ทนายความคดีขับรถโดยประมาท รถชนคน
ป.อ. มาตรา 291
พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 43, 78, 157
ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แซงรถโดยสารประจำทางที่จำเลยขับห่าง 1 เมตรเศษ แล้วรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับได้เสียหลักล้มลงรถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับจึงได้แล่นทับผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ การที่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับแซงแล้วเสียหลักล้มลงอย่างกะทันหันหน้ารถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับห่าง 1 เมตรเศษ เป็นระยะกระชั้นชิดจนเหลือวิสัยที่จำเลยจะหยุดรถได้ทัน กรณีเป็นเหตุสุดวิสัยที่บุคคลในภาวะเช่นจำเลยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงมิใช่เกิดจากความประมาทของจำเลย
หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไปโดยไม่ได้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง จำเลยจะอ้างว่าไม่มีเจตนาไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทันทีเพราะไปแจ้งให้เจ้าของรถทราบเหตุหาได้ไม่
________________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และ 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157 และ 160 วรรคหนึ่ง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4),78 วรรคหนึ่ง, 157 และ 160 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กับความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก4 ปี ความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีจำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 จำคุก 2 ปี เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 แล้ว รวมเป็นจำคุก 2 ปี 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยหรือไม่โจทก์มีประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุมาเบิกความเป็นพยาน นายเจียกเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าขณะเกิดเหตุนายเจียกนั่งอยู่บนรถยนต์โดยสารประจำทางคันเกิดเหตุโดยนั่งเบาะหลังสุดด้านซ้ายชิดขอบหน้าต่าง เมื่อมาถึงบริเวณสถานีขนส่งสายใต้ใหม่เห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์อยู่ที่บริเวณทางโค้งเพื่อจะข้ามสะพานแล้วเสียหลักล้มลง ล้อหลังของรถยนต์โดยสารประจำทางได้ทับศีรษะของผู้ตาย และได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่ารถจักรยานยนต์ของผู้ตายขับมาในลักษณะแซงรถยนต์โดยสารประจำทางทางด้านซ้ายและในชั้นสอบสวนนายเจียกให้การว่าขณะที่รถยนต์โดยสารประจำทางกำลังจะขึ้นสะพานต่างระดับหน้าสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ มีรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ข้างหน้า 1 เมตรเศษในช่องเดินรถช่องซ้าย รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเสียหลักล้มลงข้างทาง รถยนต์โดยสารประจำทางไม่สามารถหยุดได้ทัน ได้แล่นพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ทันที แล้วรถยนต์โดยสารประจำทางไปจอดอยู่บนสะพานห่างจากที่รถจักรยานยนต์ล้มประมาณ 50 เมตร นายเจียกลงจากรถยนต์โดยสารประจำทางแล้วช่วยจัดการจราจรโดยโบกให้รถแล่นผ่านได้สะดวกจนเจ้าพนักงานตำรวจมาที่เกิดเหตุและนำรถทั้งสองคันไปสถานีตำรวจ ประกอบกับร้อยตำรวจเอกสุวรรณ สวัสดี เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจสภาพรถเบิกความว่า ผลการตรวจรถยนต์โดยสารประจำทางปรากฏว่าตัวถังข้างซ้ายบริเวณหน้าล้อหน้าตอนล่างมีรอยกระแทกขูดเป็นแนวยาวอยู่ในระดับสูงจากพื้นประมาณ 40 ถึง 50 เซนติเมตรซึ่งเกินจากจุดกึ่งกลางของล้อแต่ไม่เกินจุดสูงสุดของล้อ รอยดังกล่าวเป็นรอยใหม่ สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากอุบัติเหตุในคดีนี้ซึ่งเป็นการกระทบของรถจักรยานยนต์เป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความและคำให้การในชั้นสอบสวนของนายเจียกดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แซงรถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับห่าง 1 เมตรเศษ แล้วรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับได้เสียหลักล้มลง รถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับจึงได้แล่นทับผู้ตายถึงแก่ความตายและรถจักรยานยนต์เสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า การที่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับแซงรถยนต์โดยสารแล้วรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลงอย่างกะทันหันหน้ารถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับห่าง 1 เมตรเศษ เป็นระยะกระชั้นชิดจนเหลือวิสัยที่จำเลยจะหยุดรถได้ทัน กรณีเป็นเหตุสุดวิสัยที่บุคคลในภาวะเช่นจำเลยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้การที่รถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับแล่นทับผู้ตายจึงมิใช่เกิดจากความประมาทของจำเลย จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4)ประกอบมาตรา 157 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดและให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีหรือไม่ โจทก์นำสืบว่าหลังเกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไป จนกระทั่งวันที่ 27 ตุลาคม 2540จึงเข้ามอบตัว ความข้อนี้จำเลยเบิกความยอมรับว่า หลังเกิดเหตุจำเลยลงจากรถมาดูผู้ตาย ได้ยินเสียงผู้โดยสารบอกว่า “ไปซิ จะอยู่ทำไม” และมีรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 123 อีกคันหนึ่งแล่นผ่านมา คนขับรถคันดังกล่าวได้บอกให้จำเลยไปแจ้งให้เจ้าของรถทราบ จำเลยจึงขึ้นรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวไปแจ้งให้เจ้าของรถทราบเป็นการเจือสมทางนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไปโดยไม่ได้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง จำเลยจะอ้างว่าจำเลยไม่มีเจตนาไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเพราะไปแจ้งให้เจ้าของรถทราบเหตุดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยข้อหานี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยอีกว่าสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่ความผิดของจำเลย แต่จำเลยได้หลบหนีไปทันทีแสดงให้เห็นถึงการไม่มีมนุษยธรรมของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษและไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) ประกอบมาตรา 157 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
( ชวลิต ยอดเณร – ปราโมทย์ ชพานนท์ – สุเมธ ตังคจิวางกูร )
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2544
ป.อ. มาตรา 291
พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 43(4), 78, 157
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจุดที่จำเลยจอดรถและเกิดเหตุชนกันอยู่ในไหล่ทางด้านซ้ายของถนนในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจรแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยจอดรถในเวลามืดค่ำโดยไม่ได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถที่จอดอยู่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยจอดทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากความประมาทของจำเลยไม่ว่าจะฟังว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยก็ตามก็ต้องถือว่าเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วยจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถของจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4),157 คงผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 78 กำหนดให้ผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตามแต่ผู้ขับรถที่จะถือว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่ หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดรถอยู่หรือหยุดรถอยู่ไม่จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78
________________________________
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยขับรถบรรทุก 10 ล้อ พร้อมรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 80-3632 ยโสธร ไปตามถนนวารีราชเดชจากทางด้านอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร มุ่งหน้าไปทางด้านอำเภอเลิงนกทาจังหวัดยโสธร เมื่อจำเลยขับถึงบริเวณบ้านหนองซ้งแย้ หมู่ที่ 7ตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร ยางเส้นในล้อหลังรถพ่วงด้านขวาแตก จำเลยจึงจอดรถบนถนนดังกล่าวในลักษณะกีดขวางการจราจรและไม่เปิดไฟสัญญาณฉุกเฉินของรถเพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบ โดยรู้อยู่แล้วว่าในขณะนั้นเป็นเวลามืดค่ำแสงสว่างไม่เพียงพอที่ผู้ขับขี่จะมองเห็นรถที่จอดในทางเดินรถได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร และด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้นายอนุรักษ์สมสอน ซึ่งขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนยโสธร ช-2962ไปตามถนนดังกล่าวมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ไม่อาจระมัดระวังและมองเห็นรถบรรทุกพร้อมรถพ่วงที่จำเลยจอดอยู่ได้ จึงพุ่งเข้าชนท้ายรถบรรทุกพร้อมรถพ่วงอย่างแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายและนายอนุรักษ์ถึงแก่ความตาย ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง หลังจากนั้นจำเลยหลบหนีไปไม่ให้ความช่วยเหลือนายอนุรักษ์ตามสมควร และไม่แสดงตัว ทั้งไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับไม่แจ้งชื่อตัวชื่อสกุลและที่อยู่ของจำเลยแก่ผู้ได้รับความเสียหาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและจำเลยใช้รถบรรทุกพร้อมรถพ่วงดังกล่าวซึ่งเป็นรถที่ใช้ในการขนส่ง บรรทุกหินแล่นไปตามถนน โดยที่ยังมิได้เสียภาษีประจำปีเหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 71, 85, 148
