดยโอนหุ้นบริษัท ส. มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และหุ้นบริษัท บ. มูลค่าหุ้นละ 18 บาท และจัดสรรหุ้นกู้ไม่มีประกันของลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บางส่วน หากหุ้นดังกล่าวมีราคา ณ วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการอันจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่การโอนหุ้นและออกหุ้นกู้ดังกล่าวก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดทั้งนี้เพราะแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 6.6 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้โดยการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จำนองเพื่อชำระเงินต้นค้างชำระตามแผน เจ้าหนี้ตามแผนยังคงมีสิทะในทางจำนองและจำนำเหนือทรัพย์หลักประกันตามสัญญาเดิมและ/หรือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประกันการชำระหนี้เงินต้นค้างชำระตามแผน ทั้งนี้การดำเนินการตามแผนฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ดังนั้นตราบใดที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามรายละเอียดที่กำหนดในแผน ภาระหนี้ของลูกหนี้ที่กำหนดในแผนที่มีต่อเจ้าหนี้แต่ละรายตามสัญญาเดิมยังไม่ระงับไป และหลักประกันเดิมของเจ้าหนี้ประเภทจำนอง จำนำ ค้ำประกันและหลักประกันประเภทอื่นๆ ของลูกหนี้ (ถ้ามี) ยังคงมีผลผูกพันลูกหนี้ บุคคลภายนอกและเจ้าหนี้” ซึ่งสอดคล้องตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสองที่บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลซึ่เห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/16 บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูกิจการ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนก็ได้” ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 รัฐมนตรีได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ พ.ศ. 2545 แล้วก็ตาม แต่มีบทเฉพาะกาลมิให้ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่มีการยื่นคำร้องของฟื้นฟูกิจการก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ดังนั้น ศาลจึงต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามหลักกฎหมายทั่วไปและความเหมาะสมในกิจการแต่ละรายไปเมื่อพิจารณาเอกสารแนบท้ายแผนฟื้นฟูกิจการหมายเลข 8 ซึ่งระบุชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผนตลอดจนผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแล้ว ผู้ทำแผนมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับเป็นผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และให้คำแนะนำหรือการใด ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูกิจการของผู้อื่น และผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารต่างมีความรู้ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาทางการเงินประธานกรรมการและกรรมการในบริษัทต่างๆ หลายแห่งด้วยกัน จึงน่าเชื่อว่าผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนมีความรู้ ความสามารถและความชำนาญทางด้านการบริหารงานพอสมควรแล้ว แม้ผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนจะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับกรรมการของลูกหนี้ซึ่งทำให้ลูกหนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรรมการของลูกหนี้บริหารงานหรือกระทำการทุจริตอันไม่ควารได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริหารแผน ข้ออ้างของเจ้าหนี้ที่ว่าผู้บริหารและคณะทำงานของผู้บริหารแผนเป้นบุคคลกลุ่มเดียวกับกรรมการของลูกหนี้จึงไม่เหมาะสมที่จะบริหารงานตามแผนต่อไปจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังว่าผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนไม่อาจปฏิบัติการตามแผนผื้นฟูกิจการให้ประสบผลสำเร็จได้
ดูย่อฏีกายาว
ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์
ดูภาพถ่ายต้นฉบับ ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 34, 90/2 วรรคสอง, 90/16, 90/57 และ 90/60วรรคสอง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 7093/2545
ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ซึ่งได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายตามห้างได้ ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 และเนื่องจากผู้คัดค้านต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. โดยไม่จำกัดจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่อาจต่อสู้คดีหรือนำสืบว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. หรือพิสูจน์ว่าตนมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และผู้คัดค้านเด็ดขาดโดยอ้างว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และผู้คัดค้านมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. เด็ดขาดแต่ยกฟ้องผู้คัดค้านโดยวินิจฉัยว่ามีเหตุอันสมควรที่จะไม่ให้ผู้คัดค้าน ล้มละลาย คดีถึงที่สุด ต่อมาศาลพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้จึงมีว่า ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหรือไม่ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยทั้งสองกรณีดังกล่าวจึงอาศัยเหตุต่างกัน การที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องดังกล่าวจึงมิใช่ฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้ผู้คัดค้านร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว และโจทก์ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. เป็นคดีล้มละลายภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่ง ย่อมมีผลทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ดังนั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้คัดค้านก็ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างดังกล่าวซึ่งเป็นวิธีจัดการเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของห้างนั้นชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของห้างตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยชอบ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายตามห้างเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่คดีแพ่งถึงที่สุดก็ตาม คำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวก็ไม่ขาดอายุความเพราะกรณีมิใช่หนี้สินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ผู้คัดค้านจะอ้างอายุความดังกล่าวได้
ป.พ.พ. ม. 193/14(2), 1070, 1077 (2)
ป.วิ.พ. ม. 148, 271
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 8 (9), 89, 153
- คำพิพากษาฎีกาที่ 7236/2545
เมื่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กำหนดให้ศาลเข้ามากำกับตรวจสอบ และอนุญาตให้มีการกระทำการต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไป มีอำนาจในการแต่งตั้ง ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน รวมทั้งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง กรณีจึงรวมถึงการอนุญาต หรือมีคำสั่งอื่นใดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย เช่นนี้ เมื่อเกิดปัญหาประการใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูกิจการและกฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คณะกรรมการเจ้าหนี้ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ทั้งแผนก็มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยชัดแจ้ง บุคคลที่เกี่ยวข้องมีสิทธิยื่นคำร้องเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวต่อศาลโดยตรงได้
การที่ผู้ทำแผนดำเนินคดีแก่ผู้ตรวจสอบรายงานการเงินและกรรมการของลูกหนี้โดยกล่าวอ้างกระทำละเมิดต่อลูกหนี้ เป็นเหตุให้ผู้ทำแผนคนเดิม ผู้ทำแผนคนใหม่ และผู้บริหารแผน ถูกบุคคลดังกล่าวฟ้องคดีข้อหาละเมิด ย่อมถือได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้ทำแผนคนเดิม เหตุนี้ค่าทนายความและค่าใช้จ่าย อันเกิดจากการต่อสู้คดีของผู้ทำแผนคนเดิม ผู้ทำแผนคนใหม่ และผู้บริหารแผน เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/62 (1) เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ผู้บริหารแผนสามารถนำเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ชำระค่าทนายความและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้
การที่กฎหมายให้ผู้ทำแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้ทำแผนจึงมีฐานะเป็นผู้แทนของลูกหนี้ในวันที่จะกระทำการใดๆ แทนลูกหนี้ในช่วงเวลาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้บังคับของมาตรา 90/45 ประกอบกับ มาตรา 90/14 (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 การที่ผู้ทำแผนคนเดิมฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ ผู้ตรวจสอบรายงานการเงินกับพวก โดยอ้างว่า กระทำละเมิดต่อลูกหนี้ นั้น กรณีมิใช่เป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินได้ หากว่ามีการแพ้คดี ผู้ทำแผนจะกระทำการดังกล่าวได้ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว การฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าว จึงอยู่ในขอบอำนาจ และกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ ความสัมพันธ์และความรับผิดระหว่างลูกหนี้กับผู้ทำแผน จึงต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 816
ป.พ.พ. ม. 77, 816
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/12 (9), 90/25, 90/62 (1)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 698/2546
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 นั้น แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในอันที่จะถูกปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้ อีกทั้งเมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้วก็มีผล ให้ลูกหนี้คงต้องรับผิดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/75 คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง ดังนั้น แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้ยกเลิกการ ฟื้นฟูกิจการตาม มาตรา 90/70 แต่เมื่อเจ้าหนี้ที่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไม่ได้ถอนอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ต้องพิจารณาคดีตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
ตามมาตรา 90/42 ทวิ ประกอบมาตรา 6 เมื่อจำนวนหนี้สูงกว่าราคาทรัพย์หลักประกันจำนวนหนี้ที่มีประกันของเจ้าหนี้มีประกัน ย่อมมีอยู่เฉพาะในมูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ส่วนหนี้จำนวนที่เหลือย่อมมีฐานะเป็น เจ้าหนี้ธรรมดา ในการพิจารณามูลค่าราคาหลักประกัน ศาลจะต้องพิจารณาถึงวงเงินจำนอง ราคาซื้อขายทรัพย์ หลักประกันในท้องตลาดตลอดจนวิธีการในการจัดการทรัพย์หลักประกันในการฟื้นฟูกิจการ
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 (9) บัญญัติว่า “ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี” หมายความว่า ระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนที่การบริหารแผนจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติและความคุ้มครองของ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ และภายใต้การควบคุมกำกับของศาลเพื่อให้ลูกหนี้มีฐานะพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเงินเข้าสู่สภาพที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งผู้ทำแผนสามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสมแต่ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 ปี
การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จำนวนเท่าใด อย่างไร ย่อมเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เช่นนี้เมื่อผู้บริหารแผนซึ่งมีหน้าที่ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ผู้บริหารแผนจึงต้องชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายตามคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนฟื้นฟูกิจการนั้น จนกว่าจะครบถ้วน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายต้องไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างหากจาก ข้อกำหนดในแผนก็ดี เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนต่อเมื่อได้ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วก็ดี ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อกำหนดนี้จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
แม้ข้อกำหนดบางส่วนในแผนตกเป็นโมฆะ หากข้อกำหนดดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญของแผน หรือบุคคล ที่เกี่ยวข้องมิได้ถือเอาข้อกำหนดดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ เมื่อข้อกำหนดในแผนที่เหลืออยู่ยังใช้บังคับได้ และ แผนฟื้นฟูกิจการที่ใช้บังคับได้ยังมีสาระสำคัญเพียงพอในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง
ป.พ.พ. ม. 150
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 6, 90/42, 90/42 ทวิ, 90/58, 90/59, 90/60, 90/70, 90/75
- คำพิพากษาฎีกาที่ 950/2546
คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในอันที่จะถูกปรับลด หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตลอดจนวิธีการในการชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขแผนโดยการแปลงหนี้เป็นทุนโดยออกหุ้นใหม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ก็หาใช่กรณีที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนตามที่เรียกร้องไม่ สิทธิในการอุทธรณ์คัดค้านของเจ้าหนี้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วจึงยังมีอยู่ ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
