ทนายสู้คดีแรงงาน

ทนายสู้คดีแรงงาน

ไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้ลูกจ้าง นายจ้างติดคุก

คำพิพากษาฎีกาที่ 1060-1061/2563 วันกำหนดชำระค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นรายเดือนและรายวัน และวันที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างแก่ลูกจ้างตามฟ้องอันเป็นวันกระทำความผิด มีเพียงจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ภายหลังจากวันที่ความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว จำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และความผิดฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แม้จำเลยที่ 4 จะให้การรับสารภาพ ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 ในความผิดทั้งสองฐานนี้ได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
ลูกจ้างแต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างแต่ละคนแยกเป็นรายๆไป แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดฐานไม่จ่ายค่าจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชยต่อลูกจ้างทั้ง 87 คน ในคราวเดียวกัน แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาต่อลูกจ้างตามที่มีสิทธิได้รับแต่ละคนโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนลูกจ้างแต่ละคน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างทั้ง 87 คน ที่มีสิทธิได้รับจากการทำงานและตามกฎหมาย นอกจากจะทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการที่ไม่ได้รับเงินเพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีพแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบไปถึงบุคคลในครอบครัวของลูกจ้างทั้ง 87 คนด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างเพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรม ได้รับค่าตอบแทนในการทำงานและสวัสดิการตามสมควร พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3
(หมายเหตุ 1 คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ที่ให้จำเลยทั้งสี่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดให้แก่ลูกจ้าง โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย ให้แก่ลูกจ้างในขณะที่เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นกรรมการหลังจากที่ได้มีการเลิกจ้างลูกจ้างแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน
2 มีประเด็นเกี่ยวกับการกระทำความผิด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะกระทำต่อลูกจ้างทั้ง 87 คน ในคราวเดียวกัน แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาต่อลูกจ้างตามที่มีสิทธิได้รับแต่ละคนโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนลูกจ้างแต่ละคน โดยพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดไม่จ่ายค่าจ้างเดือนสิงหาคม 2559 รวม 87 กรรม ค่าจ้างเดือนกันยายน 2559 รวม 87 กรรม และฐานร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง รวม 87 กรรม
3 จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วมีเหตุบรรเทาโทษให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 14,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 5 เดือน และปรับคนละ 14,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 19,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 เดือน และปรับคนละ 15,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 6 เดือน และปรับ 19,000 บาท ไม่รอการลงโทษจำคุก
4 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 19,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 เดือน ไม่รอการลงโทษ ไม่ลงโทษปรับ จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้

author avatar
ทนายความใกล้ฉัน