ปรึกษากฎหมาย-ทนายความ-คดีกรรโชก

ปรึกษาทนายคดีกรรโชกทรัพย์

ทนายความคดีกรรโชก

ปรึกษากฎหมายคดีกรรโชก และแนวทางสู้คดีเบื้องต้น

1. คำพิพากษาฎีกาที่ 1280/2543
ที่จำเลยฎีกาว่า ชั้นจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยมาดำเนินคดีนี้โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา๑๒๑ วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และขัดต่อข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ เอกสารหมาย ล.๑ นั้น การจับกุมกับการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละตอนกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านว่าการสอบสวนไม่ชอบ ย่อมถือว่าการสอบสวนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ว่าการจับกุมจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมายก็ไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ ฎีกาของจำเลยถือได้ว่าเป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดี
จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้โทรศัพท์ไปข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและรถยนต์แก่ตนโดยพูดขู่เข็ญว่าจะนำเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท.ติดสินบนรัฐมนตรีฯตามข่าวในหนังสือพิมพ์ไปอภิปรายในรัฐสภาและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ อันเป็นการทำอันตรายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัท ท.ซึ่งมี ป.เป็นประธานกรรมการบริษัท และมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารงานของบริษัท จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมยอมจะให้เงินสดจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท กับรถยนต์กระบะ ๑ คันแก่จำเลยตามที่ตกลงกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามป.อ.มาตรา ๓๓๗ วรรคแรก
เรื่องที่จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะนำไปอภิปรายต้องเป็นความจริงหรือจำเลยเชื่อว่าเป็นความจริง จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่นำความอันเป็นเท็จไปอภิปรายในรัฐสภาได้ แต่เรื่องที่จำเลยกล่าวหาว่าผู้บริหารบริษัท ท.ติดสินบนรัฐมนตรีฯ เกี่ยวกับเรื่องตั้งโรงงานยางมะตอยไม่เป็นความจริงจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐได้พบเห็นหรือรู้เห็นความผิดของรัฐมนตรีฯ ที่รับสินบนจากผู้บริหารของบริษัท ท.ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริง แล้วจำเลยใช้เหตุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อรองเรียกรับทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมโดยมิชอบเพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภาตามตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ตาม ป.อ.มาตรา ๑๔๙

2. คำพิพากษาฎีกาที่ 5483/2543
โจทก์ทำสัญญาเช่าร้านอาหารพิพาทจากจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๒ กับชายคนหนึ่งซึ่งพกอาวุธปืนติดตัวได้พากันไปที่ร้านอาหารพิพาทซึ่งมีลูกจ้างโจทก์เฝ้าดูแลอยู่ จำเลยที่ ๒ สั่งลูกจ้างโจทก์ให้ออกจากร้านมิฉะนั้นจะปิดกุญแจขัง ลูกจ้างโจทก์กลัวจึงยอมออกจากร้าน จำเลยที่ ๒ ได้ปิดกุญแจร้านอาหารพิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถประกอบกิจการร้านอาหารและไม่สามารถนำอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของโจทก์ซึ่งซื้อมาใช้ในการประกอบกิจการออกจากร้านอาหารพิพาทได้หลังจากนั้นอีก ๓ ถึง ๔ วัน จำเลยที่ ๑ ได้ให้บุคคลอื่นเข้าทำกิจการร้านอาหารพิพาทแทน โจทก์ยังได้นำสืบอีกว่าไม่เคยค้างชำระค่าเช่าจำเลยที่ ๑ ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ.มาตรา ๓๖๒,๓๖๔ และ ๓๖๕ จึงมีมูล ศาลล่างทั้งสองด่วนวินิจฉัยว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ ๑จึงมีอำนาจกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าตามสัญญา จึงไม่ชอบ
จำเลยที่ ๒ ให้ จ.ออกจากร้านอาหารพิพาทเพื่อปิดร้าน มิใช่การกระทำเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