ที่มาตรา 90/58 บัญญัติว่า “ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า (1)… (2)… (3)…” หมายความว่า เมื่อแผนมีลักษณะครบถ้วนตามมาตรา 90/58 (1) ถึง (3) ถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ให้ศาลมีดุลพินิจที่จะให้ความเห็นชอบด้วยแผนได้ หาได้หมายความว่าถ้าแผนมีลักษณะครบถ้วนดังกล่าวแล้ว ศาลจะต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนทุกกรณีไป
การที่มาตรา 90/42 บัญญัติว่า ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย ไม่ได้หมายความเพียงว่า ให้ศาลพิจารณาดูรูปแบบว่ามีรายการแต่ละรายการหรือไม่ แต่ย่อมรวมถึงการพิจารณาว่ามีรายละเอียดของรายการดังกล่าวพอสมควรและถูกต้องหรือไม่ด้วย การที่แผนมิได้นำสิทธิเรียกร้องจำนวนมากมาระบุไว้ในแผน แผนมิได้ระบุกำหนดเวลาในการชำระหนี้ไว้ทั้งผู้บริหารแผนไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้บริหารแผนและค่าตอบแทนของผู้บริหารแผนนั้นสูงเกินสมควร ถือว่าแผนมีรายการไม่ครบถ้วน
การที่แผนกำหนดให้ลูกหนี้ไปพัฒนาที่ดินของเจ้าหนี้รายหนึ่งโดยไม่ได้กำหนดว่าลูกหนี้จะได้รับประโยชน์อย่างไร เมื่อลูกหนี้เข้าไปพัฒนาแล้วย่อมทำให้สิ่งปลูกสร้างเป็นส่วนควบของที่ดิน เจ้าหนี้รายดังกล่าวจึงได้รับประโยชน์มากกว่าเจ้าหนี้อื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน เป็นการขัดต่อมาตรา 90/58 (2) ประกอบมาตรา 90/42 ตรี
ในการพิจารณาว่า เมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ จะต้องนำรายละเอียดต่าง ๆ แห่งสินทรัพย์ หนี้สิน ตลอดจนภาระผูกพันต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณา คำว่า สินทรัพย์ นั้นย่อมรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องด้วย เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องอยู่จำนวนมาก แผนจะต้องนำสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาจัดบริหารเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้
การที่ลูกหนี้ได้ขายเงินลงทุน (หุ้น) ไปในราคาต่ำมากก่อนที่จะทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ผู้ทำแผนซึ่งมีกรรมการเป็นบุคคลเดียวกับบริษัทลูกหนี้มิได้เสนอแผนฟื้นฟูกิจการในแนวทางเดียวกับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ทั้งผู้ทำแผนมิได้ยืนยันความถูกต้องของรายการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับกำหนดไว้ในแผนว่าผู้ทำแผนไม่ขอรับผิดในความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฉ้อฉล พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปในทางไม่สุจริต
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1669/2546
บริษัทจัดการกองทุนรวมมีอำนาจตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่จะฟ้องให้บริษัทหลักทรัพย์ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ขายให้กองทุนรวมได้
การบังคับให้เป็นไปตามสิทธิเรียกร้องกับการจะได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นหรือไม่ เพียงใด เป็นคนละเรื่องคนละตอน เช่น สิทธิฟ้องร้องทางเจ้าหนี้อาจจะเกิดขึ้นขึ้นแล้ว แต่การจะบังคับเอากับทรัพย์สินใด หากทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบุริมสิทธิที่เจ้าหนี้อื่นจะได้รับชำระหนี้ก่อน เจ้าหนี้สามัญก็ย่อมจะได้รับชำระหนี้ในภายหลังเป็นขั้นเป็นตอนในชั้นบังคับคดี เมื่อฟังได้ว่า บริษัทจำเลยถูกกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว และแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จำเลยจึงต้องเลิกกิจการและชำระบัญชี ตาม พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวน ทั้งตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 26 บัญญัติแต่เพียงห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเป็นคดีล้มละลายในระหว่างการดำเนินการตามแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ปรส. เท่านั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ตามสิทธิของโจทก์ จำเลยได้รับหนังสือแล้วกลับเพิกเฉย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
บทบัญญัติตาม พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดำเนินการและชำระบัญชีที่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) แต่งตั้งตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 โดยขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การ ปรส. เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ เมื่อกรณีของโจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่กรณียื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าว แต่เป็นกรณีเจ้าหนี้ยื่นฟ้องต่อศาลและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันที่ พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไปได้
พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ม. 121, 124, 125, 127
พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 ม. 26, 30
พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ม. 5
พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ม. 145
ป.วิ.พ. ม. 55
ป.พ.พ. ม. 453
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4191/2546
มาตรา 90/20 วรรคสี่ และมาตรา 90/24 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 กำหนดว่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งผู้ทำแผนแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องดำเนินการโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายไม่น้อยกว่าสองฉบับเพื่อเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ฉะนั้นกำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามมาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องถือเอาวันที่ได้มีการโฆษณาคำสั่งต่อสาธารณชนเป็นสำคัญ หากวันโฆษณาในราชกิจจานุเบกษากับวันโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่ตรงกัน ต้องนับวันที่ประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาซึ่งลงประกาศเป็นฉบับหลังสุด
เมื่อการลงโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษาไม่ได้ความชัดแจ้งว่าได้นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อใด จึงต้องนับเอาวันที่ได้จัดพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้วเสร็จและนำออกเผยแพร่ให้สมาชิกรับไปเป็นวันเริ่มต้นนับระยะเวลาวันยื่นคำขอรับชำระหนี้
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/20 วรรคสี่, 90/24 วรรคสอง, 90/26 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4272/2546
เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ปรากฏว่า เจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งคัดค้าน เจ้าหนี้รายที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงเต็มจำนวนตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้นั้น ตามมาตรา 90/30 เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่มิได้ลงมติยอมรับแผนตามมาตรา 90/57 จึงมีสิทธิคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนได้ และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนอันไม่เป็นไปตามข้อคัดค้านของเจ้าหนี้และเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของเจ้าหนี้ เมื่อได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางแล้ว เจ้าหนี้รายที่ 3 จึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้
การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้เจ้าหนี้รายที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เพียงรายเดียวในเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 และเป็นเจ้าหนี้การค้ารายใหญ่เหมือนเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และที่ 8 ถูกลดหนี้ต้นเงินลงเพียงรายเดียว และให้ได้สิทธิการชำระเงินจากบริษัท ส. แทนที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้อันเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษา ซึ่งพิพากษาว่าลูกหนี้ไม่มีสิทธินำเงินที่ตนเป็นเจ้าหนี้มาหักกับเงินที่ต้องชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ และเมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน และเจ้าหนี้การค้ารายใหญ่ เช่นเดียวกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และที่ 8 การที่แผนได้นำเจ้าหนี้รายที่ 3 เพียงรายเดียวไปจัดเป็นกลุ่มเจ้าหนี้ต่างหาก และได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกับกลุ่มอื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันถือว่ามีความมุ่งหมายที่จะเลือกปฏิบัติ พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปในทางไม่สุจริต แผนฟื้นฟูกิจการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/30, 90/57, 90/58
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4515/2546
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกโจทก์ฟ้องให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน แม้ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณา แต่ก็มีผลเพียงให้ศาลชั้นต้นงดการพิจารณาคดีของจำเลยที่ 1 ไว้ก่อนเท่านั้น ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 และหากต่อมาความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จะลดลงตามแผนฟื้นฟูกิจการก็ไม่มีผลกระทบต่อความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวน ตามมาตรา 90/60 วรรคสอง
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/12 และ 90/60
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4636/2546
ตามบทบัญญัติมาตรา 90/6 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีสาระสำคัญประการหนึ่งที่จะต้องแสดงในคำร้องขอ ก็คือผู้ร้องขอจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ทั้งหลายด้วยเหตุที่ว่า เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอแล้วให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบ ตามมาตรา 90/9 วรรคหนึ่ง เพื่อเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านตามมาตรา 90/9 วรรคสาม และเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายไม่น้อยกว่า 2 ฉบับ ตามมาตรา 90/20 วรรคสี่ นอกจากนั้นยังต้องแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบ ตามมาตรา 90/24 วรรคสอง และวรรคสาม เพื่อให้เจ้าหนี้เหล่านั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 90/26
ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้สั่งซื้อจากเจ้าหนี้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2543 ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2544 ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการแต่มิได้ระบุชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้รายนี้ในบัญชีเจ้าหนี้ที่เสนอต่อศาล ทั้งที่ลูกหนี้ทราบชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ในขณะยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการเป็นอย่างดีแล้ว นอกจากนั้นหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มีการเจรจาเรื่องการชำระหนี้สินระหว่างกันเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2544 ที่เมืองย่างกุ้ง สหภาพพม่า การที่ลูกหนี้ละเลยไม่ระบุชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ในบัญชีเจ้าหนี้ จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 90/6 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้เพราะเป็นเหตุให้ศาลไม่อาจส่งสำเนาคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการแก่เจ้าหนี้ ตามมาตรา 90/9 วรรคหนึ่ง และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาเสนอคำขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ทราบได้ ตามมาตรา 90/24 วรรคสองและวรรคสาม เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ทราบคำสั่งตั้งผู้ทำแผน และกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อนหน้านี้ กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกินกำหนด 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนไว้พิจารณา
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/6, 90/9, 90/20, 90/24 และ 90/26
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4637/2546
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง เป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของผู้ร้องตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/13 (1) ประกอบมาตรา 90/12 (4) เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ถือว่าเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/79 แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยอ้างว่า มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ทั้ง ๆ ที่คำร้องได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มูลหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ทั้งเป็นคำสั่งซึ่งกระทำโดยผู้พิพากษาคนเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด ศาลฎีกาเห็นสมควรรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 26
ผู้ร้องอ้างว่า ลูกหนี้ผิดสัญญา จึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากลูกหนี้ ย่อมเป็นกรณีที่ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน จึงต้องห้ามตามมาตรา 90/12 (4) แต่ผู้ร้องอาจมีคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนได้ตามมาตรา 90/13 หากข้อจำกัดสิทธินั้นไม่มีความจำเป็นในการฟื้นฟูกิจการ คดีนี้เมื่อมูลหนี้ระหว่างผู้ร้องและลูกหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ร้องไม่อาจขอคุ้มครองสิทธิด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/27 ถือได้ว่าการจำกัดสิทธิมิให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นกรณีที่ไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/13 (1) ศาลฎีกาเห็นสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/13 ประกอบมาตรา 90/12 (4)
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/12 (4), 90/13, 90/27
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ม. 26
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5124/2546
จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินโดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบกิจการบริษัทเงินทุนเป็นผู้รับอาวัลให้แก่โจทก์ แม้ก่อนที่ตั๋วสัญญาใช้เงินจะถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ และต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (คณะกรรมการ ปรส.) ได้มีประกาศเรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ก็ตาม คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าวมิได้มีผลให้หนี้ระหว่างจำเลยที่ 2 และโจทก์ระงับไป จำเลยที่ 2 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่เช่นเดิม ส่วนการบังคับชำระหนี้จะดำเนินการโดยวิธีใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 26 แห่ง พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะเห็นได้ชัดเจนว่า กฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่เฉพาะจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลาย ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ปรส. ไม่ได้เท่านั้น ส่วนประกาศของคณะกรรมการ ปรส. ว่าด้วยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ก็มิได้บังคับว่า เจ้าหนี้จะต้องยื่นขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการ ปรส. เท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5189/2546
คดีล้มละลายเป็นคดีที่ฟ้องให้จัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้น การพิจารณาคดีล้มละลายไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะชี้ขาดหรือพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยเฉพาะจึงย่อมผิดแผกแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญเพราะประเด็นสำคัญในคดี
ล้มละลายมีอยู่ว่าจำเลยซึ่งถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้โจทก์จำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท สำหรับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หรือไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท สำหรับจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล หรือไม่ หากศาลพิจารณาได้ความจริงเช่นนั้นก็ต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด หากพิจารณาไม่ได้ความจริงหรือแม้ได้ความจริงแต่จำเลยนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้อง ดังนั้นการพิจารณาคดีล้มละลายศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาได้เพียง 2 ประการ คือ มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษายกฟ้องตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 เท่านั้น โดยไม่เปิดช่องให้ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นอื่นใดนอกเหนือไปจากที่กล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กระทำหรือไม่กระทำการใดได้อีกเพราะเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธหนี้สินที่โจทก์อ้างให้รับผิดตามสัญญารับผิดชดใช้หนี้เพราะสัญญาดังกล่าวปลอม จึงมีประเด็นที่โจทก์ต้องนำสืบถึงหนี้สินตามสัญญารับผิดชดใช้หนี้ ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วเชื่อว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอมดังที่จำเลยให้การต่อสู้ ศาลก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอม
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 14
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ม. 14
ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสาม
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6798/2546
ข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ว่า เมื่อแผนได้รับการอนุมัติแล้ว ขอให้ไม่ฟ้องผู้ค้ำประกัน เมื่อพิจารณาประกอบคำชี้แจงและคำแก้อุทธรณ์ของผู้บริหารแผน ซึ่งยืนยันว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการขอร้องหรือขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้มิให้ฟ้องผู้ค้ำประกันในระหว่างระยะเวลาบริหารแผน มิใช่กำหนดห้ามฟ้องหรือจำกัดสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากผู้ค้ำประกัน ข้อกำหนดดังกล่าวมีลักษณะเพียงการขอร้องเจ้าหนี้มิได้มีสภาพบังคับสิทธิของเจ้าหนี้ที่มีอยู่ต่อผู้ค้ำประกันตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งเพียงใด เจ้าหนี้ย่อมใช้สิทธินั้นได้อย่างเต็มที่มิได้ถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดในแผนแต่อย่างใด แผนจึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง
หนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 ที่ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการทุกราย มีการของดดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ส่วนต้นเงินจะมีการแปลงหนี้เป็นทุน แผนจึงกำหนดให้เจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 (2) ประกอบกับมาตรา 90/42 ตรี แล้ว ส่วนที่แผนกำหนดแบ่งเงินพิเศษสำหรับสินเชื่อใหม่แก่สถาบันการเงิน 3 แห่ง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 4 เช่นกัน เนื่องจากสถาบันการเงินทั้งสามได้นำเงินที่สถาบันการเงินดังกล่าวได้รับจากโครงการที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ตนแล้วมาให้เป็นสินเชื่อใหม่ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของลูกหนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนได้ก่อให้เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/62 หนี้ส่วนนี้ย่อมมีสถานะแตกต่างจากหนี้จำนวนอื่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและมีการกำหนดไว้ในแผน การที่แผนกำหนดให้มีการคืนหนี้ส่วนนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งสามรายก่อน จึงเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/58 (2), 90/60 วรรคสอง, 90/62
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6858/2546
การที่จะพิจารณาว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลจะต้องพิจารณาถึงสถานะทางการเงินของลูกหนี้ว่า มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือไม่ ในการพิจารณาดังกล่าวจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกัน อาจเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสันนิษฐานในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 หรืออาจจะเป็นข้อเท็จจริงใด ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ในการพิจารณาถึงสถานะที่แท้จริงของลูกหนี้ บัญชีงบดุลของลูกหนี้ เป็นพยานหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่แสดงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าหากว่าการจัดทำบัญชีงบดุลนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กฎหมายกำหนดหรือมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสมาคมวิชาชีพนั้น ย่อมมีน้ำหนักในการรับฟัง
เมื่อธุรกิจของลูกหนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สาเหตุที่ลูกหนี้ประสบปัญหาทางด้านการเงินมาจากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการชะงักงันของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมก่อสร้าง อันถือว่าเป็นปัจจัยภายนอก การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้สามารถรักษาองค์กรทางธุรกิจให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งสามารถจะรักษาการจ้างงานจำนวนมากไว้ กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และได้ความว่ากิจการของลูกหนี้ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยการปรับโครงสร้างทางการเงินทั้งในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ธนาคาร และสถาบันการเงินต่าง ๆ กรณีจึงมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ในการตั้งผู้ทำแผน เมื่อผู้ร้องขอเสนอให้ตั้งบริษัท บ. เป็นผู้ทำแผน ส่วนลูกหนี้เสนอให้ตั้งบริษัท ป. จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านได้เสนอให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนมาด้วย ศาลจึงไม่อาจพิจารณาและมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้ทำแผนในชั้นนี้ได้ จะต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/17
เมื่อผู้ร้องขอมิได้เสนอบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้บริหารชั่วคราว ประกอบกับผู้บริหารของลูกหนี้ได้บริหารกิจการของลูกหนี้มาตั้งแต่ต้นย่อมเป็นบุคคลที่ทราบข้อเท็จจริง ปัญหา ตลอดจนระบบการทำงานของลูกหนี้ได้เป็นอย่างดี เมื่อไม่ปรากฏเหตุที่ไม่สมควรตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวประกอบกับการตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวในระหว่างดำเนินการเพื่อตั้งผู้ทำแผนจะทำให้การบริหารงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงสมควรตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว ตามมาตรา 90/20 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/3, 90/10, 90/17, 90/20
- คำพิพากษาฎีกาที่ 7031/2546
การที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ที่อยู่ในกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการนั้น แบ่งตามมูลหนี้ที่เกิดขึ้นเป็น 3 ช่วง กล่าวคือ ช่วงแรก มูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและหนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน อันเจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 90/26 และมาตรา 90/27 ช่วงที่สอง หนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจนถึงก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน หากว่าหนี้ส่วนนี้มิได้กำหนดไว้ในแผนเป็นอย่างอื่น เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งได้ โดยอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 90/12 (4) (5) และมาตรา 90/13 ช่วงที่สาม หนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/62
เมื่อหนี้ของเจ้าหนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว และแผนฟื้นฟูกิจการมิได้กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ เจ้าหนี้จึงหาอาจมีคำขอในคดีฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางให้สั่งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวได้ไม่
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/26, 90/27, 90/62
- คำพิพากษาฎีกาที่ 7581/2546
การพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ตรี หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงสิทธิของเจ้าหนี้ต่าง ๆ ที่แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งอยู่ต่างกลุ่มกัน เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ แผนสามารถกำหนดให้เจ้าหนี้ต่างกลุ่มกัน ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันได้
การที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้ย่อมมีบุริมสิทธิในอันที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์หลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งในการฟื้นฟูกิจการ กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอันเกิดจากความล่าช้าในการบังคับคดี ให้ได้รับความคุ้มครองในเหตุที่มูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันลดลงตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/13 (2) และมาตรา 90/14 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีความสำคัญ และมีข้อต่อรองมากกว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เพราะเจ้าหนี้มีประกันมีหลักประกันยึดถือไว้ หากแผนฟื้นฟูกิจการไม่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ มีประกันอย่างเพียงพอ เจ้าหนี้ก็อาจขออนุญาตใช้สิทธิบังคับขายหลักประกัน ประกอบกับทรัพย์หลักประกัน ที่เป็นเครื่องจักรย่อมมีการเสื่อมสภาพ เสื่อมราคาและราคาลดลงอย่างรวดเร็ว หากกำหนดให้เจ้าหนี้มีประกัน ได้รับชำระหนี้พร้อมกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะทำให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับความเสียหาย
ลูกหนี้มีความสัมพันธ์กับบริษัท ร. โดยลูกหนี้ถือหุ้นในบริษัท ร. ร้อยละ 99.9 ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ในคดีนี้ ส่วนบริษัท ร. ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ การที่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดที่บริษัท ร. เป็นลูกหนี้ชั้นต้นและลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันจะได้รับชำระหนี้ตลอดจนการพิจารณาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จากสินทรัพย์ของทั้งสองบริษัท จะต้องมีความสัมพันธ์กันและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้โดยรวม
การอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนถือว่าเป็นการอุทธรณ์คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ม. 90/13, 90/14, 90/42 ตรี
- คำพิพากษาฎีกาที่ 110/2547
ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ กำหนดให้ผู้ทำแผนส่งแผนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่าจะยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการนั้นหรือไม่ เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการแล้วก็ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่งว่าแผนที่ผู้ทำแผนเสนอมานั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อมีข้อคัดค้านของเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ผู้ทำแผนจึงมีหน้าที่พิสูจน์ว่าแผนฟื้นฟูกิจการนั้นชอบด้วยกฎหมายและศาลควรมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
