ทนายสู้คดีลิขสิทธิ์ การจับแบบไหนถึงไม่ผิดคดีลิขสิทธิ์
เรื่องคดีลิขสิทธิ์ มีประเด็นการต่อสู้หลายแบบ ซึ่งบางท่า […]
การที่จะพิจารณาว่าเป็นคู่แข่งทางการค้าหรือไม่ ศาลต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ซึ่งโดยปกติบริษัทที่ประกอบกิจการมีสภาพดุจเดียวกัน จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทเดียวกันสามารถใช้ทดแทนกันได้ถือเป็นคู่แข่งทางการค้าไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อโจทก์ตกลงจ่ายค่าจ้างแก่จำเลยที่ 2 ในอัตราสูงก็เพื่อให้ส่งเสริมการขายและยกภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์สินค้าโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 กลับลงภาพที่ตนสวมใส่ผลิตภัณฑ์สินค้าอีกยี่ห้อซึ่งถือเป็นคู่แข่งทางการค้าในสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวจึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาและจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติตามสัญญาจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาต่อโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ โดยข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหากสูงเกินส่วน ศาลอาจปรับลดลงได้ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาจึงเลิกกัน จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างจากโจทก์ตามสัญญาอีก และคงมีสิทธิเรียกได้เฉพาะค่าการงานที่ทำไปแล้วเท่านั้น
ผลิตภัณฑ์สินค้ายี่ห้อ ค. กับสินค้ายี่ห้อ ช. เป็นสินค้าประเภทนาฬิกาและเครื่องประดับเช่นเดียวกัน ในการพิจารณาว่าคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หมายถึงบริษัทใดเป็นเรื่องที่ศาลต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ซึ่งโดยปกติของการดำเนินธุรกิจย่อมนับว่าบริษัทที่ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทเดียวกันสามารถใช้ทดแทนกันได้เป็นคู่แข่งทางการค้าไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งวัตถุประสงค์ของสัญญาว่าจ้างซึ่งโจทก์ตกลงจ่ายค่าจ้างแก่จำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงินสูง ก็เพื่อให้จำเลยที่ 2 มีส่วนในการส่งเสริมการขายและยกภาพลักษณ์ยี่ห้อ ช. ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นเป็นยี่ห้อชั้นนำในท้องตลาด ดังนั้น การที่จะนับว่ายี่ห้อ ค. ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทเดียวกับสินค้ายี่ห้อ ช. เป็นคู่แข่งทางการค้ากันจึงเป็นเจตนาที่คาดหมายได้ในทางสุจริต และเกณฑ์การพิจารณาในเรื่องนี้ต้องถือเอาความเข้าใจของวิญญูชนดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้นเป็นเกณฑ์กำหนดความประสงค์ในทางสุจริต ไม่อาจรับฟังเฉพาะความรู้สึกหรือความเข้าใจของจำเลยที่ 2 เพียงฝ่ายเดียวหรือยึดข้อมูลการจัดอันดับสินค้าดังกล่าวมาเป็นข้อพิจารณา จึงฟังได้ว่า สินค้ายี่ห้อ ค. เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่เป็นคู่แข่งของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ลงภาพที่ตนสวมใส่เครื่องประดับยี่ห้อ ค. ในอินสตาแกรมส่วนตัวจึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาข้อ 6.6 ต่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาต่อโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ เมื่อจำเลยทั้งสองประพฤติผิดสัญญา การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยข้อสัญญาในส่วนของค่าเสียหาย เป็นการกำหนดความรับผิดในการที่ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลอาจพิจารณาปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383เมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระค่าจ้างตามข้อตกลงในสัญญาได้อีก แต่อย่างไรก็ดีเมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นค่าการงานอันได้กระทำให้ ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม จำเลยทั้งสองคงมีสิทธิได้รับการใช้เงินตามควรค่าแห่งงานที่จำเลยทั้งสองได้กระทำไปแล้วเท่านั้น