3. คำพิพากษาฎีกาที่ 339/2542
โจทก์และจำเลยทั้งเก้าต่างเป็นกรรมการสุขาภิบาลด้วยกันแต่เดิมเมื่อปี ๒๕๓๖ สุขาภิบาลว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.ให้ขุดลอกอ่างเก็บน้ำในเขตสุขาภิบาล ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่ยังไม่มีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเพราะมีเงื่อนไขว่า ในปีต่อไปหากห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.ประมูลงานจากสุขาภิบาลได้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.ก็จะไม่รับเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตามที่ตกลงจ้าง ต่อมาปี ๒๕๓๗ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ซึ่งมีโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้รับการว่าจ้างในกรณีพิเศษจากนายอำเภอประธานคณะกรรมการสุขาภิบาล ให้ก่อสร้างถนน ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.จึงไม่ได้รับงาน ทางคณะกรรมการสุขาภิบาลจะต้องจ่ายเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.การที่จำเลยทั้งเก้าเรียกร้องให้โจทก์จ่ายเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่ตน มิฉะนั้นโจทก์จะถูกร้องเรียนกล่าวหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องโจทก์ก่อสร้างถนนผิดไปจากสัญญา อันเป็นเหตุให้สัญญาดังกล่าวระงับ และโจทก์ต้องถูกขับออกจากกรรมการสุขาภิบาล เมื่อปรากฏว่าโจทก์ต้องจ่ายเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยทั้งเก้าไปโดยกลัวต่อการข่มขู่ของจำเลยทั้งเก้า ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งเก้าใช้สิทธิโดยชอบ เพราะแม้ว่าโจทก์จะมีส่วนบกพร่องในการก่อสร้างถนนอันผิดไปจากสัญญา ก็เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ว่ากล่าว ส่วนจำเลยทั้งเก้าเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิสอดเข้าเกี่ยวข้องโดยหวังผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง การที่โจทก์ต้องจ่ายเงินให้จำเลยทั้งเก้าโดยกลัวต่อการข่มขู่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งเก้าจึงเป็นการข่มขืนใจโจทก์ให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของโจทก์ซึ่งครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว

4. คำพิพากษาฎีกาที่ 7994/2542
++ เรื่อง ความผิดต่อเสรีภาพ กรรโชก ++
++ จำเลยที่ ๒ กับพวกใช้กำลังประทุษร้ายโดยล็อกคอผู้เสียหายทั้งสองให้เข้าไปนั่งในรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ เป็นคนขับ แล้วจำเลยที่ ๑ พูดบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินให้จำเลยที่ ๑ กับพวกคนละ ๑,๐๐๐ บาท หากไม่ให้จะอยู่ในอำเภอหาดใหญ่ไม่ได้ ผู้เสียหายทั้งสองเกรงกลัวจึงยอมตามที่จำเลยที่ ๑ ขู่บังคับ และได้มอบเงิน ๕๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๓ ไป วันเดียวกัน ผู้เสียหายที่ ๑ โทรศัพท์นัดหมายให้จำเลยที่ ๑ มารับเงินส่วนที่เหลืออีก ๑,๕๐๐ บาท เมื่อจำเลยที่ ๑ มารับเงินจึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ แล้วจำเลยที่ ๑ นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ในวันเดียวกัน แม้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะไม่ได้มารับเงินส่วนที่เหลือจากผู้เสียหายทั้งสองด้วยก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ร่วมกันวางแผนและกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายทั้งสองตั้งแต่ต้น ทั้งยังร่วมกับจำเลยที่ ๑ นำเงิน ๕๐๐ บาท ที่ผู้เสียหายมอบให้ในวันเกิดเหตุไปใช้ในการรับประทานอาหารกัน การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับพวกดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดโดยร่วมกันเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวผู้เสียหายทั้งสองให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและกรรโชกผู้เสียหายทั้งสอง และการที่จำเลยทั้งสามกับพวกเอาตัวผู้เสียหายทั้งสองไปหน่วงเหนี่ยวไว้ในรถยนต์โดยเจตนาทำให้ผู้เสียหายทั้งสองปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นความผิดสำเร็จกรรมหนึ่ง เมื่อมีการขู่เรียกเอาเงินโดยเจตนากรรโชกเอาทรัพย์จนผู้เสียหายทั้งสองยินยอมให้เงินก็เป็นความผิดฐานกรรโชกอีกกรรมหนึ่ง จึงเป็นความผิดสองกรรม ++

5. คำพิพากษาฎีกาที่ 2882/2537
ผู้เสียหายที่ ๒ ได้ต่อเติมห้องน้ำที่บ้านของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่นายตรวจอาคาร มีอำนาจหน้าที่ตรวจอาคารตามคำสั่งของสำนักงานเขตพญาไท จำเลยได้ข่มขู่เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายที่ ๒ ถ้าผู้เสียหายไม่ให้จำเลยจะดำเนินคดีในเรื่องต่อเติมอาคารผิดกฎหมายการกระทำของจำเลยจึงเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ ๒ ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้ถูกขู่เข็ญ เป็นการลงมือกระทำความผิดฐานกรรโชกและกระทำไปตลอดแล้ว แต่ไม่บรรลุผล เพราะการที่ผู้เสียหายที่ ๒ เจรจากับจำเลยแล้วขึ้นไปชั้น ๒ โทรศัพท์เรียกเจ้าพนักงานตำรวจให้มาจับกุมจำเลยทันที แสดงว่าผู้เสียหายที่ ๒ ไม่ยอมให้เงิน เพียงแต่ทำทีเป็นยอมเพื่อวางแผนจับกุมจำเลย หาใช่ยอมให้เงินแก่จำเลยด้วยใจจริงไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดขั้นพยายาม

6. คำพิพากษาฎีกาที่ 2117/2532
จำเลยกับพวกร่วมกันมีจดหมายขู่ผู้เสียหายให้นำเงิน ๑ ล้านบาทมอบให้จำเลยกับพวก มิฉะนั้นจะฆ่าผู้เสียหายกับบุตรและภริยาผู้เสียหาย ผู้เสียหายแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจทราบ และได้วางแผนจับกุมโดยให้ผู้เสียหายขับรถไปบริเวณที่จำเลยกับพวกนัดหมายไว้ เมื่อผู้เสียหายขับรถไปถึง พบจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ มาติดต่อเพื่อขอรับเงิน จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจที่ติดตามมาจับกุมได้หลังจากนั้นเกิดการยิงต่อสู้ระหว่างพวกจำเลยกับผู้เสียหายและเจ้าพนักงานตำรวจ เช่นนี้ แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวก แต่ก็เป็นเวลาต่อเนื่องและเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่จำเลยร่วมกันกระทำยังไม่ขาดตอน โดยจำเลยกับพวกมีเจตนาร่วมกันมาแต่ต้น ในข้อที่ว่าหากผู้เสียหายไม่ยอมมอบเงินให้ก็จะฆ่าผู้เสียหายเสีย พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดการกระทำความผิดฐานฆ่าหรือพยายามฆ่าผู้อื่นขึ้นได้ถือได้ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในขอบเขตที่จำเลยกับพวกตกลงร่วมกันจะกระทำมาแต่ต้น จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ จึงต้องรับโทษในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นด้วย
จำเลยที่ ๓ ใช้รถจักรยานยนต์ขับขี่ติดตามรถยนต์ของผู้เสียหายเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อรับเงินจากการกระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ถือได้ว่ารถจักรยานยนต์เป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงให้ริบ

7. คำพิพากษาฎีกาที่ 2688/2530
จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าผู้เสียหายได้ลักเอาสติกเกอร์ของห้างซึ่งจำเลยมีหน้าที่ช่วยดูแลกิจการอยู่ไป การที่จำเลยบอกให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับให้ห้าง ๓๐ บาท ถ้าไม่ยอมจะส่งตัวให้เจ้าพนักงานตำรวจนั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมให้เงิน ๓๐ บาท เพราะจำเลยมีหน้าที่ดูแลกิจการของห้างชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินคดี แก่ผู้เสียหายทางอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ การที่จำเลยให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับเท่ากับเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อตกลงเลิกคดีกัน จำเลยไม่มีความผิดฐานกรรโชก.

