ทนายสู้คดีสิทธิบัตร

ทนายสู้คดีสิทธิบัตร

Trade Dress การคุ้มครองการออกแบบตกแต่งทางการค้า

ในคดีระหว่างแฟรนไชส์ชานมไข่มุก เสือพ่นไฟและหมีพ่นไฟมีประเด็นน่าสนใจที่ทางทนายความของเสือพ่นไฟได้หยิบยกมาหลายประเด็นมากล่าวอ้างในคำฟ้องเช่น
เครื่องหมายการค้า (trademark)

  • การออกแบบตกแต่งทางการค้า รวมถึงวิธีการขาย (trade dress)
  • การลวงขาย (passing off)

เท่าที่ทราบทั้ง’เสือพ่นไฟ (FIRE TIGER)’ และ ‘หมีพ่นไฟ’ ต่างก็ได้ยื่นคำขอรับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งคู่

โดยทางเสือพ่นไฟ (FIRE TIGER) ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวกร้านอาหารและเครื่องดื่มก่อนแล้วซึ่งโดยหลักของ’เครื่องหมายการค้า’ ใช้หลักการยื่นคำขอจดทะเบียนก่อนก็มีสิทธิก่อน (first to file) กรณีนี้ทางเสือพ่นไฟ (FIRE TIGER)ได้ยื่นคำขอก่อนและได้รับการจดทะเบียนก่อนจึงอยู่ในฐานะได้เปรียบกว่าในทางกฎหมาย

(ในขณะที่หมีพ่นไฟนั้นได้ยื่นคำขอจดทะเบียนกับบริการร้านอาหารและเครื่องดื่มภายหลังและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของนายทะเบียนซึ่งมีการคัดค้านการขอจดทะเบียนอยู่ด้วย)

สำหรับคดีความตามข่าวความน่าสนใจคือทีมทนายของเสือพ่นไฟ (FIRE TIGER) นำหลักการเรื่อง Trade Dress หรือการออกแบบตกแต่งทางการค้ามาใช้กล่าวอ้างในคำฟ้องด้วย

หลักการออกแบบตกแต่งทางการค้า (Trade Dress) ยังไม่มีหลักการตรงๆ ตามกฎหมายในประเทศไทย แต่ทางต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกามีกฎหมายที่ชื่อว่า The Lanham Act ยินยอมให้นำรูปแบบการตกแต่งทางการค้า (Trade Dress) มาจดทะเบียนเพื่อขอรับความคุ้มครองได้ถ้ามีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากพอ

ความแตกต่างของเครื่องหมายการค้า (Trademark) กับการออกแบบตกแต่งทางการค้า(Trade Dress)

Trademark คือกลุ่มคำหรือรูปภาพโลโก้ที่โดดเด่นที่นำมาใช้ในทางการค้า

Trade Dress คือการตกแต่งออกแบบภาพรวม (total image) ที่โดดเด่นที่นำใช้ในทางการค้าอาจจะเป็นการนำเรื่อง ขนาด รูปร่าง รูปทรง การใช้สี ลวดลายมาใช้ในการออกแบบตกแต่งทางการค้าให้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เช่น ออกแบบรูปแบบของร้านค้า ออกแบบรูปแบบบรรจุภัณฑ์ (packaging) เห็นแล้วต้องจดจำได้ #เห็นแล้วเด่นเด้งมาแต่ไกล

Trade Dress ที่เด่นๆก็มี

ขวดโค๊ก ถือเป็นกรณีศึกษาคลาสสิคของการออกแบบตกแต่งบรรจุภัณฑ์ (packaging)ที่นำมาใช้ทางการค้าที่ได้รับความคุ้มครองในรูปของ Trade dress (เห็นขวดแล้วรู้ว่านี่คือโค๊กแน่นอน จนยุคนึงมีการนำมาเปรียบเทียบผู้หญิงหุ่นดีต้องมีทรวดทรงส่วนโค้ง ส่วนเว้าเหมือนขวดโค๊ก)

การออกแบบตกแต่งร้าน Mcdonald’s หรือการออกแบบกล่อง Happy Meal Box

เทียบแล้วกรณีของประเทศไทยที่ดูจะใกล้เคียง Trade Dress ก็น่าจะเป็นการตกแต่งร้าน Bar B Q Plaza จะเห็นป้ายร้านสีเขียวและหุ่นBabigon สีเขียวอยู่หน้าร้านทุกร้าน (เจ้าหุ่นบาบิก้อนมีการนำไปจดเครื่องหมายการค้า 3 มิติด้วย) หรือการออกแบบร้าน 7-11 ที่จะเป็นอาคารเดี่ยวสีขาวขนาด 1 ชั้นและมีแถบสีสัญลักษณ์ของ 7-11 คาดอยู่ด้านบนแบบนี้เห็นแต่ไกลก็รู้ว่าเป็น 7-11 ก็ถือเป็น trade dress แบบหนึ่งได้เหมือนกัน

ความน่าสนใจประการหนึ่งคือแนวคิดของ Trade Dress จะไม่รวมวิธีการใช้งาน (non functional purpose) เพราะจุดประสงค์ของ Trade Dress ก็เหมือนกับ Trademark คือก่อให้เกิดการจดจำในตัวสินค้า การออกแบบตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อการค้าขายเท่านั้น

ดังนั้น ผมมองว่าวิธีการจำหน่าย เช่น จำหน่ายสินค้าผ่านหัวตุ๊กตาหรือแต่งมาสคอทขายสินค้าหรือเอาหุ่นยนต์มาเสริฟสินค้าเป็นวิธีการขายที่ไม่น่าจะได้รับความคุ้มครองโดย Trade Dress ได้

::: อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วย Trade Dressโดยตรง ผู้ที่สนใจจะคุ้มครองการออกแบบตกแต่งบรรจุภัณฑ์หรือร้านค้าก็จะต้องนำกฎหมายภายในที่มีมาผสมผสานกันเช่น
เครื่องหมายการค้า 3 มิติ หรือ
สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือ
การนำงานศิลปะมาดัดแปลงเป็นศิลปะประยุกต์มาดูประกอบกัน

เรื่องเนื้อหาคดีความระหว่างเสือพ่นไฟและหมีพ่นไฟก็ขอรอตามข่าวกันต่อไปเพราะน่าจะเป็นคำตัดสินของศาลชั้นต้น(ซึ่งอาจจะมีการอุทธรณ์ฎีกากันต่อไป) อันนี้ขอติดตามต่อไปครับ เห็นข่าวแล้วก็มีประเด็นน่าสนใจน่านำมาพูดถึงเยอะดี

สำหรับเรื่องการลวงขาย (passing off) และเครื่องหมายการค้า 3 มิติ เป็นเรื่องที่น่าสนุกและเรื่องการคิดคำนวณค่าเสียหายด้วยไว้มีโอกาสจะนำมาเล่าต่อไป

author avatar
ทนายความใกล้ฉัน