ทนายสู้คดีลิขสิทธิ์ การจับแบบไหนถึงไม่ผิดคดีลิขสิทธิ์
เรื่องคดีลิขสิทธิ์ มีประเด็นการต่อสู้หลายแบบ ซึ่งบางท่า […]
ให้เพื่อนยืมเงินไปแล้วทวงหนี้ผ่านสื่อโซเชียลจะผิดกฎหมายการทวงถามหนี้หรือไม่
การทวงถามหนี้บางครั้งสร้างปัญหาหรือแม้กระทั่งสร้างอับอายให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกทวงถามเป็นอย่างมาก ทำให้ต้องมีกฎหมายมากำกับควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหนี้ในการทวงถามหนี้ไม่ให้ก่อให้เกิดปัญหามากนักพฤติกรรมการทวงถามหนี้ลักษณะหนึ่งที่อาจสร้างปัญหาอยู่เสมอคือการทวงถามหนี้ผ่านสื่อโซเชียลปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่ให้เพื่อนยืมเงินไปแล้วทวงหนี้ผ่านสื่อโซเชียลแล้วจะมีผลทำให้ผิดกฎหมายการทวงถามหนี้หรือไม่
นางนกเป็นเพื่อนกับนางหนูมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา นางหนูประกอบอาชีพขายวัสดุก่อสร้างและเป็นนายหน้าขายที่ดิน นางหนูติดต่อขายที่ดินแปลงหนึ่งได้เงินค่านายหน้ามาประมาณ 10 ล้านบาท นางนกทราบเรื่องจึงติดต่อขอยืมเงินจากนางหนูเพราะตัวเองกำลังเดือดร้อนเรื่องเงินอยู่พอดี นางหนูจึงได้ให้นางนกยืมเงินไป 100,000 บาท
เมื่อถึงกำหนดชำระ นางนกไม่ได้คืนเงินให้แก่นางหนู นางหนูพยายามติดต่อหลายครั้ง แต่นางนกก็คงคืนเงินมาให้เพียง 10,000 บาท ทำให้นางหนูโกรธมาก จึงได้ลงข้อความในเพจเฟสบุ๊กของตนเองในทำนองต่อว่าและข่มขู่นางนกที่ไม่คืนเงินให้ตนเองแม้จะทวงถามหลายครั้งแล้ว
นางนกจึงได้แจ้งความร้องทุกข์จนกระทั่งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล
ในกรณีนี้พระราชบัญญัติการทวงหนี้ พ.ศ. 2558ได้กำหนดมาตรการหลายประการเพื่อคุ้มครองผู้ที่เป็นลูกหนี้ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนและอับอายจากการถูกทวงถามหนี้ แต่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ได้แก่ การห้ามการข่มขู่ การใช้ความรุนแรงหรือกระทำการอื่นใดที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ การใช้วาจาหรือคำพูดที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ การเปิดเผยความเป็นหนี้ให้แก่ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องทราบ หรือการติดต่อทางสื่อใดๆ ที่เป็นการสื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดแจ้งการฝ่าฝืนข้อห้ามเหล่านี้อาจมีผลทำให้ต้องรับโทษทางอาญาได้
จากข้อห้ามดังกล่าวจะเห็นได้ว่าข้อความที่นางหนูโพสต์ไว้บนเพจเฟสบุ๊กของตนเองอาจมีลักษณะที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามเหล่านี้อยู่ เพราะการลงข้อความในทำนองทวงหนี้บนสื่อโซเชียลอย่างเฟสบุ๊กย่อมทำให้คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้รู้ได้ทราบเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของนางนกด้วยอันอาจทำให้นางนกได้รับความเสียหายได้
อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามของกฎหมายนี้ไม่ได้ใช้บังคับกับเจ้าหนี้ทุกประเภท แต่กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะใช้บังคับกับเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ให้สินเชื่อ เจ้าหนี้ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนันและเจ้าหนี้อื่นที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทางการค้าปกติหรือที่เป็นปกติธุระของเจ้าหนี้นั้น ในส่วนของผู้ให้สินเชื่อก็จำกัดเฉพาะผู้ให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติหรือผู้ที่รับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อไปเท่านั้น
แต่ในกรณีนี้ปรากฏว่านางหนูประกอบอาชีพขายวัสดุก่อสร้างและนายหน้าขายที่ดิน นางหนูไม่ได้เป็นประกอบอาชีพหรือให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของตน นอกจากนั้นยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ทำให้เชื่อได้ด้วยว่าในกรณีนี้นางหนูให้นางนกยืมเงินไปโดยไม่ได้คิดดอกเบี้ยด้วย ทำให้นางหนูไม่เข้าลักษณะของผู้ให้สินเชื่อตามที่กฎหมายนี้กำหนด การกระทำของนางหนูจึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายนี้
อย่างไรก็ตาม กรณีลักษณะนี้แม้การกระทำของนางหนูไม่เป็นความผิดตามกฎหมายนี้เพราะไม่ใช่ผู้ให้สินเชื่อเป็นปกติธุระ แต่ข้อความที่โพสต์ทางสื่อโซเชียลหากเข้าลักษณะของการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นแล้วอาจจะกลายเป็นความผิดฐานอื่นได้เช่นกันจึงเป็นข้อที่ควรต้องระวังไว้ เพียงแต่กรณีนี้ข้อความที่นางหนูลงไว้ไม่ถึงขนาดเป็นความผิดตามกฎหมายข้อหาเหล่านั้น
ในการทวงหนี้ของผู้ให้สินเชื่อที่ให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติของตนจะต้องไม่กระทำการที่เป็นข้อห้ามของกฎหมายเช่นการข่มขู่ การเปิดเผยความเป็นหนี้ต่อบุคคลอื่น มิฉะนั้นอาจเป็นความผิดอาญาได้ แต่หากผู้ที่ทวงหนี้นั้นไม่ได้ให้สินเชื่อเป็นปกติธุระก็ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องรับผิดตามกฎหมายนี้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8375/2563 )