ในการพิจารณาปัญหาว่าเมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้ว จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบจำนวนเงินหรือประโยชน์ที่เจ้าหนี้แต่ละรายซึ่งมิได้ลงมติยอมรับแผนจะได้รับในการฟื้นฟูกิจการ กับจำนวนเงินหรือประโยชน์ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวจะได้รับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ในการพิจารณาปัญหาดังกล่าวนี้การที่ทรัพย์สินของลูกหนี้จะมีราคาประเมินเพียงใด จึงเป็นสาระสำคัญ
แม้ว่าการกำหนดหรือวินิจฉัยราคาประเมินทรัพย์สินของลูกหนี้แต่ละช่วงจะไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาในช่วงอื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อมีการประเมินราคาทรัพย์สินโดยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ราคาประเมินย่อมแตกต่างกันได้ แต่คดีนี้มีการประเมินตีราคาทรัพย์สินในเวลาที่ต่างกันเพียงประมาณ 5 ถึง 6 เดือน ทรัพย์สินส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงที่ดินเปล่าหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในการประเมินมีราคาแตกต่างกันถึง 2,000 ล้านบาท กรณีจึงต้องมีเหตุอันสมควรและอธิบายถึงความแตกต่างดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ทำแผนก็มิได้แสดงเหตุดังกล่าวโดยชัดแจ้ง การประเมินราคาครั้งหลังเพื่อจัดทำแผน จึงไม่มีน้ำหนัก
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/58 (3)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 252/2547
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/25 จึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าชดเชยต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างแต่ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว
ป.พ.พ. ม. 823
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/25
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ม. 5
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1239/2547
เมื่อพิจารณา พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/63 วรรคหนึ่งและวรรคสามแล้วจะเห็นได้ว่าในการขอแก้ไขแผนหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วนั้น หากมีเหตุอันสมควรและมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ศาลใช้เป็นเหตุในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริหารแผนซึ่งเป็นบุคคลที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบจะต้องปฏิบัติและดำเนินการตามแผนให้สำเร็จลุล่วงไปเพียงผู้เดียวมีอำนาจที่จะเสนอขอแก้ไขแผนนั้นได้ โดยยื่นข้อเสนอนั้นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณา หากที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผนดังกล่าวนั้นตามมาตรา 90/46 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องรายงานศาลเพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่
การที่แผนปรับโครงสร้างหนี้ทางการเงินกำหนดว่าคณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการตกลงเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญหรือแก้ไขเอกสารปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เมื่อนำมาพิจารณาประกอบอำนาจของคณะกรรมการเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/55 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/67 เห็นได้ว่า คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการเสนอแนะและสอดส่องให้ผู้บริหารแผนดำเนินการปฏิบัติไปตามแผนแทนเจ้าหนี้ทั้งหลายเท่านั้น หาได้มีอำนาจในการที่จะเสนอขอแก้ไขแผนด้วยตนเองไม่ ตามที่แผนกำหนดให้คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการตกลงเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญหรือแก้ไขเอกสารปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ ก็หมายความเพียงว่า เมื่อเข้าเงื่อนไขในการขอแก้ไขแผนแล้ว คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการเสนอเรื่องดังกล่าวให้ผู้บริหารแผนดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/63 ได้ แต่ขณะเดียวกัน เมื่ออำนาจในการเสนอขอแก้ไขแผนนั้นเป็นอำนาจของผู้บริหารแผนโดยตรง ผู้บริหารแผนเองก็ย่อมมีอำนาจในการที่จะเสนอขอแก้ไขแผนตามที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นกัน และเมื่อผู้บริหารได้ยื่นข้อเสนอขอแก้ไขแผนแล้ว การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผน การลงมติของที่ประชุมเจ้าหนี้จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/63
เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขแผนให้เกิดความชัดเจนสามารถปฏิบัติได้และสอดคล้องกับความประสงค์ของเจ้าหนี้ ทั้งเจ้าหนี้เกือบทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขแผนได้ยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผนนั้นแล้ว ชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน ไม่มีเจ้าหนี้คัดค้าน ข้อเสนอขอแก้ไขแผนดังกล่าวไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/58 กรณีจึงสมควรเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผน
พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ ม. 90/55 , ม. 90/63
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2349/2547
โจทก์เป็นนิติบุคคลฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แล้วโจทก์ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย แม้จะถือว่าโจทก์สิ้นสภาพบุคคลก็หาได้มีกฎหมายบัญญัติว่า ในคดีอาญานั้นเมื่อโจทก์สิ้นสภาพบุคคลหรือตายแล้ว ให้คดีอาญาระงับไปคงมีแต่คดีอาญาเลิกกันและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 และมาตรา 39 กับคดีอาญาเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 เท่านั้น คดีนี้เป็นคดีอาญาอยู่ระหว่างรอการอ่าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังมีผลบังคับอยู่ จะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 132 (3) มาใช้บังคับมิได้ เมื่อโจทก์มิได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความ หรือมีเหตุทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ และจำเลยทั้งสอง มิได้นำเงินตามจำนวนในเช็คมาชำระภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับหนังสือจากผู้ทรงว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คหรือมูลหนี้ที่ออกเช็คสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยทั้งสองจะขอให้ศาลจำหน่ายคดีหาได้ไม่
