ความหมายของสิทธิครอบครอง
การครอบครองนั้น คือ การที่บุคคลมีอำนาจเหนือทรัพย์สินตามสภาพความเป็นจริง ผู้ครอบครองไม่จำเป็นที่จะต้องยึดถือทรัพย์สินไว้ในมือของตน หรือจะต้องควบคุมทรัพย์ให้อยู่ในสายตาของตนตลอดเวลา การครอบครองย่อมเกิดขึ้นเพียงแต่บุคคลมีอำนาจควบคุมทรัพย์สินในลักษณะที่ปราศจากการรบกวนจากบุคคลภายนอก แค่ไหนเพียงใดจะถือว่าบุคคลมีอำนาจควบคุมเหนือทรัพย์ในลักษณะครอบครองขึ้นอยู่กับสภาพของทรัพย์นั้น ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดเล็ก เอาติดตัวไปไหนได้สะดวก ก็อาจต้องการระดับการควบคุมยึดถือดูแลมากกว่าที่ดินหรือบ้านเรือน เช่น ของที่เจ้าของวางไว้เป็นที่เป็นทางในบ้าน แม้จะไม่ค่อยได้เอามาใช้ หรือลืมที่เก็บไปแล้วแต่ยังอยู่ในบริเวณก็ยังถือว่าอยู่ในความครอบครอง แม้แต่เอาของนั้นไปลืมทิ้งไว้นอกบ้านแต่ถ้าอยู่ในพฤติการณ์ที่สามารถกลับไปเอาคืนได้ ก็ยังถือว่าครอบครองอยู่ หรือกรณีที่ทรัพย์นั้นเป็นที่ดิน จะอ้างว่าครอบครองจะต้องปรากฏว่าให้เข้าทำประโยชน์เหมาะสมกับสภาพของทรัพย์ และอัตภาพของตน
คำว่า ครอบครอง กับสิทธิครอบครองนั้นมีความหมายเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะสิทธิครอบครองเป็นสิทธิที่เกิดจากการครอบครอง เพียงแต่ว่าเมื่อกล่าวถึงในแง่สิทธิ ก็เรียกว่าสิทธิครอบครอง ถ้ากล่าวถึงกิริยาที่ผู้ครอบครองกระทำต่อทรัพย์นั้นก็คือครอบครอง หาใช่ว่าทั้งสองคำมีความหมายคนละอย่างไม่
องค์ประกอบสำคัญของการครอบครอง หรือสิทธิครอบครองนั้นมีความคิดเห็นของนักนิติศาสตร์ต่างกันเป็น 3 ทฤษฎี แต่ทั้ง 3 ทฤษฎีต่างก็ยอมรับว่ามีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิทธิครอบครองอยู่ 2 อย่าง คือ การยึดถือ (Corpus) อันเป็นองค์ประกอบภายนอก และเจตนา ( Animus) การเป็นองค์ประกอบภายใน ทั้ง 3 ทฤษฎี ต่างกันที่ระดับของเจตนา ดังนี้
ทฤษฎีที่ 1 ถือว่าสิทธิครอบครองจะต้องประกอบด้วย การยึดถือ (Corpus) ตามสภาพความจริง และต้องมีเจตนาจะยึดถือเพื่อตนและมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของด้วย
ทฤษฎีที่ 2 ถือว่าสิทธิครอบครองประกอบด้วยการยึดถือ กับเจตนาจะยึดถือเพื่อตนเท่านั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีเจตนาจะเป็นเจ้าของ
ทฤษฎีที่ 3 ถือว่า สิทธิครอบครองอาจเกิดได้เพียงแต่มีการยึดถือตามสภาพความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ต้องคำนึงว่า ผู้ยึดถือจะมีเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือไม่
ประเทศส่วนมาก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ยึดถือทฤษฎีที่ 2 ในการให้ความหมายของสิทธิครอบครอง ดังจะเห็นจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง สำหรับทฤษฎีที่ 1 นั้น เรานำมาใช้ในเรื่องการครอบครองปรปักษ์ กับ แย่งการครอบครอง กล่าวคือ บุคคลที่ไม่มีกรรมสิทธิ์แต่มีสิทธิครอบครองในทรัพย์สิน ถ้าการครอบครองนั้นปราศจากเจตนาเป็นเจ้าของแล้ว