ทนายคดีถูกยึดรถ

ทนายคดีถูกยึดรถ

ฎีกาที่ 3237/2565 คดีนี้เป็นคดีเช่าซื้อ โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้เช่าซื้อฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถยนต์ กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ให้รับผิดค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยบรรยายฟ้องมีเนื้อหาครบถ้วน แต่คำขอท้ายฟ้องโจทก์ลืมพิมพ์ขอให้จำเลยที่ 3 รับผิดด้วย โดยมีคำขอเพียงว่า หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ให้จำเลยที่2 ชำระแทนเท่านั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องหากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แทน ยกคำขอในส่วนค่าขาดราคา (เพราะเห็นว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยาย จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาเช่าซื้อตามสัญญา)

โจทก์อุทธรณ์ ขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขาดราคาตามฟ้องด้วย

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า โจทก์ไม่ได้มีคำขอท้ายฟ้อง บังคับให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ด้วยจึงพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ. 2551 มาตรา 7 ค่าธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นพับ ส่วนประเด็นอื่นตัดสินเหมือนศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะประเด็น ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 3 ที่ให้จำเลยที่3 ชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ หากจำเลยที่1 ไม่ชำระเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยหรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

1.โจทก์เสนอคำฟ้องโดยระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในคดี ทั้งเนื้อหาในคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ระบุว่า “จำเลยที่ 3 เข้าผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ตามสัญญาจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดต่อโจทก์”

2.ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ ย่อมเป็นผลให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระหนี้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์

3.คำบรรยายฟ้องดังกล่าวนับเป็นคำฟ้องที่เสนอต่อศาลโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์มุ่งหมายให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่2 ซึ่งถูกฟ้องมาด้วยกัน

4.ส่วนการที่คำขอบังคับท้ายคำฟ้องมิได้กล่าวถึง จำเลยที่ 3 ไว้โดยระบุเพียงว่าหากจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน “คงเป็นที่เข้าใจให้พออนุมานได้ว่าเป็นข้อผิดหลงหรือผิดพลาดอันเนื่องมาจากการพิมพ์คำฟ้องเท่านั้น” หาใช่โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ประการใดไม่

5.ประกอบกับภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ดำเนินการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 3 ด้วย แสดงว่าโจทก์ต้องการบังคับจำเลยที่ 3 ให้รับผิดต่อโจทก์ตามคำฟ้องเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 “กรณีไม่ใช่เรื่องที่โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 3 อันจะห้ามมิให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่3 รับผิดต่อโจทก์เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ. 2551 มาตรา 7”

author avatar
ทนายความใกล้ฉัน