สำหรับปัญหาการส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์กรณีที่โจทก์ไม่มีตัวตน หรือไม่มีผู้เข้าดำเนินคดีแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 201 ประกอบมาตรา 216 ก็ได้บัญญัติแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3747/2547
ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ส่วนลูกหนี้มีเงินฝากอยู่กับผู้คัดค้านตามบัญชีเงินฝากรวม 2 บัญชี โดยผู้คัดค้านรับฝากเงินไว้ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เงินฝากดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านตั้งแต่มีการฝากเงิน ลูกหนี้ผู้ฝากเงินมีสิทธิที่จะถอนเงินฝากไปได้และผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบตามจำนวนที่ขอถอน ถึงเห็นกรณีที่ผู้คัดค้านกับลูกหนี้ต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกันอยู่ในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้คัดค้านจึงใช้สิทธินำเงินฝากทั้งสองบัญชีดังกล่าวของลูกหนี้มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/33 ภายหลังที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการแต่ก็เป็นช่วงเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าว ซึ่งเจ้าหนี้ยังไม่ถูกผูกมัดให้ได้รับชำระหนี้ตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในแผนตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. ลัมละลายฯ ม. 90/33, 90/60 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3907/2547
ในคดีล้มละลายคดีก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ 2 นับแต่วันดังกล่าว คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นอันถูกยกเลิกไป การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายเป็นคดีนี้ในมูลหนี้ ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้แล้ว จนกระทั่งต่อมาศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 15 แต่อย่างใด
การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดในคดีนี้ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ผ่อนชำระหนี้ในการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายในคดีก่อนทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้ เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่ขอรับชำระหนี้ไว้แล้วในคดีก่อนย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในคดีนี้โดยแจ้งความประสงค์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้ทราบ
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 15, 47, 60, 91
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5414/2547
ผู้ร้องเป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของลูกหนี้อยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จึงอยู่ในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้ตามบทนิยามใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/1 เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้ย่อมสิ้นสุดลง การเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 90/20 วรรคหนึ่ง มาตรา 90/25 และมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง
ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ การกำหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริหารของลูกหนี้ ย่อมเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท หรือมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 90 เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและข้อบังคับของลูกหนี้มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น อำนาจดังกล่าวย่อมตกแก่ผู้บริหารแผน การที่ผู้บริหารแผนออกคำสั่งให้งดจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารของลูกหนี้ เนื่องจากหมดอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่อยู่ในกรอบอำนาจของผู้บริหารแผนที่จะกระทำได้
ตามมาตรา 90/20 วรรคหนึ่ง มาตรา 90/25 ประกอบกับมาตรา 90/74 และมาตรา 90/75 คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการมิได้ทำให้สถานะผู้บริหารของลูกหนี้สิ้นสุดไปแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงให้มีการพักการใช้อำนาจในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการเป็นการชั่วคราวเท่านั้น
การที่ผู้ร้องมีฐานะเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของลูกหนี้ ถือว่าผู้ร้องเป็นผู้บริหารสูงสุดในการดำเนินธุรกิจ จัดการกิจการของลูกหนี้และเมื่อผู้ร้องดำเนินกิจการของลูกหนี้ในฐานะดังกล่าวแล้ว จะต้องรายงานผลการดำเนินงานให้แก่คณะกรรมการของลูกหนี้ทราบ การที่ผู้ร้องดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของลูกหนี้ ถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของลูกหนี้อยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จึงถือเป็นการกระทำในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้เช่นกัน
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 90/1, 90/20, 90/25, 90/59, 90/74, 90/75
พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ม. 90
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6323/2547
การยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกเป็นเรื่องที่ผู้ร้องในฐานะผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจกระทำเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก มิใช่เรื่องการจัดการทรัพย์สิน การฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดอันเกี่ยวกับทรัพย์ของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย จึงไม่เป็นการกระทำของคนล้มละลายที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22, 24 และ 25 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้
ป.พ.พ. ม. 1713
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 22, 24, 25
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6740/2547
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์มีข้อความว่า บริษัทไอบีเอ็มประเทศไทย จำกัด โดยนายพงศ์ศักดิ์ ตัณสถิตย์ ขอมอบอำนาจให้ นาย ว. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนในกิจการดังต่อไปนี้ คือ ข้อ 1. ให้มีอำนาจดำเนินคดีแพ่ง อาญา และคดีล้มละลายกับบริษัทโรงแรมรอยัลเลควิล จำกัด ข้อ 2. ฟ้องคดีในเรื่อง ข้อหา ฐานความผิด กับบุคคลดังกล่าว ข้อ 1. ต่อศาลทั่วราชอาณาจักร… ข้อความตามที่ระบุดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์มอบอำนาจเฉพาะการมิใช่มอบอำนาจทั่วไปและระบุให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น นาย ว. ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 การที่ทนายโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายไว้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2