แม้จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เช่น ผู้เช่าครอบครองทรัพย์สินแทนผู้ให้เช่า ผู้เช่าเองยึดถือทรัพย์สินนี้เพื่อตนจึงมีสิทธิครอบครอง แต่ผู้เช่าจะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะขาดเจตนาจะเป็นเจ้าของ หรือถ้าแดงเก็บกระเป๋าสตางค์ตกได้ และยึดถือเอาไว้และพยายามติดตามตัวเจ้าของ แต่มิได้กระทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 โดยไม่มีเจตนาจะเอากระเป๋าสตางค์นั้นไว้เองเลย เช่นนี้ แม้แดงจะครอบครองไว้นานเท่าใดก็คงไม่ได้กรรมสิทธิ์ คงมีแต่สิทธิครอบครอง หรือในกรณีที่ดินที่ไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือที่เรียกว่าที่ดินมือเปล่า ถ้าเดิม ก.ครอบครองที่ดินอยู่ แต่ ก.ไม่ได้อาศัยอยู่ในที่ดินนั้น ข. จึงฉวยโอกาสเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ ดังนี้ การครอบครองของ ข.ที่จะทำให้ ก.ฟ้องเรียกคืนไม่ได้เมื่อพ้น 1 ปี ตามมาตรา 1375 นั้น เห็นว่า ข. จะต้องครอบครองตามทฤษฎีที่ 1 มีเจตนาจะเป็นเจ้าของ หรืออีกนัยหนึ่ง เจตนาจะตัดสิทธิครอบครองของ ก. ทั้งนี้โดยตีความจากคำว่า “แย่ง” ฉะนั้นถ้า ข.เข้าครอบครองโดยไม่มีเจตนาจะเป็นเจ้าของ แม้จะครอบครองเกิน 1 ปี ก.ก็น่าจะฟ้องเรียกคืนได้ เช่น กรณีที่ ข.เช่าที่ดินไปจาก ก.หรือ ก.มอบหมายให้ ข.ดูแลที่ดินแทน ในกรณีเช่นนี้ แม้ ข.จะมีสิทธิครอบครอง หรือไม่มีสิทธิครอบครองโดยมีแต่การยึดถือ ( detention) ก็ไม่ทำให้ ข. เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นขึ้นมา
การยึดถือ (detention) อันเป็นองค์ประกอบภายนอกของการครอบครองนั้นเป็นกิริยาที่แสดงอำนาจที่จะใช้ทรัพย์ได้โดยไม่มีบุคคลภายนอกขัดขวาง ผู้มีสิทธิครอบครองอาจแสดงการยึดถือทรัพย์ด้วยตนเอง เช่น ถือแหวนอยู่ในมือ หรือเก็บไว้ในที่ที่พ้นจากการรบกวนของคนอื่น หรือการเข้าอยู่ในบ้านหรือที่ดินหรืออาจแสดงการยึดถือโดยให้ผู้อื่นยึดถือแทน ผู้ที่ยึดถือแทนอาจมีสิทธิครอบครองหรือไม่มีก็ได้ เช่น แดงเช่าบ้านจากเขียว แดงมีสิทธิครอบครองเพราะแดงยึดถือบ้านด้วยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน สามารถใช้สอยบ้านนั้นได้ส่วนเขียวก็ยังคงมีสิทธิครอบครองเช่นกัน โดยการยึดถือของเขียวนั้นแดงเป็นผู้ยึดถือแทนไม่ถือว่าเขียวขาดการยึดถืออันจะทำให้สิ้นสุดการครอบครอง แต่ควรสังเกตว่า แม้เขียวจะมีสิทธิครอบครอง เขียวก็ถูกจำกัดสิทธิการใช้สอยทรัพย์นั้นโดยสัญญาเช่า เป็นกรณีที่มีบุคคล 2 คนต่างก็มีสิทธิครอบครองเหนือทรัพย์สินเดียวกัน โดยมิได้ครอบครองร่วมกัน แต่ถ้าแดงเป็นคนรับใช้ของเขียว ซึ่งเขียวมอบหมายให้ดูแลบ้านแทนโดยเขียวก็มาพักที่บ้านเป็นครั้งคราว แดงย่อมมีเพียงการยึดถือโดยไม่มีสิทธิครอบครอง ส่วนเขียวนั่นก็ต้องถือว่ายังยึดถือบ้านอยู่โดยแสดงออกทางแดง จึงเป็นไปได้ว่า บุคคลหนึ่งมีอำนาจเหนือทรัพย์ตามสภาพข้อเท็จจริงคือยึดถือทรัพย์โดยไม่มีสิทธิครอบครองส่วนอีกคนหนึ่งซึ่งปราศจากอำนาจตามข้อเท็จจริง ก็อาจมีสิทธิครอบครองได้