8. คำพิพากษาฎีกาที่ 4075/2530
จำเลยเพียงแต่ทำนายดวงชะตาแก่ผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายกำลังมีเคราะห์ให้สะเดาะเคราะห์โดยเสียเงินค่ายกครูให้แก่จำเลยหาใช่เป็นการขู่เข็ญตามความหมาย ของมาตรา ๓๓๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่ดังนั้น แม้จะฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยพูดขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินจะให้พ่อปู่มาทำอันตรายผู้เสียหายทางไสยศาสตร์และผู้เสียหาย ยอมให้เงิน ก็เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายเชื่อตามคำทำนายว่าจะมีเคราะห์ มิใช่เพราะกลัวคำขู่เข็ญของจำเลย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก.

9. คำพิพากษาฎีกาที่ 1829/2529
การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งแต่งเครื่องแบบข้าราชการกรมป่าไม้กับจำเลยที่ ๒ เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายขณะผู้เสียหายกำลังทำหน้าต่างด้วยไม้สักที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ แล้วจำเลยที่ ๑ พูดว่า เอาเงินมา ๑,๐๐๐ บาทถ้าไม่ให้จะเสียเงินมากกว่านี้ นั้น ถือได้ว่าคำพูดดังกล่าวประกอบกับการแต่งเครื่องแบบข้าราชการ เป็นการข่มขู่เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายอยู่ในตัวและผู้เสียหายยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งสองไป ๕๐๐ บาท จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานกรรโชก

10. คำพิพากษาฎีกาที่ 3861/2528
จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิด แกล้งกล่าวหา พ.และ ก.ว่ากระทำผิดอาญา ได้มีการ แจ้งความและลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอจับกุม พ. และ ก.ส่งพนักงานสอบสวน ถ้าไม่อยากให้จับกุม ต้องเอาเงินให้จำเลยทั้งสอง พ.และ ก.เกรงกลัวยอมมอบเงินให้ตามที่เรียกร้อง เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้ถูกขู่เข็ญ จึงเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดฐานกรรโชกด้วย

11. คำพิพากษาฎีกาที่ 2434/2527
การที่จำเลยที่ ๑ กับพวกเอาตัวผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวไว้ในห้องพักโรงแรม ทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นความผิดสำเร็จกรรมหนึ่งแล้ว เมื่อจำเลยที่ ๑ กับพวกขู่เข็ญข่มขืนใจผู้เสียหายจนกระทั่งผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลยที่ ๑ กับพวก เป็นความผิดฐานกรรโชกอีกกรรมหนึ่ง

12. คำพิพากษาฎีกาที่ 3656/2527
จำเลยบอกผู้เสียหายว่ามีคนจ้างจำเลยฆ่าผู้เสียหาย แต่ไม่บอกชื่อคนจ้าง พร้อมกันนั้นจำเลยขอเงินผู้เสียหาย ถ้าหากไม่ให้ก็จะไม่รับรองความปลอดภัย ผู้เสียหายตกลงยอมให้และนัดมาเอาเงินในวันรุ่งขึ้น คำพูดของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงินแก่จำเลย อันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว แม้จะใช้คำว่า ‘ขอ’ และ ‘เพื่อบอกชื่อผู้ที่จ้างฆ่า’ ก็เป็นเพียงเหตุผลประกอบการข่มขู่เท่านั้น หาทำให้การข่มขู่นั้นกลายเป็นการเรียกร้องเงินเพื่อตอบแทนการบอกชื่อผู้ว่าจ้างฆ่าผู้เสียหายไม่
มาตรา ๑๙๒ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติว่า ข้อแตกต่างเกี่ยวกับเวลาเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด จำเลยยอมรับว่าตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้ไปขอเงินผู้เสียหายและผู้เสียหายยอมตกลงจะให้เงินจำเลยจริงเพียงแต่จำเลยอ้างว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยจึงมิได้หลงต่อสู้ในเรื่องเวลา ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดเวลากลางวัน แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเหตุเกิดเวลากลางคืน ศาลก็ลงโทษจำเลยได้
จำเลยข่มขืนใจโดยการข่มขู่จนผู้เสียหายยอมจะให้เงินแก่จำเลยและนัดมารับเงินในวันรุ่งขึ้น ถือได้ว่าการกรรโชกได้สำเร็จแล้วแม้ผู้เสียหายจะยินยอมเพื่อต้องการรู้ตัวผู้จ้างจำเลยและได้นำเจ้าหน้าที่มาคอยจับจำเลยเมื่อมารับเงินในวันรุ่งขึ้น ก็หาทำให้เป็นความผิดฐานพยายามไม่
โจทก์มิได้ฎีกาขอเพิ่มโทษจำเลย ศาลฎีกาจะลงโทษจำเลยหนักกว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามิได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย แต่ศาลฎีกาวางบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้

