ทนายความคดีแรงงาน

ทนายความคดีแรงงาน

ความรู้*การที่ลูกจ้างสมัครใจทำงานกับนายจ้างในตำแหน่งเดิมต่อไปภายหลังครบเกษียณอายุแล้ว ต่อมาลูกจ้างลาออกเอง ถือเป็นการสละสิทธิการเกษียณอายุและได้รับค่าชดเชยหรือไม่

แม้ประเทศไทยจะมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.53% และเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อประสบการณ์ในการทำงานถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด และการสรรหาบุคคลเพื่อมาทำหน้าที่แทนไม่ใช่เรื่องง่าย จึงมีนายจ้างหลายรายกำหนดในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้มีสิทธิพิจารณาให้ลูกจ้างที่พ้นสภาพเมื่อเกษียณอายุบางคนได้รับการอนุมัติต่ออายุการทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไป จึงมีคำถามว่า การที่ลูกจ้างสมัครใจทำงานกับนายจ้างในตำแหน่งเดิมต่อไปภายหลังครบเกษียณอายุแล้ว ต่อมาลูกจ้างลาออกเอง ถือเป็นการสละสิทธิการเกษียณอายุและได้รับค่าชดเชยหรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118/1 มีหลักว่า “การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 ว.2 ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้าง และให้มีผลเมื่อครบ 30 วันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้นตามมาตรา 118 ว.1” จากคำถามข้างต้น เมื่อลูกจ้างซึ่งต้องพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย การที่นายจ้างอนุมัติให้ลูกจ้างทำงานภายหลังจากครบเกษียณอายุแล้ว นอกจากจะเป็นการต่ออายุสัญญาจ้างแรงงานแล้ว ยังเป็นการตกลงขยายระยะเวลาการเกษียณอายุสำหรับลูกจ้างต่อไปด้วย แม้ภายหลังลูกจ้างแจ้งความประสงค์ขอลาออกเอง ก็มิใช่การสละสิทธิการเกษียณอายุและยังคงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4531/2541 และ 1617/2547)

author avatar
ทนายความใกล้ฉัน