การสปอยล์หนังถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

การสปอยล์หนังถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

การชมภาพยนตร์ที่โรงหนังเป็นกิจกรรมยามว่างอีกรูปแบบหนึ่งที่พวกเราคุ้นกันดี ก่อนการไปชมภาพยนตร์ เราก็มักจะต้องหาข้อมูลทั้งจากภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer Movie) และคลิปวิดีโอใน Youtube หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งมีมากมายและรู้จักกันในลักษณะที่เรียกว่าการสปอยล์หนัง (Spoil Movie) เพื่อทำให้ทราบถึงเนื้อหาคร่าวๆ ของภาพยนตร์ที่เราสนใจ อย่างไรก็ดี เมื่อภาพยนตร์ได้รับความคุ้มครองเนื่องจากเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างหนึ่ง จึงมีคำถามว่า การสปอยล์หนังถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

คำว่า Spoil (สปอยล์) มีความหมายว่า ทำให้เน่าเสีย หรือทำให้เสียหาย เมื่อนำมารวมกับคำว่า Movie ซึ่งแปลว่า หนังหรือภาพยนตร์ จึงมีความหมายว่า การนำเอาจุดพลิกผันหรือจุดที่สำคัญของหนังมาเฉลย หรือทำให้ทราบโดยมีการใส่อารมณ์หรือความคิดเห็นของผู้สปอยล์ร่วมด้วย การกระทำดังกล่าวอาจถือเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของผู้สร้างภาพยนตร์และทำให้อรรถรสในการรับชมภาพยนตร์ของผู้ที่ยังไม่ได้รับชมลดลง และอาจตัดสินใจไม่รับชมภาพยนตร์เรื่องนั้นหรืออาจเปลี่ยนไปชมภาพยนตร์เรื่องอื่นแทน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้สร้างภาพยนตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สวนทางกับจำนวนผู้ชมและรายได้ของผู้สปอยล์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การตัดต่อคลิปภาพยนตร์เพื่อนำมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของการสปอยล์ โดยเป็นการสรุปเนื้อหาของภาพยนตร์ก็อาจจะเข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ และเป็นการทำซ้ำภาพยนตร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27, 28 และ 15 ไม่เข้าข้อยกเว้นที่เป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) ตามมาตรา 32 เพราะกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร รวมทั้ง ไม่เป็นงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องซึ่งผู้ดัดแปลงจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ต่อเนื่องนั้น การสปอยล์หนังในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ทนายคดีลิขสิทธิ์

ทนายพัตร์

author avatar
PongrapatLawfirm