13. คำพิพากษาฎีกาที่ 3221/2522
จำเลยที่ ๒ ร่วมกับพวกขู่เข็ญผู้เสียหายเรียกเอาเงิน ๖,๐๐๐ บาท โดยอ้างว่ามีผู้ร้องเรียนไปทางกรมตำรวจว่าผู้เสียหายเป็นพระจรจัด จะเอาเงินไปปิดปากผู้ร้องเรียน ผู้เสียหายบอกว่าไม่มีเงิน จำเลยที่ ๒ ว่ามีเท่าใดให้เอามาก่อน พร้อมกับทำมือแสดงอาการฮึดฮึดไม่พอใจลักษณะจะทำร้าย ผู้เสียหายกลัว จึงชี้บอกเงิน ๒,๐๐๐ บาท ใส่ซองวางไว้บนโต๊ะให้เอาไปก่อน เช่นนี้ กรณีเป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐,๓๔๐ ตรี แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดฐานกรรโชกซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้อง จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง และวรรคสามซึ่งแก้ไขใหม่ก็ไม่ได้ เพราะเป็นการนำเอากฎหมายที่อกใช้ภายหลังมาลงโทษจำเลยซึ่งฟ้องไว้ก่อนแล้ว

14. คำพิพากษาฎีกาที่ 2406/2519
เจ้าพนักงานตำรวจได้ข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินแก่ตน ๕๐๐ บาทโดยกล่าวหาว่าเล่นการพนัน เมื่อผู้เสียหายขอให้เพียง ๑๐๐ บาทก็ไม่พอใจ ทำร้ายผู้เสียหายและแกล้งจับโดยไม่มีอำนาจนำไปส่งสถานีตำรวจเช่นนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๓๓๗ วรรค ๒, ๓๐๙ วรรค ๒ และ ๒๙๕ โดยสำหรับความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา ๓๐๙ และความผิดฐานกรรโชกตามมาตรา ๓๓๗ นั้น ผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้นแล้ว แม้จะยอมไม่เต็มตามที่ถูกเรียกร้องก็เป็นความผิดสำเร็จ ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๔๘ เพียงแต่ผู้กระทำผิดมีเจตนาจะให้เขาส่งมอบทรัพย์สินให้ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ผู้ถูกข่มขืนใจจะไม่ยอมตามนั้นก็ตาม

15. คำพิพากษาฎีกาที่ 2457/2518
โจทก์จะรื้อบ้านของโจทก์ จำเลยไม่ยอมให้รื้อ อ้างว่าเป็นของจำเลย ถ้ารื้อจะให้ตำรวจจับ แต่จะยอมให้รื้อ ถ้าโจทก์ให้เงินจำนวนหนึ่งแก่จำเลย ดังนี้ เป็นเรื่องโต้เถียงกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทในทางแพ่ง จำเลยพูดว่าจะใช้สิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและพูดเป็นทำนองเสนอข้อแลกเปลี่ยนเพื่อระบังข้อพิพาท ไม่เป็นการข่มขืนใจโจทก์ให้ยอมให้เงินหรือยอมสัญญาจะให้เงินแก่จำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกรรโชก

16. คำพิพากษาฎีกาที่ 2025/2516
จำเลยที่ ๑ กับ ส. เข้าไปในร้านของผู้เสียหาย ส. พูดกับผู้เสียหายว่าขอเงิน ๑๐๐ บาท จะเอาไปซ่อมปืน ผู้เสียหายตอบว่าไม่มี ส. พูดว่าให้คิดให้ดี ๆ ชีวิตผู้เสียหายสำคัญกว่า พวกของ ส. มีมาก และชี้ให้ดูพวกที่ยืนอยู่ที่ถนนนอกร้านประมาณ ๒๐ คน พอดีมีคนเข้ามาในร้าน ผู้เสียหายจึงถือโอกาสหลบหนีไป ต่อมาอีก ๒ วัน จำเลยที่ ๑ถือจดหมายของ ส. มาอ่านให้ผู้เสียหายฟังว่าต้องการเงิน ๕๐๐ บาทผู้เสียหายบอกว่าไม่มีเงิน จำเลยที่ ๑ ว่า เย็นนี้รู้กัน หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ไปที่ร้านผู้เสียหายอีกและถูกตำรวจจับได้ การที่ผู้เสียหายตอบจำเลยที่ ๑ ว่าไม่มีเงิน ย่อมเห็นได้ชัดว่าเป็นคำตอบปฏิเสธว่าไม่ยอมให้เงินหรือยอมรับว่าจะให้เงินแก่จำเลยที่ ๑ กับพวกตามที่จำเลยที่ ๑ กับพวกขู่เข็ญข่มขืนใจ การกระทำของจำเลยที่ ๑ อยู่ในขั้นพยายามกระทำความผิดฐานกรรโชก

17. คำพิพากษาฎีกาที่ 2283/2516
จำเลยที่ ๑ ใช้อุบายอ้างตนเป็นตำรวจร่วมกับจำเลยที่ ๒ซึ่งแสดงตนว่าเป็นตำรวจ โดยจำเลยที่ ๑ แกล้งจับ ป. ใส่กุญแจมือและจะจับผู้เสียหายหาว่าค้าฝิ่นเถื่อน แต่เมื่อผู้เสียหายถอยหลังออกไปไม่ยอมให้จับข้อมือ จำเลยที่ ๑ ก็พูดว่า ‘เอาอย่างนี้ก็แล้วกันลุง ลุงเอาเงินให้ฉันพันหนึ่ง แล้วลุงขายฝิ่นต่อไปก็แล้วกัน’ โดยจำเลยที่ ๑ หรือที่ ๒ มิได้ข่มขืนใจด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญจะทำอันตรายต่อชีวิต เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย หรือของบุคคลที่สาม อย่างไรต่อไปผู้เสียหายเรียกบุตรชายซึ่งเดินมาจะเข้าบ้าน จำเลยทั้งสองและป.ก็เดินออกไป เช่นนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่เข้าลักษณะเป็นความผิดฐานกรรโชก จึงไม่เป็นพยายามกรรโชก

18. คำพิพากษาฎีกาที่ 1942/2514
โคของจำเลยที่ ๓ ถูกคนร้ายลักไปฆ่าเอาเนื้อขายให้ผู้เสียหายและพวกการที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเรียกร้องเอาเงินค่าโคจากผู้เสียหาย ถ้าไม่ให้จะเอาตำรวจจับตัวมาดำเนินคดีฐานรับของโจร ผู้เสียหายกลัวจะถูกดำเนินคดีจึงยอมรับใช้และให้เงินแก่จำเลยที่ ๓ เจ้าของโค ดังนี้ จะถือว่าเป็นการข่มขืนใจโดยขู่เข็ญผู้เสียหายหาได้ไม่ จำเลยยังไม่มีความผิดฐานกรรโชก

