ทนายคดีเช็ค
ทนายความคดีเช็ค
คำพิพากษาฎีกาที่ 14/2498
โจทก์ขายสิทธิเรียกร้องเงินเหรียญฮ่องกง ให้จำเลยโดยโจทก์ออกตั๋วแสดงว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องจำนวนเงินเหรียญดังกล่าวจากอีกบริษัทหนึ่ง และจำเลยสัญญาจะจ่ายเงินไทยให้โจทก์ตามอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเอกสารนั้นไม่ระบุว่าเป็นตั๋วแลกเงินประเภทใดและไม่มีลักษณะให้เห็นว่าเปลี่ยนมือกันได้จึงไม่มีสภาพเป็นตั๋วเงินแและถืออายุความ 3 ปี อย่างตั่วเงินไม่ได้
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 164, 898, 899, 910, 909, 1001 ป.วิ.แพ่ง ม. 59(1)
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 628/2504
คดีที่โจทก์ฟ้องในฐานะผู้สลักหลังตั๋วเงินไล่เบี้ยเอาจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สลักหลังด้วยกันต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้สลักหลัง หาใช่ผู้ทรงเช็คในขณะนั้น อายุความฟ้องร้องจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003 หาใช่มาตรา 1002 ไม่ และจำเลยจะถือเอาข้อความที่โจทก์เริ่มคำฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คว่าโจทก์ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้ทรงเช็คโดยไม่คำนึงถึงข้อความที่โจทก์กล่าวอธิบายฟ้องต่อไปอีก หาได้ไม่
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 1002, 1003
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 799/2510
เช็ครายพิพาทจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย โดยมิได้เขียนว่ากระทำแทนห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลแสงอุทัย จำเลยจึงต้องเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900, 901 การที่จำเลยขอสืบว่า จำเลยเซ็นสั่งจ่ายในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลแสงอุทัยนั้น แม้จำเลยจะสืบได้ จำเลยก็หาหลุดพ้นความรับผิดตามเช็คนั้นไม่
เช็ครายพิพาทมีชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน และโจทก์มีเช็ครายพิพาทไว้ในความครอบครอง นอกจากนี้เช็ครายพิพาทมีคำจดแจ้งว่าหรือให้ใช้เงินแก่ผู้ถือและฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ถือ ฉะนั้น โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คทั้งในฐานะผู้มีชื่อเป็นผู้รับเงินและในฐานะเป็นผู้ถือเช็ครายพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 ข้อความในเช็ครายพิพาทมิได้ระบุว่าโจทก์รับเงินในฐานะเป็นตัวแทนผู้ใด ฉะนั้น แม้จำเลยจะนำสืบได้ว่าโจทก์รับเงินในฐานะเป็นตัวแทนบุคคลอื่น จำเลยก็หาพ้นความรับผิดไม่
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 900, 901, 904, 797 ป.วิ.พ. ม. 183
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 393/2518
จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทได้แก้วันที่ลงในเช็คสองครั้ง ครั้งสุดท้ายวันที่ 1 ธันวาคม 2513 โจทก์ฟ้องคดีเรียกเงินตามเช็ควันที่ 25 พฤศจิกายน 2514 จึงไม่พ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ตั๋วเงินถึงกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002
ผู้สลักหลังเช็คเป็นประกันการใช้เงินตามเช็คนั้นต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับผู้สั่งจ่ายตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940, 967, 989
กำหนดเวลาที่ต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 เป็นเรื่องเงือนไขแห่งสิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลังโอนเช็คเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้ทรงเช็คใช้สิทธิไล่ เบี้ยต่อผู้สลักหลังเช็คเป็นประกันซึ่งต้องผูกพันในฐานะผู้รับอาวัลด้วย
โจทก์เพิ่งนำเช็คไปยื่นต่อธนาคาร เพื่อให้ใช้เงินหลังวันที่ลงในเช็คและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์เพราะเหตุผิดนัดแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 204, 224, 940, 967, 989, 990, 1002
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 490/2518
จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวนหนึ่ง และต่อมาได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี ระหว่างการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ยอมรับใช้เงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้ลงนามเป็นผู้รับอาวัลในตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ดังนี้ แม้ห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกกันแล้ว ก็ยังไม่สิ้นสภาพเป็นนิติบุคคล เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 ให้ถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี เมื่อจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ในระหว่างการชำระบัญชี โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ชำระบัญชีด้วยเป็นผู้แทนและเป็นผู้รับอาวัลในฐานะส่วนตัวด้วย จำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 บัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาสามปีนับแต่วันตั๋วนั้น ๆ ถึงกำหนดใช้เงิน โดยไม่ได้ระบุถึงอายุความฟ้องร้องผู้รับอาวัล แต่มาตรา 940 วรรคแรก บัญญัติว่าผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน ดังนี้ จึงต้องใช้มาตรา 1001 บังคับแต่จำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลด้วยจะนำมาตรา 1002 ซึ่งใช้บังคับแก่ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังตั๋วเงินมาใช้บังคับไม่ได้ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่พ้นเวลา 3 ปี นับแต่วันตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดคดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 940, 985, 1001, 1002, 1249 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 514/2518
อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนด 3 ปีนับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นถึงกำหนดใช้เงิน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1001 ส่วนมาตรา 1002 เป็นบทบัญญัติที่ให้ผู้ทรงตั๋วเงินฟ้องผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่าย แม้คำว่าตั๋วเงินจะหมายถึงตั๋วสัญญาใช้เงินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 892 ด้วยก็ตาม แต่กรณีตั๋วสัญญาใช้เงินจะอยู่ในบังคับของมาตรา 1002 ก็ต่อเมื่อเป็นการฟ้องผู้สลักหลังเท่านั้น ส่วนที่มาตรา 1002 บัญญัติถึงกรณีที่ผู้ทรงตั๋วเงินฟ้องผู้สั่งจ่ายนั้นก็หมายถึงเฉพาะผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและเช็ค เพราะในกรณีตั๋วสัญญาใช้เงินกฎหมายใช้คำว่าผู้ออกตั๋ว หาได้ใช้คำว่าผู้สั่งจ่าย ดังในกรณีตั๋วแลกเงินและเช็คไม่ ทั้งการฟ้องผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินก็มีบัญญัติไว้ในมาตรา 1001 แล้ว
จำเลยตกลงกับโจทก์ท้ากันให้ศาลวินิจฉัยเรื่องอายุความฟ้องร้องประเด็นอื่นไม่ติดใจโต้เถียงกันต่อไป ดังนี้จะกลับมารื้อฟื้นประเด็นข้ออื่นซึ่งไม่ติดใจโต้เถียงกันแล้วให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาวินิจฉัยอีกหาได้ไม่
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 898, 1001, 1002 ป.วิ.พ. ม. 138, 183