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71, 148ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายและผู้อื่นถึงแก่ความตาย ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือฯ จำคุก 2 เดือน ฐานใช้รถที่จดทะเบียนแล้วแต่มิได้เสียภาษีประจำปีปรับ 8,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือนและปรับ 8,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยจอดรถบรรทุกพร้อมรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 80-3632 ยโสธรในไหล่ทางในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร ต่อมาผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถคันที่จำเลยขับมาจอดไว้ดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยฎีกาในทำนองว่าจำเลยได้เปิดไฟสัญญาณฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ขับรถคันอื่นสามารถมองเห็นได้แล้ว แต่เหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ตายเองนั้น เห็นว่า ในข้อที่ว่าจำเลยเปิดไฟสัญญาณไว้หรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยจอดรถไว้โดยไม่ได้เปิดไฟสัญญาณฉุกเฉิน และขณะเกิดเหตุเป็นเวลามืดค่ำแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องเปิดไฟฉุกเฉินไว้เป็นสัญญาณป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุ แต่จำเลยงดเว้นไม่ปฏิบัติตามจนเกิดเหตุขึ้น ถือว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วย จำเลยอุทธรณ์เพียงว่าขณะเกิดเหตุยังไม่มืด ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเปิดไฟสัญญาณฉุกเฉินไว้หรือไม่จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ตายเองนั้นเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจุดที่จำเลยจอดรถและเกิดเหตุชนกันอยู่ในไหล่ทางด้านซ้ายของถนน แสดงว่าจำเลยได้จอดรถในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจรแล้ว แต่การที่จำเลยจอดรถในเวลามืดค่ำโดยไม่ได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถที่จอดอยู่จนเป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยจอดทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากความประมาทของจำเลยไม่ว่าจะฟังว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องถือว่าเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วยไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดไปได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 43(4), 157 มาด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยขับซึ่งจอดอยู่ในไหล่ทางจนถึงแก่ความตายเกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ไม่เปิดไฟสัญญาณของรถให้ผู้ตายซึ่งขับรถมาทางด้านหลังสามารถมองเห็นรถคันที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่ผู้ตายจะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้แล้วการที่ผู้ตายขับรถชนถึงแก่ความตายจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถของจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4), 157 คงผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่าจำเลยมีความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78หรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงว่าไม่มีเจตนาหลบหนีเห็นว่า แม้พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78 กำหนดให้ผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม แต่ผู้ขับรถที่จะถือว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย และต้องหยุดรถปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่ หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดรถอยู่หรือหยุดอยู่ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาชนท้ายรถคันที่จำเลยขับขณะจอดเสียอยู่มิใช่ขณะกำลังแล่นอยู่ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 78 ปัญหาข้อนี้และข้อแรกที่วินิจฉัยข้างต้นแม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาขึ้นมาในข้อกฎหมาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ทั้งสองข้อหาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 215, 225
ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าการที่จำเลยทราบว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถคันที่จำเลยขับแล้ว ขับรถหลบหนีไปปล่อยให้ผู้ตายซึ่งได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ในที่เกิดเหตุ เช่นนี้แสดงถึงความไม่มีมนุษยธรรมของจำเลย จึงไม่สมควรรอการลงโทษให้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
ปรึกษาคดีขับรถโดยประมาท โดยทนายความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1337/2530
ป.อ. มาตรา 300, 291
เบรกล้อหน้าซ้ายของรถยนต์ที่จำเลยขับชำรุดใช้การไม่ได้เป็นข้อชำรุดบกพร่องที่พบเห็นได้ก่อน แต่จำเลยซึ่งมีหน้าที่ขับรถประจำรถยนต์คันดังกล่าวมิได้ตรวจตราซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ จำเลยนำรถออกแล่นและเหยียบเบรกรถเมื่อประสบเหตุการณ์คับขัน ทำให้ไม่สามารถบังคับรถให้แล่นไปตามทิศทางบนถนนได้ เป็นเหตุให้รถพลิกคว่ำมีคนบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายจำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300,291.
