ทนายฟ้องคดีกู้ยืม

ทนายฟ้องคดีกู้ยืม

ฟ้องคดีกู้ยืมกรณี ผู้ให้กู้ทำสัญญากู้ยืมเงินสูญหายจะนำพยานบุคคลมานำสืบได้หรือไม่

แม้ว่าจอห์น ดาลตัน (John Dalton) นักฟิสิกส์และเคมีชาวอังกฤษจะได้กล่าวไว้ว่า “สสารย่อมไม่สูญหายไปจากโลก” แต่ในความเป็นจริง ทรัพย์สินหรือสิ่งของต่างๆ ของเรากลับมีการสูญหายหรือหาไม่พบกันอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเอกสารในลักษณะของแผ่นกระดาษย่อมมีการสูญหายได้ตลอดเวลา กรณีของเอกสารธรรมดาคงไม่เป็นปัญหามากมายนัก แต่หากเอกสารนั้นมีผลทางกฎหมาย เช่น เป็นสัญญากู้ยืมเงิน คงเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวไม่น้อยเพราะมันอาจหมายถึงเงินที่ต้องสูญเสียไปด้วย จึงมีคำถามว่า ผู้ให้กู้ทำสัญญากู้ยืมเงินสูญหายจะนำพยานบุคคลมานำสืบได้หรือไม่ มีคำตอบครับ

ป.พ.พ. มาตรา 653 มีหลักว่า “การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ และในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น จะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว” ส่วนป.วิ.พ.มาตรา 94 มีหลักว่า “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคล…..แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93(2) …..” ซึ่งมาตรา 93(2) มีหลักว่า การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่ ถ้าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้ เพราะถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถนำมาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นำมาไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้ จากหลักกฎหมายดังกล่าว การนำสืบว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือสูญหายไปนั้นผู้ให้กู้จึงนำสืบด้วยพยานบุคคลได้เพราะเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ส่วนการนำสืบพยานบุคคลว่าผู้กู้กู้เงินตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่สูญหายไปนั้นต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เมื่อศาลอนุญาตแล้วจึงนำพยานบุคคลเข้าสืบและรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนั้นได้

(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2539 และ 1282/2562)