ทนายสู้คดีลิขสิทธิ์ การจับแบบไหนถึงไม่ผิดคดีลิขสิทธิ์
เรื่องคดีลิขสิทธิ์ มีประเด็นการต่อสู้หลายแบบ ซึ่งบางท่า […]
ความผิดข้อหาหมิ่นประมาทเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว แต่มิได้ร้องทุกข์และฟ้องคดีภายใน 3 เดือนคดีจึงขาดอายุความ ~ สู้กันมา 10 ปี 3 ศาลเลยครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2552
โจทก์รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง สถานที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์คือ วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงจึงเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ ซึ่งเป็นข้าราชการตาม ป.พ.พ. มาตรา 46
ผู้อำนวยการกองการศึกษาอาชีพมีหนังสือถึงโจทก์ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมกับแนบหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของจำเลยที่ 2 อันมีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ไปให้โจทก์ทราบด้วย หนังสือดังกล่าวได้ส่งถึงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับหนังสือไว้แทนโจทก์ และได้ทำบันทึกนำเสนอโจทก์พร้อมลงวันที่กำกับในวันเดียวกัน โจทก์ไม่นำสืบว่าวันนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับหนังสือตามที่เจ้าหน้าที่เสนอ และไม่นำสืบว่าเหตุใดจึงเพิ่งเกษียณส่งหนังสือในวันที่ 2 มีนาคม 2542 แม้โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบและสั่งการให้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 2 มีนาคม 2542 ก็เป็นวิธีการดำเนินการตามระบบราชการเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันเดียวกัน คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์และฟ้องคดีนี้ภายใน 3 เดือน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุ โจทก์รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง และเป็นประธานกรรมการในการตรวจการจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง สัญญาจ้างเลขที่ 20/2541 ระหว่าง วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัยกับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2541 และวันที่ 12 มกราคม 2542 จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ถึงอธิบดีกรมอาชีวศึกษาผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขตตรวจราชการที่ 7 และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม โดยมีข้อความอย่างเดียวกันทุกประการว่า “ห้างฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของประธานกรรมการ ซึ่งเป็นข้าราชการมิได้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐเลย กลั่นแกล้งและใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำให้ผู้รับเหมาเกิดการเสียหาย ไม่สมควรที่จะรับหน้าที่นี้ต่อไป และโปรดพิจารณาให้ประธานกรรมการ พ้นออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และให้ย้ายออกจากพื้นที่พร้อมรับโทษที่นายไชปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามแต่ท่านจะเห็นสมควร” ต่อมากรมอาชีวศึกษาได้สั่งการให้กองการศึกษาอาชีพตรวจสอบกรณีดังกล่าว ผู้อำนวยการกองการศึกษาอาชีพจึงมีหนังสือฉบับลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 ส่งหนังสือเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไปให้โจทก์ในฐานะทำหน้าที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงชี้แจง วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และวันที่ 27 เมษายน 2542 อธิบดีกรมอาชีวศึกษาได้สั่งย้ายโจทก์ไปปฏิบัติราชการประจำที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาชีวศึกษา 1 หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมอาชีวศึกษา ตามคำสั่งกรมอาชีวศึกษา หลังจากนั้นวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 กรมอาชีวศึกษามีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวตามคำสั่งกรมอาชีวศึกษา และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ข้อร้องเรียนของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่มีมูลความจริง จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐและใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ถูกเข้าใจว่าปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังและส่งผลกระทบต่อหน้าที่ทางการงานอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เพิ่งทราบว่าถูกจำเลยทั้งสองร้องเรียนตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 ตามหนังสือของผู้อำนวยการกองการศึกษาอาชีพมีถึงโจทก์เพื่อแจ้งให้โจทก์ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวและโจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบในวันดังกล่าว จึงต้องถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดวันที่ 2 มีนาคม 2542 โจทก์ฟ้องวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง สถานที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ คือ วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงจึงเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ ซึ่งเป็นข้าราชการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 46 และที่ผู้อำนวยการกองการศึกษาอาชีพมีหนังสือถึงโจทก์ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงนั้น ผู้อำนวยการกองการศึกษาอาชีพได้แนบหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้แก่โจทก์มาพร้อมหนังสือดังกล่าวด้วย หนังสือดังกล่าวได้ส่งถึงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับหนังสือไว้แทนโจทก์และได้ทำบันทึกนำเสนอโจทก์พร้อมลงวันที่กำกับในวันเดียวกัน โจทก์ไม่นำสืบให้ได้ความชัดว่าในวันนั้นโจทก์ยังมิได้รับหนังสือดังกล่าวตามที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำเสนอแต่อย่างใด และมิได้นำสืบว่าเป็นเพราะเหตุใดโจทก์จึงเพิ่งเกษียณสั่งหนังสือดังกล่าวในวันที่ 2 มีนาคม 2542 ทั้ง ๆ ที่เวลาผ่านไปถึง 7 วัน ดังนั้น แม้โจทก์จะลงลายมือชื่อรับทราบและสั่งการให้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 2 มีนาคม 2542 ก็เป็นเพียงวิธีการดำเนินการตามระบบราชการเท่านั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันเดียวกัน คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์และฟ้องคดีนี้วันที่ 28 พฤษภาคม 2542 ซึ่งเกินกว่า 3 เดือนแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน