คดีที่มีข้อพิพาทกันในเรื่องทางจำเป็นและการใช้ค่าทดแทนนั้น การจะบังคับให้ใช้ค่าทดแทนหรือไม่เพียงใดต้องวินิจฉัยก่อนว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ อันเป็นประเด็นสำคัญในคดี จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และแม้ประเด็นเรื่องทางจำเป็นจะยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงเถียงกันในชั้นอุทธรณ์เฉพาะเรื่องจำนวนค่าทดแทน ก็ไม่ทำให้คดีกลับกลายเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนกรณีที่ฟ้องขอให้ชำระค่าทดแทนเป็นจำนวนเดียวนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนให้เป็นรายปีนับแต่เริ่มใช้ทางจำเป็นจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทางได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468/2565
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ทางในที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า ทางในที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่ทางจำเป็น หากฟังว่าเป็นทางจำเป็น โจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การรับว่า โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางในที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 และฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนจากโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ ดังนั้น การที่จะบังคับให้ใช้ค่าทดแทนหรือไม่เพียงใดนั้น ต้องวินิจฉัยก่อนว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ปัญหาเรื่องการใช้ค่าทดแทนเป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นอันเป็นประเด็นสำคัญในคดี คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ทั้งค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปีละ 30,000 บาท และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ปีละ 20,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางจำเป็นไปจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทางนั้น จำนวนค่าทดแทนที่โจทก์จะต้องใช้แก่จำเลยทั้งเจ็ดจึงขึ้นอยู่กับการใช้ทางจำเป็นของโจทก์ว่าเริ่มต้นเมื่อใดและสิ้นสุดลงเมื่อใด ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตย่อมไม่อาจคำนวณค่าทดแทนเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ว่าประเด็นเรื่องทางจำเป็นจะยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงเถียงกันในชั้นอุทธรณ์เฉพาะเรื่องจำนวนค่าทดแทนว่ามีเพียงใด ก็ไม่ทำให้คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้กลับกลายเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขอให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนเป็นเงินคนละ 140,000 บาท ซึ่งเป็นค่าทดแทนจำนวนเดียว มิใช่ค่าทดแทนเป็นรายปีก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสี่ บัญญัติให้กำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้ ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนให้เป็นรายปีนับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางจำเป็นไปจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทาง หาใช่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่งไม่
ฎีกาเล่าเรื่อง 1072 (โดย อ.ณัฐดนัย ศ.)
แม้จําเลยเสพเมทแอมเฟตามีนและเฮโลอีนด้วยวิธีแตกต่างกัน และโจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นข้อ ๆ แต่เมื่อต่างเป็นความผิดในมาตราเดียวกัน และเสพต่อเนื่องเชื่อมโยงในวาระเดียวกัน จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2698/2565
การที่จําเลยเสพเมทแอมเฟตามีน ด้วยวิธีเผาลนจนเกิดควันแล้วสูดดมควันเข้าสู่ร่างกาย หลังจากนั้น จําเลยเสพเฮโรอีน โดยนําเฮโรอีนใส่ในอุปกรณ์การเสพผสมกับบุหรี่จุดไฟให้เกิดควันแล้วสูดดมควันเข้าสู่ร่างกายแม้วิธีการเสพจะแตกต่างกัน และโจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นข้อ ๆ ต่างหากจากกัน แต่การเสพเมทแอมเฟตามีนและเสพเฮโรฮีนเป็นความผิดในบทบัญญัติกฎหมายมาตราเดียวกัน จําเลยเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วเสพเฮโรอีนในเวลาต่อเนื่องเชื่อมโยงในวาระเดียวกัน ย่อมไม่อาจอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท