ทนายสู้คดีลิขสิทธิ์ การจับแบบไหนถึงไม่ผิดคดีลิขสิทธิ์
เรื่องคดีลิขสิทธิ์ มีประเด็นการต่อสู้หลายแบบ ซึ่งบางท่า […]
ผู้ร้องอ้างว่าครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องมีภาระการพิสูจน์ว่า ผู้คัดค้านกระทำการโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาฎีกาที่ 836/2566 (หน้า 905 เล่ม 4) ผู้ร้องทั้งสามอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทมาก่อนที่ผู้คัดค้านจะซื้อที่ดินพิพาท ผู้ร้องทั้งสามต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิดีกว่าผู้คัดค้านอย่างไร ตามคำร้องขอกล่าวอ้างว่าผู้ร้องทั้งสามครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทสืบต่อจาก ส.บิดาผู้ร้องทั้งสามก่อนที่ผู้คัดค้านจะซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ว. เป็นการได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิได้จดทะเบียน กรณี ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ผู้ร้องทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ หากฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสามครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ย่อมมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้คัดค้านซื้อที่ดินที่พิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตขึ้นวินิจฉัย แล้วยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสามหาได้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่
คำคัดค้านซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ว. โดยไม่ปรากฏว่าซื้อมาโดยไม่สุจริตอย่างไร ย่อมเป็นไปตามข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณต่อผู้ซื้อว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ.มาตรา 6 ผู้ร้องทั้งสามจะยกการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามมาตรา 1299 วรรคสอง แม้ผู้รับทั้งสามจะครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่นับแต่วันที่ผู้คัดค้านจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเมื่อยังไม่ครบ 10 ปี ผู้ร้องทั้งสามไม่อาจอ้างว่าผู้ร้องทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ในสิ่งที่พิพาทโดยการครอบครองตามมาตรา 1382
(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง ย่อมหมายถึงบุคคลใดๆก็ได้ที่มิใช่เจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริต
2 และศาลฎีกายังวินิจฉัยว่า การสุจริตหรือไม่สุจริตในที่นี้ ต้องดูจากตัวผู้ซื้อที่ดินพิพาท มิใช่ดูจากฝ่ายผู้ขายที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้าน ผู้ขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านจะรู้ว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสามโดยการครอบครองปรปักษ์ไปแล้วหรือไม่ จึงไม่สำคัญ
3 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2519 จ.ขายที่ดินเนื้อที่ 22 ไร่เศษให้แก่บิดาของผู้ร้อง หลังจากซื้อที่ดินมาแล้ว บิดาของผู้ร้องให้ ส.เช่าที่ดินดังกล่าวทำนาโดยเข้าใจว่า ที่ดินพิพาทจำนวนเนื้อที่ 3 ไร่เศษเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ซื้อมาจาก จ. ซึ่ง ส.เช่าที่ดินดังกล่าวทำนา เป็นเวลา 37 ปีไม่มีผู้ใดคัดค้าน
4 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 บิดาของผู้ร้องตั้งแต่ความตาย ผู้ร้องทั้งสามรับโอนมรดกที่ดินและครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจากบิดาของผู้ร้อง
5 วันที่ 8 สิงหาคม 2560 ผู้คัดค้านซื้อที่ดินมาจากเจ้าของที่ดินเดิม รวมถึงที่ดินพิพาทด้วย
6 ก่อนที่เจ้าของที่ดินเดิมจะขายที่ดินและที่ดินพิพาท ให้แก่ผู้คัดค้าน อยู่ในระหว่างที่ผู้ร้องทั้งสามดำเนินคดีกับเจ้าของที่ดินเดิมที่เข้ามาขุดดินในที่ดินพิพาท
7 ในทางนำสืบพบว่า ผู้ซื้อและผู้ขายที่ดินพิพาทไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ผู้ซื้อคือผู้คัดค้านมีบ้านพักอาศัยอยู่ที่ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
8 หลังจากที่ผู้คัดค้านซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาแล้ว ผู้คัดค้านได้นำรถเข้าไปขุดที่ดินพิพาททำเป็นบ่อน้ำ ปักเสาคอนกรีตขึงลวดน้ำ ปลูกต้นกล้วยและต้นมะพร้าวตามแนวรั้ว
9 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจำนวนเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกคำร้อง
10 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นโดยพิพากษายืน)