19. คำพิพากษาฎีกาที่ 1615/2513
กระบือของจำเลยหายไปโดยที่ผู้เสียหายมิได้ลักไป จำเลยไปเรียกเงินจากผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง โดยกล่าวหาว่าผู้เสียหายลักกระบือของจำเลยไปและพูดจาขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ถ้าไม่ให้เงินจะพาตำรวจมาจับและผู้เสียหายจะต้องติดคุก ทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่ทราบว่า ผู้เสียหายลักกระบือจำเลยไปจริงหรือไม่ ผู้เสียหายกลัวจะเสียเวลาทำมาหากิน จึงให้เงินจำเลยไปโดยไม่สมัครใจ เช่นนี้ย่อมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต จึงมีความผิดฐานกรรโชก

20. คำพิพากษาฎีกาที่ 1546/2511
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๕ ปี แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อที่ขอให้ใช้ทรัพย์มิใช่เป็นการแก้ไขมาก จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘
จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ได้เรียกเงินจากผู้ที่จำเลยจับกุมตัวมาแล้วปล่อยผู้ต้องหาไป อันเป็นการเรียกหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหาย อันเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่ของจำเลย จำเลยจึงมีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๕ หามีความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗ อีกบทหนึ่งด้วยไม่ และเมื่อการกระทำของจำเลยมิได้เป็นผิดตามมาตรา ๓๓๗ แล้ว โจทก์ก็ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยใช้ทรัพย์หรือคืนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๔๓

21. คำพิพากษาฎีกาที่ 830/2502
จำเลยเป็นพนักงานป่าไม้ มีอำนาจที่จะยึดใบเบิกทางนำไม้ไว้ เพื่อตรวจสอบได้ และได้ยึดใบเบิกทางนำไม้ของคนอื่นจากผู้เสียหาย โดยมีเหตุผล แล้วจำเลยเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับใบเบิกทางนำไม้ที่จำเลยยึดไว้ ยังไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก เพราะไม่เข้าลักษณะบีบบังคับโดยใช้กำลังข่มขืนหรือขู่เข็ญขืนใจ

22. คำพิพากษาฎีกาที่ 1193/2502
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันและพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกรรโชกจำเลยฎีกาว่า ตามข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น ต้องเป็นผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ใช่ฐานกรรโชกดังโจทก์ฟ้อง ต้องยกฟ้องเพราะทางพิจารณาต่างกับฟ้อง แม้จำเลยจะไม่ได้ยกข้อกฎหมายที่ว่านี้ขึ้นในชั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็ไม่ต้องห้ามฎีกา เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ผู้เสียหายถูกจำเลยขู่จนยอมรับจะให้เงินตามที่จำเลยข่มขืนใจเอาแล้ว ย่อมครบองค์แห่งความผิดฐานกรรโชกแล้วทุกประการ จำเลยจะได้รับเงินตามที่ผู้เสียหายรับปากให้แล้วหรือยัง หาใช่สาระขององค์ความผิดฐานนี้ไม่ และการที่จำเลยถูกตำรวจจับเสียก่อนที่จะได้รับเงินจากผู้เสียหาย ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำของจำเลยกลายเป็นอยู่ในขั้นพยายามกระทำผิดไปได้

23. คำพิพากษาฎีกาที่ 81/2498
ในเรื่องความผิดฐานกรรโชก โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยไม่ใช่ตำรวจแต่อ้างว่าเป็นตำรวจใช้วาจาขู่เข็ญว่าไม่ให้เงินจะมีเรื่องเป็นการขู่เข็ญขืนใจให้มีความกลัวตาม ม. ๓๐๓ ดังนี้เป็นฟ้องที่ สมบูรณ์
ข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าจำเลยไม่ใช่ตำรวจแต่อ้างว่าเป็นตำรวจขู่เข็ญผู้เสียหายให้+ส่งเงินให้ถ้าไม่ให้จะมีเรื่อง และผู้เสียหายได้+ส่งเงินให้โดยจำเลยไม่มีอำนาจทำได้ตาม ก.ม.ดังนี้เป็นข้อเท็จจริงที่เข้าเกณฑ์ความผิดฐานกรรโชก
แม้โจทก์จะแถลงว่าติดใจสืบพยานเพียงเท่านี้ เมื่อจำเลยอ้างตัวเองเบิกความเป็นพยาน โจทก์ก็ชอบที่จำนำคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่โจทก์ไม่ติดใจสืบยื่นเป็นพยานต่อศาลเพื่อพิสูจน์คำให้การของจำเลยได้ เมื่อศาลเห็นว่ามีมูลก็มีอำนาจรับไว้วินิจฉัย