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 1009/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 989 ให้นำมาตรา 910 ในเรื่องตั๋วเงินมาใช้บังคับในเรื่องเช็คด้วย ซึ่งมาตรา 910 วรรค 5 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ และตามวรรคหนึ่งบัญญัติว่า ตราสารที่มีรายการขาดตกบกพร่องในเรื่องเช่นนี้ เป็นข้อยกเว้นไม่ถือว่าเป็นตั๋วเงินที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเพียงเพราะเหตุที่เช็คไม่ได้ลงวันที่ไว้จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นโมฆะ และการที่จำเลยเอาเงินโจทก์ไปแล้วเขียนเช็คพิพาทที่ยังไม่ได้ลงวันที่มอบให้โจทก์ไว้ ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันที่เอาตามที่โจทก์จะเห็นสมควรเพื่อเรียกเงินตามเช็คเอามาชำระหนี้โจทก์นั่นเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างใด เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
อายุความตามมาตรา 1002 ซึ่งให้นับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนดนั้น สำหรับในกรณีเรื่องเช็คก็คือวันที่ลงในเช็คนั่นเอง
การที่จำเลยจะเอารถยนต์ตีราคาใช้หนี้โจทก์ได้นั้นก็ต่อเมื่อโจทก์ยอมรับเอารถยนต์นั้นเป็นการชำระหนี้แทนเงิน และการที่หนี้จะระงับไปด้วยการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นแทนเงินเช่นนี้ ย่อมจะต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ที่ส่งมอบ จะถือเอาราคาที่ตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้าหาได้ไม่
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 321, 656 วรรคสอง, 910, 989, 1002
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 2543/2521
โจทก์และจำเลยกับพวกอีกหลายคนร่วมกันเล่นแชร์ เช็คพิพาทจำเลยออกให้ จ.หัวหน้าวงแชร์โดยมีมูลหนี้เนื่องในการเล่นแชร์โดยจำเลยประมูลแชร์ได้ ต่อมาโจทก์ได้เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริต จำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าโจทก์ทรงเช็คโดยไม่สุจริต แต่จำเลยก็มิได้กล่าวถึงเหตุที่อ้างว่าไม่สุจริตอย่างใด จึงไม่มีรายละเอียดที่จะนำสืบตามข้อต่อสู้ได้ และแม้จำเลยจะต่อสู้ว่า จ.รับเอาเช็คพิพาทจากจำเลย แล้วสลักหลังเช็คนำไปมอบให้โจทก์และลูกวงที่ยังไม่ได้ประมูล แต่มิได้ชำระค่าแชร์แก่จำเลยผู้ประมูลแชร์ได้ก็ตาม จำเลยจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นต่อสู้ให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้ เพราะจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทจาก จ.โดยคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยจึงไม่อาจอาศัยความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยกับผู้อื่นที่จำเลยออกเช็คให้มาเป็นข้อต่อสู้ให้พ้นความรับผิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 976 ดังนั้น ถึงแม้จะให้สืบพยานต่อไป ก็ไม่อาจทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจึงเป็นการชอบแล้ว
การให้งดสืบพยานนั้น เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งตามควรแก่กรณีเป็นเรื่อง ๆ ไป ถ้าข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ก็ไม่จำต้องนำสืบพยานหลักฐานอื่นใดอีก ศาลมีอำนาจสั่งงดสืบพยานได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้คดีได้ดำเนินไปโดยรวดเร็วและยุติธรรม
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.วิ.พ. ม. 24, 86, 177, 183 ป.พ.พ. ม. 900, 904, 914, 916, 989
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 833/2523
โจทก์ออกตั๋วแลกเงินสั่งสาขาธนาคารจำเลยที่ 3 ให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือตามคำสั่ง โดยสาขาธนาคารของจำเลยที่ 3 ผู้จ่ายลงลายมือชื่อด้านหน้าของตั๋วแลกเงินใต้ข้อความว่า “เป็นอาวัลค้ำประกันผู้สั่งจ่าย” ต้องถือว่าการลงลายมือชื่อของสาขาธนาคารจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นอาวัล และผู้จ่ายเป็นผู้รับอาวัลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 938 วรรคสองตอนสุดท้าย
มาตรา 939 วรรคสามที่บัญญัติว่า “อนึ่งเพียงแต่ลงลายมือชื่อผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว เว้นแต่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือสั่งจ่าย” นั้นหมายความว่า ถ้าผู้จ่ายลงลายมือชื่อด้านหน้าของตั๋วเงินอย่างเดียวโดยไม่มีถ้อยสำนวนตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง กฎหมายจึงไม่ให้ถือว่าเป็นคำรับอาวัล เพราะการลงลายมือชื่อดังกล่าวเป็นการรับรองการจ่ายเงินตามมาตรา 931 อยู่แล้ว หากมาตรา 939 วรรคสามไม่ยกเว้นไว้ก็จะเป็นทั้งคำรับรองการจ่ายเงินและคำรับอาวัลซ้ำกัน ไม่อาจทราบได้ว่าลงลายมือชื่อในฐานะใด
สาขาธนาคารจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับอาวัลต้องบังคับตามมาตรา 9401คือจำเลยที่ 3 มีความผูกพันอย่าเดียวกับโจทก์ผู้สั่งจ่าย การที่จำเลยที่ 3 จ่ายเงินตามตั๋วเงินซึ่งสาขาของตนรับอาวัลจึงเป็นการปฏิบัติไปตามกฎหมาย โจทก์ผู้สั่งจ่ายไม่มีอำนาจสั่งห้ามจำเลยที่ 3 จ่ายเงิน
อำนาจสั่งห้ามตามมาตรา 992 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องเช็คโดยเฉพาะจะนำมาใช้กับตั๋วแลกเงินไม่ได้
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 931, 938, 939, 940, 992
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 2690/2523
โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลยผู้สั่งจ่าย จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียก ส.เข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) โดยอ้างว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่ ส. และได้ชำระหนี้ตามเช็คพิพาทให้แก่ ส. ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องและคำให้การไม่ปรากฏว่า ส. เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทจึงไม่มีกรณีที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับ ส.ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ส.ไม่ต้องรับผิดต่อผู้ทรงเช็คพิพาทคนใดเลย ไม่มีความผูกพันร่วมกับจำเลยที่จะต้องชำระหนี้ตามเช็คพิพาทให้โจทก์ จึงไม่มีเหตุที่จะเรียก ส.เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
เช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือ จำเลยผู้สั่งจ่ายมิได้กล่าวอ้างต่อสู้ว่าโจทก์ผู้ทรงได้รับโอนเช็คพิพาทมาด้วยการคบคิดกับฉ้อฉล ทั้งคำให้การก็มิได้บรรยายให้เข้าใจได้ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาจากผู้ใด ด้วยวิธีใด อันจะถือได้ว่าเป็นการคบคิดฉ้อฉล จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาจากผู้อื่นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทด้วยการคบคิดกันฉ้อฉล ดังนั้นในเบื้องต้นจึงจะต้องถือว่าโจทก์รับเช็คพิพาทมาโดยสุจริต แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยให้การว่า จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทให้แก่ ส. แล้ว แต่ ส.ไม่คืนเช็คพิพาทให้ก็ตาม การที่ ส.ฝ่ายเดียวเป็นผู้ทุจริต จำเลยก็ไม่อาจต่อสู้ โจทก์ผู้ทรงเช็คพิพาทด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยกับ ส. ได้ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นได้งดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์จึงเป็นการชอบแล้ว
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.วิ.พ. ม. 57 (3), 86, 177, 183 ป.พ.พ. ม. 900, 904, 914, 916, 989
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 2818/2523
จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดเปลี่ยนมือไม่ได้ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2520 สัญญาจะจ่ายเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในวันที่ 17 ตุลาคม 2521 วันรุ่งขึ้นโจทก์ได้สลักหลังตั๋วนั้นให้แก่ ก.เพื่อประกันหนี้ที่โจทก์กู้เงินมา และในวันเดียวกันนั้นเอง ก.ได้เอาตั๋วดังกล่าวค้ำประกันหนี้ที่ ก.เป็นหนี้จำเลยอยู่ ดังนั้ แม้ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นจะเป็นตั๋วชนิดเปลี่ยนมือไม่ได้ แต่เมื่อโจทก์ตกลงส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินให้ ก.เพื่อประกันหนี้ที่โจทก์กู้มา โจทก์ต้องผูกพันตามสัญญานั้น ต่อมา ก.มอบตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยเพื่อประกันหนี้ที่โจทก์กู้มาโจทก์ต้องผูกพันตามสัญญานั้น ต่อมา ก. มอบตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยเพื่อค้ำประกันหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิยึดตั๋วเงินนั้นไว้ได้ เหตุนี้โจทก์ไม่มีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง จึงมิได้อยู่ในฐานะผู้ทรงตั๋วนั้นแล้ว ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามตั๋วนั้นจากจำเลย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 904, 917, 920, 982, 985 ป.วิ.พ. ม. 55
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 3788/2524
การที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังของเช็ค โดยไม่ปรากฏถ้อยคำสำนวนว่าใช้ได้เป็นอาวัลหรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันไม่เป็นการลงลายมือชื่อเป็นผู้รับอาวัลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 939 วรรค 1 และ 2 ประกอบด้วยมาตรา 989
จำเลยลงลายมือชื่อด้านหลังของเช็คแม้เช็คดังกล่าวระบุชื่อโจทก์ เป็นผู้รับเงินขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือ และที่มุมซ้ายบนด้านหน้ามีข้อความ ว่าเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนมือก็ตามแต่ด้วยความสมัครใจ ของจำเลยยอมผูกพันตนต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงในอันที่จะรับผิดเป็นอย่างเดียวกับผู้สั่งจ่าย ด้วยการลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน ยอมรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินดังบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 ดังนั้น เมื่อธนาคาร ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว จำเลยย่อมต้องรับผิดชำระเงิน ตามเช็คให้แก่โจทก์ (ข้อวินิจฉัยในวรรคสองวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่12/2524)
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 900, 917, 921, 938, 939, 989
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 673/2525
ร. และจำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งจ่ายไปแลกเงินสดจากโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมาในฐานะผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904
จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในเช็ค ซึ่งเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่ง ย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ตามมาตรา 900
ศาลต้องเลื่อนคดีเพราะพยานจำเลยปากหนึ่งไม่มาศาลถึง 6 ครั้ง เนื่องจากพยานไม่เต็มใจมาเบิกความโดยพยานหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหมาย พยานเคยมีหนังสือแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบว่า พยานไม่เคยเกี่ยวข้องกับจำเลยและไม่ทราบว่าจำเลยจะอ้างเป็นพยานในประเด็นข้อใด แสดงว่าพยานปากนี้อาจจะมิใช่ผู้ที่รู้ข้อเท็จจริงในคดีก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏจากคำแถลงหรือข้อนำสืบของจำเลยว่าพยานดังกล่าวเป็นพยานสำคัญเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีที่จะนำสืบอย่างไรฉะนั้นการที่จะให้ได้ตัวพยานปากนี้มาเบิกความนอกจากจะทำให้คดีต้องล่าช้าแล้ว คำเบิกความของพยานน่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีจำเลยแต่อย่างใด พยานดังกล่าวจึงเป็นพยานที่ประวิงให้ชักช้าแม้การที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความจะมิใช่ความผิดของจำเลย ศาลก็มีอำนาจที่จะงดสืบพยานเช่นว่านั้นเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรค 2
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 900, 904, 916 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 922/2526
โจทก์โอนเช็คพิพาทไปโดยมิได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาท โจทก์จึงมิใช่ผู้สลักหลังลอยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 919 เมื่อโจทก์ได้รับเช็คพิพาทคืนมา โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท มีสิทธิฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ตั๋วเงินถึงกำหนด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 904, 919, 1002, 1003
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 1752/2526
เช็คพิพาทจำเลยสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปเพียงด้วยการส่งมอบให้กันโดยไม่จำต้องสลักหลัง การที่โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทขายลดให้แก่ธนาคาร ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) จำเลยผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921, 989 เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ ธนาคารผู้รับซื้อเช็คจึงหักเงินจากบัญชีโจทก์และส่งเช็คกลับคืนมาให้โจทก์ครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ถือ ย่อมเป็นผู้ทรงตาม มาตรา 904 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้สั่งจ่ายภายในอายุความ 1 ปีตามมาตรา 1002 กรณีไม่เข้ามาตรา 1003 ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้สลักหลังเข้าถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน เพราะโจทก์มิใช่ผู้สลักหลังตามกฎหมาย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 904, 914, 918, 921, 940, 989, 1002, 1003
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 3566/2526
จำเลยออกเช็คฉบับพิพาทชำระหนี้ค่าแชร์แก่โจทก์ แม้โจทก์จะใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาท โดยมิได้ฟ้องตามมูลหนี้แชร์ แต่การที่จำเลยออกเช็คฉบับใหม่ชำระแทนเช็คพิพาท ถือว่าเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ โดยการ ชำระหนี้ด้วยตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 349 หนี้เดิมจะระงับต่อเมื่อได้ใช้เงินตามตั๋วเงินแล้ว เมื่อโจทก์ยังมิได้รับเงินตามเช็คฉบับใหม่ของจำเลยสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทยังไม่ระงับ
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 321, 349, 900
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 3973/2526
การจดวันสั่งจ่าย “ตามที่ถูกต้องแท้จริง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ประกอบด้วยมาตรา 989 หมายถึงวันที่ผู้ทรงเช็คเห็นสมควรที่จะจดหรือกรอกลงในเช็คซึ่งผู้ทรงมีสิทธิกระทำได้โดยพลการ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ใดแจ้งให้จด ส่วนคำว่า’ทำการโดยสุจริต’ นั้นกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนทำการโดยสุจริตตามนัยมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หากจำเลยหรือผู้ใดอ้างว่าการจดหรือกรอกวันสั่งจ่ายโดยไม่สุจริต ผู้กล่าวอ้างต้องระบุให้ชัดแจ้งถึงเหตุที่ไม่สุจริตและมีหน้าที่นำสืบด้วย
