ทนายสู้คดีลิขสิทธิ์ การจับแบบไหนถึงไม่ผิดคดีลิขสิทธิ์
เรื่องคดีลิขสิทธิ์ มีประเด็นการต่อสู้หลายแบบ ซึ่งบางท่า […]
ฎีกา
สิทธิเหนือพื้นดินเป็นกรณีที่เจ้าของที่ดินก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่บุคคลอื่น โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของตึกแถวติดกันและใช้ผนังร่วมกัน มีฐานรากและโครงสร้างหลักเชื่อมต่อเป็นอันเดียวกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 รื้อถอนตึกแถวของตนเหลือเพียงผนังร่วมส่วนที่ติดกับตึกแถวของโจทก์ทั้งสอง ผนังร่วมดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมไม่ใช่เรื่องสิทธิเหนือพื้นดิน ทั้งยังเป็นหลักเขตแห่งแดนกรรมสิทธิ์ แม้ต่อมาผนังร่วมใช้การไม่ได้ แต่ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้สละสิทธิในการใช้ประโยชน์ผนังดังกล่าวไปด้วย ในเมื่อจำเลยที่ 1 ยังคงหวงกัน โจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่เจ้าของผนังร่วมแต่เพียงฝ่ายเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2756/2565
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 สิทธิเหนือพื้นดินเป็นกรณีที่เจ้าของที่ดินก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่บุคคลอื่น ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17394 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 6 ชั้น จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17395 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 7 ชั้น โดยตึกแถวของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างในลักษณะมีผนังแบ่งตึกแถวออกเป็นคูหา (ผนังร่วม) มีฐานรากและโครงสร้างหลักเชื่อมต่อเป็นอันเดียวกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 รื้อถอนตึกแถวของจำเลยที่ 1 เหลือเพียงผนังร่วมในส่วนที่ติดกับตึกแถวของโจทก์ทั้งสอง ผนังร่วมในส่วนที่ติดกับตึกแถวของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมจึงต่างอยู่บนที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 กรณีจึงไม่ใช่เรื่องสิทธิเหนือพื้นดินไม่สามารถนำ ป.พ.พ. มาตรา 1415 มาปรับใช้ได้เมื่อพิจารณาว่าวัตถุประสงค์และสภาพการใช้งานผนังร่วมตึกแถวใช้เพื่อแบ่งกั้นตึกแถวออกเป็นคูหา ผนังร่วมเปรียบได้กับผนังกำแพงซึ่งหมายเขตที่ดิน โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของรวมกันและหลักกรรมสิทธิ์ยังคงมีอยู่ หาได้เปลี่ยนแปลงเพราะสภาพการใช้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงไป โจทก์ทั้งสองทราบดีว่าผนังร่วมระหว่างตึกแถวของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นกรรมสิทธิ์รวม แม้ต่อมาภายหลังสภาพของผนังร่วมระหว่างตึกแถวเปลี่ยนแปลงไปและไม่อาจใช้ได้ตามวัตถุประสงค์เดิม แต่ผนังร่วมก็ยังคงบ่งบอกเขตแดนกรรมสิทธิ์ของที่ดินอันเป็นประโยชน์แก่เจ้าของรวม กรรมสิทธิ์ผนังร่วมระหว่างตึกแถวของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 จึงหาได้เปลี่ยนแปลงไปไม่ จำเลยที่ 1 ยังคงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ทั้งสอง แม้จำเลยที่ 2 จะทำประตูบ้านหรือประตูเข้าพื้นที่ใหม่ ในตำแหน่งใหม่ โดยรื้อถอนประตูเดิมทิ้งก็ตาม ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในผนังร่วมระหว่างตึกแถวของโจทก์ทั้งสองและของจำเลยที่ 1 ได้สละสิทธิในการใช้ประโยชน์ผนังร่วมดังกล่าวไปด้วย ในเมื่อจำเลยที่ 1 ยังคงหวงกันผนังร่วมในฝั่งที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่เช่นเดิม กรณีหามีเหตุอันใดให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และให้โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าขอกรรมสิทธิ์ผนังร่วมตึกแถวที่เหลือจากการรื้อถอนทั้งหมดแต่เพียงฝ่ายเดียว