24. คำพิพากษาฎีกาที่ 1556/2493
ความผิดฐานกรรโชกตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๐๓ นั้น แสดงอยู่ชัดว่า ใช้วาจาขู่เข็ญก็เป็นความผิดเช่นเดียวกับการใช้กำลังข่มขืน
จำเลยพูดขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะต้องถูกส่งตัวไปขังที่สันติบาล ดังนี้เป็นการพูดขู่เข็ญขืนใจตามมาตรา ๓๐๓ แล้ว
การนับโทษจำเลยนั้นอยู่ในดุลยพินิจของศาลที่จะสั่งกำหนดตามที่เห็นสมควรตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๒ จึงเป็นปัญหาในข้อเท็จจริง เมื่อศาลล่าง ๒ ศาลใช้ดุลยพินิจไม่นับโทษจำเลยต่อจากคดีหนึ่งตามที่โจทก์ขอในคดีที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงโจทก์ก็จะฎีกาขอ ให้นับโทษต่ออีกไม่ได้

25. คำพิพากษาฎีกาที่ 970/2492
จำเลยได้ไปพูดหาว่า ผ. เป็นคนร้ายปล้นทรัพย์ของจำเลย ถ้า ผ. ไม่ให้เงินแก่จำเลย ๒๐๐ บาท จำเลยจะไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจมาจับ ผ. กลัว จึงยอมตกลงไปหาเงินมาให้จำเลย และได้ถามว่าจำเลยมิได้สงสัย ผ. ในการปล้น ดังนี้การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกรรโชก.

26. คำพิพากษาฎีกาที่ 119/2491
ตำรวจจับราษฎรมา โดยหาว่ากระทำผิดทางอาญา ได้พูดขู่เข็ญให้เอาเงินมาให้คนละ ๔๐ บาท ถ้ายอมเสียเงินให้ก็จะเสร็จเรื่อง มิฉะนั้นจะเอาตัวไปเดี๋ยวนั้น ราษฎรซักถามจนเป็นที่พอใจแล้วก็ตกลงยอมเสียเงินให้ แล้วหากันกลับไปเอาเงินมาให้ตำรวจในอีก ๒ ชั่วโมงต่อมา ดังนี้เป็นความผิดฐานกรรโชกตามกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๓

27. คำพิพากษาฎีกาที่ 358/2481
กรณีที่ถือว่าฟ้องระบุเป็นความผิดฐานกรรโชก และฐานทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ส่งตัวจำเลยไปกักกันมีกำหนด ๗ ปี จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงได้

28. คำพิพากษาฎีกาที่ 553/2479
ทำหนังสือขึ้นฉะบับหนึ่งอ้างว่าเป็นของผู้อื่น แล้วเอามาอ่านให้ผู้หนึ่งฟังข้อความในหนังสือนั้นมีว่าให้จัดหาเงินมาให้แก่ผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นเจ้าของหนังสือนั้นมิฉะนั้นจะถูกทำร้ายดังนี้ ต้องมีความผิดฐานปลอมหนังสือ ในเรื่องความผิดฐานกรรโชกนั้นจะต้องเป็นการขู่ให้เขาสัญญาและผู้ถูกขู่จะต้องรับสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ถ้าผู้ถูกขู่มิได้รับสัญญาอย่างใด ผู้ขู่ก็ยังหามีความผิดฐานกรรโชกไม่

author avatar
PongrapatLawfirm