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงจดวันสั่งจ่ายลงในเช็คภายหลังจากทราบว่าผู้สั่งจ่ายถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าโจทก์ทำการโดยสุจริต
ในกรณีที่ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังถึงแก่ความตาย บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินหรือเช็คยังคงต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินหรือเช็คนั้น
กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คถึงแก่ความตาย ผู้ทรงมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากกองมรดกของผู้ตายได้ 2 วิธีคือ 1. นำเช็คไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามเช็คถ้าธนาคารทราบว่าผู้สั่งจ่ายตายก็จะปฏิเสธการจ่ายเงินตามมาตรา 992(2) เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุใดก็ตาม ผู้ทรงเช็คมีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากทายาทผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกตลอดจนมีสิทธิฟ้องผู้สลักหลังเช็คด้วย หรือ 2. ผู้ทรงมีสิทธิทวงถามให้ชำระเงินตามเช็คจากทายาทผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกและผู้สลักหลังได้เลย ถ้าผู้ถูกทวงถามไม่ชำระเงินตามเช็ค ผู้ทรงก็มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คได้โดยไม่จำเป็นต้องนำเช็คไปยื่นหรือเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามมาตรา 990(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1003/2524)
แม้จำเลยจะได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่จำเลยมิได้ขอให้ศาลชั้นต้นยกขึ้นเป็นประเด็นเพื่อวินิจฉัย ถือว่าจำเลยสละข้อต่อสู้ในประเด็นข้อนี้แล้ว และศาลก็ไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลย จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 6, 910, 914,989, 992 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 3338/2527
หนี้ที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้เป็นหนี้เงินฝาก โดยมีตั๋วเงินเป็นหลักฐานแห่งหนี้ สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้โอนให้แก่ ธนาคาร ก. จึงเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินฝากดังกล่าว แม้เจ้าหนี้จะได้มอบตั๋วเงินซึ่งเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. ไปพร้อมกับการทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ก็ไม่เป็นการโอนตั๋วเงินอันจะต้องมีการสลักหลังตั๋วเงิน นั้น
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 303, 917, 920 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ม. 107
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 2321/2528
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับ โจทก์ต่อมาจำเลยที่ 2 มอบเช็คให้ ส.นำไปแลกเงินจาก โจทก์ โดยมีจดหมายไปถึงพนักงานสินเชื่อของโจทก์ให้จัดการ เรื่องแลกเช็คกระดาษที่เขียนก็เป็นกระดาษแบบพิมพ์ของ จำเลยที่ 1 มีตราและชื่อโรงพยาบาลบนหัวกระดาษข้อความก็ระบุว่ากำลังขยายโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ย่อมทำให้ โจทก์เข้าใจว่าเช็คดังกล่าวเป็นเช็คที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทรงและเงินที่แลกไปนั้นต้องนำไปใช้ในกิจการของ โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 ดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็น กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ลงชื่อสลักหลังแต่ผู้เดียว โดยมิได้ประทับตราบริษัทจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ตามแต่พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่า จำเลยที่ 1 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวจำเลยที่ 2 ออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึง ต้องรับผิด
สิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายลดตั๋วเงินมีอายุความฟ้องร้อง 10 ปี
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75, 76,164, 821, 900, 914
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 4201/2530
การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนำตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทจำเลยที่ 1 ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ไปให้โจทก์ตรงกับคำพรรณนาของจำเลยที่ 2 ทุกประการพร้อมทั้งให้จำเลยที่ 2 มีนามบัตรซึ่งมีรูปเครื่องหมายและตัวอักษร แสดงว่าเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการเชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มอบเงินจำนวนตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ยักยอกเงินดังกล่าวไป จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต จากการกระทำของจำเลยที่ 2 เสมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน
ข้อความตามตราประทับด้านหลังตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่มีใจความว่าตั๋วสัญญาใช้เงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อเช็คเรียกเก็บเงินได้เรียบร้อยแล้วนั้น เป็นข้อความที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983 (2) จึงไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 ที่ว่า ข้อความอันใดซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ถ้าเขียนลงในตั๋วเงินข้อความนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 821, 899, 983 (2)
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 772/2531
โจทก์มอบเงินแก่จำเลยจำนวนหนึ่งแล้วจำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ และโจทก์ได้สลักหลังมอบให้จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ฯ โดยตกลงกันให้จำเลยนำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวมาหักหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์ที่โจทก์ค้างชำระ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ซื้อหลักทรัพย์ให้โจทก์ ตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยรับไว้จึงปราศจากมูลหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยจำเลยจึงไม่เป็นผู้ทรงและมีตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน คงเป็นเพียงผู้ยึดถือตั๋วสัญญาใช้เงินไว้แทนโจทก์เท่านั้น โจทก์ยังคงเป็นผู้ทรงและมีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจากจำเลยผู้สั่งจ่ายได้
ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินวันที่ 4 พฤษภาคม 2523 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2525 ยังไม่พ้นเวลา 3 ปี นับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนดใช้เงิน ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 904, 916, 982, 985, 1001
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 4975/2533
เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยที่ 4 สั่งจ่ายระบุชื่อจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก และขีดคร่อมระบุไว้กลางเส้นขนานที่ขีดคร่อมว่า “เฉพาะ” ดังนี้ จำเลยที่ 4 อาจประสงค์ให้เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะและให้ใช้เงินแก่ธนาคารตามเช็คก็ได้ ทั้งจำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าในทางปฏิบัติหรือประเพณีของธนาคารเป็นที่ยอมรับกันว่าเช็คที่ใช้ถ้อยคำเช่นนี้ห้ามมิให้ เปลี่ยนมือ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำอื่นอันได้ความทำนองเดียวกับคำว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917 วรรคสอง ข้อความดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน จึงหามีผลต่อเช็คพิพาทไม่ตามมาตรา 899 เมื่อจำเลยที่ 1 นำเช็คนั้นมาขายลดให้โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทและจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สลักหลัง ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 989จึงเป็นลูกหนี้ร่วมซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในค่าฤชาธรรมเนียม แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 4 จำกัดอยู่เพียงไม่เกินจำนวนเงินในเช็คพิพาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทราบดีตั้งแต่ตอนต้น ฉะนั้น การที่จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเกินไปกว่านี้ย่อมเป็นการไม่ยุติธรรมต่อจำเลยที่ 4แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้อุทธรณ์ไว้ เพิ่งจะยกขึ้นในฎีกาก็ตามศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตลอดไปถึงศาลล่างได้ด้วย.
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 899, 904, 917, 967, 989, 995 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 162, 249
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 3675/2534
ธนาคารจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คจึงฟ้องจำเลยให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทตามกฎหมายเรื่องตั๋วเงินไม่ได้ สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาทเมื่อจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินก็ได้แต่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลที่ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเท่านั้น
ป.พ.พ. มาตรา 991 มีวัตถุประสงค์เพื่อปลดเปลื้องความรับผิดของธนาคารที่มีต่อผู้เคยค้าเท่านั้น เมื่อกรณีต้องด้วยข้อยกเว้นตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) ของมาตรา 991ก็ให้สิทธิแก่ธนาคารที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่าย หรือธนาคารจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ แต่จะหักเงินจากบัญชีของผู้เคยค้าได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องพิจารณาจากมูลเหตุที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คเป็นราย ๆ ไป
สัญญาระหว่างธนาคารกับผู้เคยค้าไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 374 และมาตรา 375
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 374, 375, 898, 900, 901, 914, 967, 989, 991, 993
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 3837/2535
เช็คพิพาทจำเลยสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กันตาม ป.พ.พ.มาตรา 918, 989 การที่โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทแล้วนำไปขายลดให้แก่ธนาคารย่อมเป็นเพียงประกัน(อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 921, 989 เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่ธนาคารและเข้าถือเอาเช็คนั้นกลับคืนมา โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตาม ป.พ.พ. มาตรา904 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองผู้สั่งจ่ายภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันเช็คถึงกำหนดตาม ป.พ.พ.มาตรา 1002 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1003 ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้สลักหลังเข้าถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน เพราะโจทก์มิใช่ผู้สลักหลัง
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 904, 914, 918, 921, 940, 989, 1002, 1003
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 4991/2536
เมื่อได้ความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์โดยมีมูลหนี้ระหว่างกันจึงหาต้องคำนึงถึงการรับโอนของผู้ทรงคนต่อมาว่าสุจริตหรือไม่ เพราะจำเลยไม่สามารถยกข้อต่อสู้ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ขึ้นต่อสู้ผู้ทรงคนก่อนได้อยู่แล้ว
เช็คพิพาทเป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับดวงตราสำคัญแบบใหม่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนการใช้ จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย แต่การที่เช็คพิพาทลงลายมือชื่อบุคคลหลายคน มีทั้งบุคคลซึ่งไม่อาจเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นได้เลย หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผลย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของบุคคลอื่น ๆ นอกนั้นซึ่งคงต้องรับผิดตามตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 902 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดตามเช็ค
จำเลยทั้งสองรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพียงแต่อ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามเช็ค ดังนี้แม้เช็คพิพาทจะปิดอากรแสตมป์ไม่ถูกต้องข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาท
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์
ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 902, 916 ป.วิ.พ. ม. 84 (1) ป.รัษฎากร ม. 118
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 7255/2539
สำเนาภาพถ่ายเช็คและสำเนาภาพถ่ายใบคืนเช็คเอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง และจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธถึงความถูกต้องของเช็คและใบคืนเช็คดังกล่าว เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ย่อมถือได้ว่ามูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลดังกล่าวได้ ตามป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คตามฟ้องเพื่อชำระหนี้เงินยืมให้โจทก์ แล้วธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับโดยระบุรายละเอียดของเช็คทุกฉบับพร้อมกับแนบสำเนาภาพถ่ายเช็คและสำเนาภาพถ่ายใบคืนเช็คมาท้ายฟ้องพร้อมทั้งคำขอบังคับ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง ครบถ้วนแล้วส่วนมูลหนี้ตามเช็คจะเป็นการชำระหนี้สำหรับการกู้เงินครั้งใดเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ที่จำเลยฎีกาว่าการที่ศาลรับฟังเช็คและใบคืนเช็คตามฟ้องโดยไม่มีการสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยโจทก์เพียงแต่ระบุว่าเป็นหนี้จากการกู้ยืมหาเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งหมดได้ไม่นั้น ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับฟ้องเคลือบคลุม แต่เป็นปัญหาว่าตามคำฟ้องและคำให้การจะมีประเด็นที่ต้องสืบพยานกันต่อไปหรือไม่ ไม่มีผลทำให้ฟ้องที่ไม่เคลือบคลุมนั้นเปลี่ยนแปลงไป
ฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธไว้ กลับให้การว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องให้บุคคลอื่น จึงฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท
เช็คตามฟ้องทุกฉบับเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดหรือสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 918เมื่อเช็คตามฟ้องตกมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ในฐานะผู้ถือ โดยจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คมาโดยไม่สุจริตแต่ประการใด เพราะจำเลยให้การแต่เพียงว่าโจทก์จะได้รับเช็คตามฟ้องมาอย่างไร จำเลยไม่ทราบย่อมไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบว่าโจทก์ครอบครองเช็คมาโดยสุจริตหรือไม่จึงต้องฟังว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องให้แก่ ม.เป็นการชำระดอกเบี้ยล่วงหน้าเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นโมฆะทั้งหมด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เป็นการยกข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยผู้สั่งจ่ายกับ ม.ผู้ทรงคนก่อนแต่คำให้การของจำเลยมิได้กล่าวอ้างต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คตามฟ้องจาก ม.ด้วยคบคิดกันฉ้อฉลกับโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีประเด็นจะนำสืบในข้อนี้ ดังนั้นจำเลยซึ่งลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นในฐานะผู้สั่งจ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 และ 914ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยนั้นชอบแล้ว
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 900, 904, 914, 916, 918 ป.วิ.พ. ม. 4 (1), 86 วรรคสอง, 172 วรรคสอง
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 7336/2540
แม้โจทก์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้หรือขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทำไว้ต่อโจทก์ โดยมิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินก็ตาม แต่จำเลยได้ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมในฐานะผู้ออกตั๋วเข้ามาเป็นจำเลยร่วม และจำเลยร่วมได้ให้การต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดที่จะชำระเงินตามตั๋วให้แก่จำเลย คดีจึงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย
จำเลยร่วมได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทซึ่งมีธนาคารโจทก์สาขา จ.เป็นผู้รับอาวัล ให้แก่จำเลย โดยสัญญาว่าจะใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้ณ ที่ธนาคารโจทก์สาขา จ. ต่อมาก่อนวันถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปทำสัญญารับชำระหนี้หรือขายลดให้แก่ธนาคารโจทก์สาขา พ.โดยสัญญาว่า ถ้าเรียกเก็บเงินตามตั๋วไม่ได้ จำเลยยอมรับผิดชำระเงินที่ปรากฏในตั๋วพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ แม้จะเป็นเพราะศาลชั้นต้นสั่งอายัดชั่วคราวไว้ในคดีเรื่องอื่นตามคำร้องขอของจำเลยร่วมก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยผิดสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินต่อโจทก์ จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาให้แก่โจทก์
ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทมีโจทก์เป็นผู้รับอาวัล ดังนั้น หากจำเลยได้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ไปตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยก็จะได้ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมาไว้ในครอบครองในฐานะเป็นผู้รับเงินและเป็นผู้ทรงตั๋วมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินจากโจทก์ผู้รับอาวัลและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ออกตั๋วได้อีก เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์และคดีถึงที่สุดไปแล้วจึงต้องถือว่าเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ทรงและโจทก์ได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 940 วรรคสามแล้วตั้งแต่วันฟ้อง ฉะนั้น นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยจึงไม่จำต้องชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์อีก ส่วนดอกเบี้ยก่อนฟ้องตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อจำเลยผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน จำเลยจึงยังคงต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยร่วมคงรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันฟ้องซึ่งถือว่าเป็นวันที่โจทก์ได้ใช้สิทธิไล่เบี้ย ฉะนั้นดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมิได้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ และอัตราดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ป.พ.พ.มาตรา 968 (2) ประกอบมาตรา 985บัญญัติให้มีสิทธิไล่เบี้ยเอาดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 5 ต่อปี การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและต้องรับผิดในมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้จำเลยร่วมจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวนี้เกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5)
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 369, 940, 967, 968, 982, 985 ป.วิ.พ. ม. 57 (3), 58, 142 (5), 147, 183, 246, 247
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 7977/2542
เช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัท ย. ต่อมาบริษัท ย. ได้สลักหลังโอนขายลดให้โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงและจำเลยผู้ลงลายมือชื่อของตน ในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 900, 904 จำเลยหาอาจต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 916, 989 คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยกล่าวเพียงว่ามูลหนี้ในเช็คพิพาท ตามฟ้องได้มีการชำระหนี้ไปเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น ไม่ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่ใคร หากชำระ ให้ผู้ทรงคนก่อน โจทก์ได้รับโอนมาด้วยคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่ อย่างใด จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 900, 904 ป.วิ.พ. ม. 208
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 457/2543
++ ธนาคารตามเช็คได้มอบเช็คพิพาทให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าประเภทบัญชีกระแสรายวัน จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการที่มีอำนาจได้ลงลายมือชื่อและประทับตราจำเลยที่ 1 ในช่องผู้สั่งจ่าย ก็เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ต้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 70 วรรคสอง และมาตรา 900 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คต่อผู้ทรงเป็นส่วนตัวหากจำเลยที่ 2 กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เพราะปฏิบัติหน้าที่บกพร่องก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 หรือผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ต่อไป
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ร.ย. 54/43 ไม่ระบุ ป.พ.พ. ม. 70, 77, 900
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 5151/2543
ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตาม ป.พ.พ.มาตรา 171 และในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตามมาตรา 11
หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ไว้แก่โจทก์มีข้อความว่า เนื่องในการที่ธนาคารโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าลูกหนี้ ทำการกู้เงินหรือเบิกเงินเกินบัญชี ขายลดตั๋วเงิน และ/หรือรายการอื่นใดอันก่อให้เกิดหนี้สินพันธะระหว่างจำเลยกับธนาคารทหารไทย จำกัด (โจทก์)ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้หรือจะพึงเกิดขึ้นในภายหน้า ภายในวงเงินไม่เกิน 1,500,000บาท ซึ่งมีข้อความสอดคล้องกับข้อความตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันที่จำเลยที่ 5 จำนองแก่โจทก์ว่า จำเลยที่ 5 จำนองที่ดินเป็นประกันเงินซึ่งจำเลยเป็นหนี้โจทก์ก่อนเวลานี้หรือในเวลานี้ หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้าเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท ตามสัญญาดังกล่าวนี้มีข้อความว่า จำเลยที่ 5ยอมรับผิดในหนี้สินระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ที่จะพึงเกิดขึ้นในภายหน้า หมายถึงหนี้สินที่จำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ของโจทก์โดยตรงในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นเท่านั้น มิใช่ต้องรับผิดในหนี้สินที่จำเลยที่ 2 ไปค้ำประกันหนี้บุคคลภายนอกต่อโจทก์อีกต่อหนึ่งในภายหน้าด้วย
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 11, 171, 680
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 7790/2544
จำเลยจัดให้ผู้มาพักโรงแรมของจำเลยได้จอดรถในลานจอดรถ น. ซึ่งขับรถมาส่งแขกเข้าพักโรงแรมของจำเลยจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดภายในบริเวณลานจอดรถดังกล่าวซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ส่วนการที่จำเลยปิดประกาศไม่รับผิดชอบหากเกิดการสูญหายของทรัพย์สินก็ไม่ปรากฏว่า น. ได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการยกเว้นความรับผิดตามประกาศดังกล่าว กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 677
น. ได้ปิดล็อกประตูรถยนต์ทุกบานแล้วเพราะเป็นระบบเซ็นทรัลล็อก ซึ่งย่อมถือได้ว่า น. มิได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์สูญหาย กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 675 วรรคสาม
ความรับผิดของเจ้าสำนักในทรัพย์สินของคนเดินทางที่สูญหายจำกัดไว้เพียงห้าร้อยบาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 675 วรรคสอง หมายถึงทรัพย์สินที่มีคุณค่าอันมีลักษณะพิเศษทำนองเดียวกับเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณีหรือของมีค่าอื่น ๆ รถยนต์เป็นเพียงทรัพย์สินธรรมดาทั่ว ๆ ไป แม้ราคาจะค่อนข้างสูงก็ถือไม่ได้ว่ามีลักษณะเป็นของมีค่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 675 วรรคสอง
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 674, 675, 677
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 8627/2544
การที่จำเลยที่ 1 แก้ไขวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทจากวันที่ 2 กรกฎาคม 2531 เป็นวันที่ 2 กรกฎาคม 2539 แล้วนำเช็คพิพาทที่แก้ไขวันที่สั่งจ่ายดังกล่าวไปอ้างเป็นพยานในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้จากโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแก้ไขข้อความในตั๋วเงินที่แท้จริงเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริงที่โจทก์ทำขึ้นโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้นำเช็คพิพาทไปฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาแล้วหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปลอมเช็คตาม ป.อ. มาตรา 266 (4) และโจทก์เป็นผู้เสียหายแล้ว
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.อ. ม. 264, 266 (4) ป.วิ.อ. ม. 1 (4)
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 9539/2544
เช็คเป็นตั๋วเงินที่ผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารใช้เพื่อทวงถาม ผู้ทรงเช็คจึงมีสิทธิทวงถามให้ธนาคารใช้เงินตั้งแต่วันออกเช็คซึ่งหมายถึงวันที่ลงในเช็ค มิใช่หมายถึงวันที่ผู้สั่งจ่ายเขียนเช็คหรือมิใช่วันที่ผู้ทรงเช็คยื่นเช็คแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ลงในเช็คอันเป็นวันที่ผู้ทรงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12
โจทก์จำเลยตกลงให้จำเลยขีดฆ่าวันออกเช็คพิพาทเดิม และยินยอมให้โจทก์ลงวันออกเช็ควันใดวันหนึ่งก็ได้ตามที่โจทก์เห็นสมควร การที่โจทก์ไม่ลงวันออกเช็คในครั้งแรกที่นำเช็คพิพาทไปยื่น ธนาคารชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินได้เพราะตราสารที่นำไปยื่นนั้นมีรายการขาดตกบกพร่องไม่สมบูรณ์อันจะถือว่าเป็นเช็ค เมื่อโจทก์นำตราสารนั้นมาลงวันออกเช็คในครั้งหลังเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 เพื่อให้สมบูรณ์เป็นเช็คจึงเป็นสิทธิที่โจทก์ย่อมกระทำได้ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไป
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 193/12, 898, 913, 987, 1002
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 1024/2546
จำเลยให้การว่าไม่เคยทำสัญญาซื้อขายลดตั๋วเงินกับโจทก์ ทั้งไม่เคยนำเช็คตามฟ้องมาขายลดให้แก่โจทก์ และไม่เคยรับเงินจากโจทก์คำให้การดังกล่าวเป็นเพียงปฏิเสธลอยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าลายมือชื่อจำเลยในสัญญาขายลดตั๋วเงินและลายมือชื่อในเช็คตามเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าชื่อว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลยหากจำเลยสืบพยานก็ต้องห้ามมิให้รับฟัง เพราะคำให้การของจำเลยไม่มีรายละเอียดแข่งการปฏิเสธตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสอง
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 1920/2546
เมื่อจำเลยที่ 2 ตกลงรับจ้างขนส่งสินค้า จำเลยที่ 2 ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ท่าอากาศยานปลายทาง จำเลยที่ 2 ได้ออกใบตราส่งอันถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งของให้แก่ผู้ส่งตามใบตราส่ง โดยระบุในใบตราส่งว่าผู้รับตราส่งคือธนาคารซิตี้แบงก์ มี ซ. เป็นผู้ที่จะต้องแจ้งให้ทราบ จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่ ซ. ที่ท่าอากาศยานเมืองไมอามีซึ่งเป็นท่าอากาศยานปลายทาง โดยการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งซึ่งธนาคารซิตี้แบงก์ได้สลักหลังให้ เมื่อสินค้าถึงท่าอากาศยานเมืองไมอามี ตัวแทนของจำเลยที่ 2 กลับปล่อยสินค้าให้แก่บุคคลอื่นโดยมิได้มีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทางอากาศ ถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งมอบสินค้าโดยชอบ
เอกสารที่โจทก์อ้างแม้จะเป็นสำเนาเอกสาร แต่ก็เป็นเอกสารที่ผู้ส่งได้ส่งให้แก่โจทก์โดยวิธีโทรสารซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ตามปกติผู้ส่งจะนำต้นฉบับเอกสารไปลงในเครื่องโทรสารแล้วส่งโดยวิธีโทรสารไปยังเครื่องโทรสารของผู้รับ และผู้ส่งเป็นผู้เก็บต้นฉบับไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกโจทก์อ้างสำเนาเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานยันตนก็มิได้คัดค้านว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นแล้วเสร็จ และไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านต่อศาลในภายหลัง จำเลยที่ 2 เพียงแต่โต้แย้งคัดค้านไว้ในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นของพยานจำเลยที่ 2 กับยื่นคำแถลงคัดค้านไว้ภายหลังการสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารหรือความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้น ทั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้วินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าว ถือได้ว่าศาลอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบในกรณีไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้โดยประการอื่น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) แล้ว สำเนาเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
