ทนายคดีโอนที่ดินมรดก

โจทก์และจำเลยทั้งสองได้รับโอนมรดกที่ดินพิพาท เมื่อออกโฉนดแล้วมีชื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของรวม ต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากัน จำเลยทั้งสองอ้างว่ามีส่วนมากกว่าจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว และเมื่อยังมีข้อสันนิษฐานอีกว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และแต่ละคนมีสิทธิใช้ทรัพย์สินแต่ต้องไม่ขัดต่อสิทธิเจ้าของรวมอื่น ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกเป็นส่วนสัด การครอบครองของแต่ละคนย่อมเป็นการครองครองแทนเจ้าของรวมอื่น ไม่อาจถือเป็นการครอบครองปรปักษ์ได้ ส่วนการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมนั้นสมควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่ทำประโยชน์ที่มีอยู่เดิมด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2439 / 2564

โจทก์และจำเลยทั้งสองได้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทมาในขณะที่ที่ดินมีพิพาทหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต่อมามีการนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินโดยมีชื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของรวม ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมแต่ละคนมีส่วนเท่ากัน จำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองแต่ละคนได้รับส่วนแบ่งมากกว่าโจทก์ จำเลยทั้งสองมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐาน
ที่ดินพิพาทมีโจทก์และจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และเจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ตามมาตรา 1360 วรรคหนึ่ง ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วนสัด การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์ส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินพิพาท ต้องถือว่าครอบครองที่ดินส่วนนั้นๆ ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่ง หาก่อให้เริ่มเกิดสิทธิที่จะอ้างว่าตนครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเสียแต่คนเดียวไม่ การครอบครองดังกล่าวเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย
โจทก์และจำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกคนละส่วนเท่าๆกัน เพื่อไม่ให้การแบ่งกรรมสิทธิ์รวมมีผลกับสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่ทำประโยชน์ที่มีอยู่เดิมมากนัก ศาลฎีกาเห็นควรให้มีการแบ่งทรัพย์สินโดยยึดเนื้อที่ที่มีการครอบครองตามรูปแผนที่ท้ายคำฟ้องเป็นเกณฑ์