________________________________
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกเทท้าย ด้วยความประมาท โดยทราบอยู่แล้วว่า ท่อยางเบรกอ่อนล้อหน้าซ้ายมีรอยแตก น้ำมันรั่วทำให้เบรกไม่อยู่ แต่จำเลยยังขืนนำรถยนต์ดังกล่าวออกขับด้วยความเร็ว ครั้นถึงทางโค้งหน้าโรงเรียนศิลาแดง ได้มีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งแล่นสวนทางล้ำเข้ามาในทางรถของจำเลย จำเลยขับรถยนต์หักหลบและเบรก ทำให้รถยนต์เสียหลักพลิกคว่ำเป็นเหตุให้นายคำและเด็กขายทำนอง ซึ่งนั่งมาในรถถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัสตามลำดับ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300 การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี และลงโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าขณะเกิดเหตุเบรกล้อหน้าซ้ายของรถยนต์ที่จำเลยขับชำรุดใช้การไม่ได้เป็นข้อชำรุดบกพร่องที่พบเห็นได้ก่อนแต่จำเลยซึ่งมีหน้าที่ขับรถประจำรถคันดังกล่าวมิได้ตรวจตราซ่อมแซมให้ท่อยางเบรกอ่อนล้อหน้าซ้ายอยู่ในสภาพสมบูรณ์เสียก่อนที่จะนำรถออกแล่นแล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยขับรถยนต์หักหลบรถจักรยานยนต์เพียงเล็กน้อยหรือหากเบรกรถใช้การได้ดี จำเลยเบรกรถเพื่อชะลอความเร็วลงบ้าง ก็ไม่น่าจะถึงกับทำให้รถพลิกคว่ำ เมื่อเบรกล้อหน้าซ้ายชำรุดใช้การไม่ได้และจำเลยเหยียบเบรกรถเมื่อประสบเหตุการณ์คับขัน จึงไม่สามารถบังคับให้รถแล่นไปตามทิศทางบนถนนได้ เป็นเหตุให้รถพลิกคว่ำตกจากถนน ถือได้ว่าจำเลยขับรถโดยประมาทและมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300 อีกด้วย.
( ประวิทย์ ขัมภรัตน์ – อภินย์ ปุษปาคม – ชวลิต นราลัย )
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7891/2544
ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่, 300
พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 43, 157
จำเลยได้บังคับรถยนต์ที่จำเลยขับเลี้ยวไปทางซ้ายเพื่อเปลี่ยนช่องเดินรถเข้าไปในช่องเดินรถที่ 1 ที่ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์มาอย่างรีบเร่ง ซึ่งหากจำเลยทอดเวลาไว้ระยะหนึ่งโดยให้สัญญาณไฟเลี้ยวทางด้านซ้ายเพื่อแสดงเจตนาให้รถคันอื่นในบริเวณใกล้เคียงได้ทราบ ผู้เสียหายอาจเร่งความเร็วรถจักรยานยนต์ของตนแซงพ้นรถยนต์ของจำเลยหรือชะลอความเร็วของรถจักรยานยนต์เพื่อเปิดทางให้จำเลยเปลี่ยนช่องเดินรถโดยสะดวก เมื่อจำเลยได้เลี้ยวรถมาทางซ้ายเพื่อเปลี่ยนช่องเดินรถอย่างกะทันหัน จึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์บรรทุกเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์
พื้นผิวถนนในช่องเดินรถของผู้เสียหายตรงบริเวณที่เกิดเหตุไม่ปรากฏว่ามีหลุม บ่อ หรือขรุขระ อันจะทำให้การขับขี่และบังคับรถจักรยานยนต์ทำได้ลำบากหรือทำให้เสียการทรงตัว และไม่ปรากฏร่องรอยการเฉี่ยวชนที่ตัวรถยนต์ของจำเลย กรณีจึงเชื่อได้ว่าเพราะเหตุที่จำเลยหักเลี้ยวรถเพื่อจะเปลี่ยนช่องเดินรถโดยกะทันหันขวางเส้นทางเดินรถของผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายต้องหักรถหลบตามสัญชาติญาณทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส แม้รถยนต์ของจำเลยจะมิได้กระแทกหรือเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายหักรถหลบได้ทัน แต่ก็ต้องถือว่าการที่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย
________________________________