สินค้าที่ขนส่งเป็นเพียงพรม ซึ่งเป็นสิ่งของธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า และอัญมณี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 620 วรรคหนึ่ง
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 610, 615, 620, 623 ป.วิ.พ. ม. 93 (2), 125 พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญา ม. 26
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 4714/2547
ป.พ.พ. มาตรา 899 บัญญัติว่า “ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่” อันเป็นบทบัญญัติเบ็ดเสร็จทั่วไปใช้บังคับกับตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค ส่วนมาตรา 915 บัญญัติว่า “ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดีจะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้คือ (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน…” ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องตั๋วแลกเงินไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเบ็ดเสร็จทั่วไปเช่นเดียวกับมาตรา 899 และ มาตรา 985 ซึ่งบทบัญญัติในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 915 มาใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความว่า ห้ามใช้สิทธิไล่เบี้ยผู้สลักหลังนั้นเป็นข้อความที่ขัดต่อมาตรา 983 (2) หาเป็นผลบังคับแก่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 899 ไม่ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 899, 915, 983 (2), 985
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 5065/2547
พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 จัตวา วรรคแรก บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการของบริษัทใดมีข้อเสนอจะควบกิจการกับสถาบันการเงินอื่นหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่สถาบันการเงินอื่นเป็นการเร่งด่วน… ถ้ารัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องควบกิจการหรือโอนกิจการเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและประโยชน์ของประชาชน ให้มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาอนุญาตให้ดำเนินการได้โดยจะกำหนดระยะเวลาดำเนินการและเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ มาตรา 67 ตรี วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อได้รับความเห็นชอบการโอนกิจการจากรัฐมนตรีแล้วให้ดำเนินการโอนกิจการได้โดยการโอนสิทธิเรียกร้อง ในการโอนกิจการนี้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อได้ความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นชอบการดำเนินการตามโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคาร ส. โจทก์ และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวตามมาตรา 67 จัตวา และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 38 จัตวา จึงเป็นการรวมกิจการโดยผลของกฎหมาย มิใช่การรวมกิจการและโอนสิทธิเรียกร้องโดยทั่วไป ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306
แม้ประกาศกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ. 4 ระบุว่า ให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดให้แก่ธนาคาร ส. และข้อ 3 ระบุว่า เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 เสร็จสิ้น ให้โจทก์และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท คืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนให้แก่กระทรวงการคลัง เมื่อโอนสินทรัพย์และหนี้สินเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 4 บัญญัติว่า “การธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น (ก) ให้สินเชื่อ (ข) ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด (ค) ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ และ “ให้สินเชื่อ” หมายความว่า ให้กู้ยืมเงิน ซื้อ ซื้อลด รับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน เป็นเจ้าหนี้ เนื่องจากได้จ่ายหรือสั่งให้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของผู้เคยค้าหรือเป็นเจ้าหนี้ เนื่องจากได้จ่ายเงินตามภาระผูกพันตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิต เมื่อธนาคาร ส. เป็นธนาคารพาณิชย์ จึงต้องประกอบธุรกิจตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว การเช่าซื้อจึงมิใช่ธุรกิจที่กฎหมายให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ดำเนินการได้
แม้โจทก์ไม่ได้ระบุอ้างหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างโจทก์กับธนาคาร ส. ไว้ในบัญชีระบุพยานโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 88 แต่เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลย่อมมีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตามมาตรา 87 (2)
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.พ.พ. ม. 306 ป.วิ.พ. ม. 87 (2), 88 พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ม. 67 ตรี วรรคสอง 67 จัตวา วรรคแรก ไม่ระบุ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ม. 4, 38 จัตวา
|
คำพิพากษาฎีกาที่ 9051/2547
จำเลยปลอมเช็คของโจทก์ร่วมแล้วนำเช็คไปเบิกเงินและยักยอกเงินตามเช็คไป โจทก์ร่วมไปแจ้งความ ร้องทุกข์ ต่อมาจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกทรัพย์อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนการที่โจทก์ร่วมนำมูลหนี้ตามเช็คไปฟ้องคดีแพ่งในมูลละเมิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วม คดีถึงที่สุด ก็มีผลเพียงห้ามคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยมูลเหตุอย่างเดียวกันเฉพาะมูลคดีแพ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 เท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่เคย มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารตั๋วเงินและใช้เอกสารตั๋วเงินปลอมอันเป็น มูลคดีนี้ ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้ โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีสิทธิฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องคดีนี้ของโจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมเช็คอันเป็นเอกสารสิทธิ ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 265 แม้ไม่ได้บรรยายว่าปลอมตั๋วเงินตาม ป.อ. มาตรา 266 (4) แต่เช็คก็เป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่ง คำบรรยายฟ้องเช่นนี้ทำให้จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาได้โดยถูกต้องแล้วว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดอย่างไร แม้โจทก์มิได้ระบุ ป.อ. มาตรา 266 (4) ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ดังนั้น เมื่อทางพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมสืบสมว่า จำเลยปลอมเช็คและใช้หรืออ้างเอกสารเช็คปลอม จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า
ดูย่อฏีกายาว ดูฎีกายาวเพื่อพิมพ์ ดูภาพถ่ายต้นฉบับ
|
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา ป.อ. ม. 265, 266, 352 ป.วิ.อ. ม. 39 (2) (4), 158 (5), 192
|
มีความสงสัยในข้อกฎหมาย หรือได้รับความไม่เป็นธรรม ติดต่อผม
ติดตามความรู้ข้อกฎหมายได้ทาง TIKTOK