ทนายสู้คดีลิขสิทธิ์ การจับแบบไหนถึงไม่ผิดคดีลิขสิทธิ์
เรื่องคดีลิขสิทธิ์ มีประเด็นการต่อสู้หลายแบบ ซึ่งบางท่า […]
มาคดีลิขสิทธิ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5834/2550
ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลยทั้งสามคนละไม่เกิน 5,000 บาท การที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ลดโทษปรับ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดโทษ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 39 (4)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ กับขอให้ริบทรัพย์ของกลางแต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาฯมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้เอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
โดยสภาพของการกระทำความผิดฐานร่วมกันขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งแผ่นวีซีดีคาราโอเกะ แผ่นซีดีเพลงเอ็มพีสาม และแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ อันเป็นงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อการค้า แม้จำเลยทั้งสามไม่มีหรือไม่ใช้แผงเหล็กตั้งสินค้า สมุดบันทึกรายรับรายจ่ายตะกร้า กล่องพลาสติก ถุงพลาสติก ซองพลาสติก และผ้าปูโต๊ะของกลางในการกระทำความผิด จำเลยทั้งสามก็สามารถกระทำความผิดนี้สำเร็จได้ ของกลางเหล่านี้จึงไม่เป็นปัจจัยหลักหรือส่วนสำคัญในการกระทำความผิดดังกล่าว ทั้งสิ่งของเหล่านี้ก็มักจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามปกติในร้านค้าที่ขาย เสนอขาย หรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าไม่ว่าเป็นสินค้าประเภทใด ข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ชัดแจ้งพอฟังได้ว่า ของกลางดังกล่าวเป็นวัตถุหรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นหลักหรือมีส่วนสำคัญในการกระทำละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรง จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ต้องริบเสียทั้งสิ้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 ส่วนแผ่นซีดีก๊อปปี้ 350 แผ่น ของกลางนั้น ไม่ปรากฏว่ามีงานสร้างสรรค์อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่ใช่สิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ต้องริบตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 เช่นกัน
ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้นแผงเหล็กตั้งสินค้า สมุดบันทึกรายรับรายจ่าย ตะกร้า กล่องพลาสติก ซองพลาสติก ผ้าปูโต๊ะ และแผ่นซีดีก๊อปปี้ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานนี้ที่ศาลจะมีอำนาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
สิ่งบันทึกเสียงและสิ่งบันทึกภาพและเสียงที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางในคดีนี้มีทั้งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายกับที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้เงินสด 1,750 บาท ของกลางมาโดยการขายงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในคดีนี้โดยมีการวางแผนล่อซื้อ จึงไม่ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสามได้เงินจำนวนดังกล่าวมาจากการขายงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางในคดีนี้ หรือเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามได้มาจากการขายงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือของผู้อื่นก่อนหน้านี้ ทั้งความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ที่จำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้เพื่อประกอบกิจการดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานนี้ ดังนั้นแม้เงินที่จำเลยทั้งสามได้รับมาเป็นค่าตอบแทนการให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ตามฟ้อง ก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามได้มาโดยการกระทำความผิดฐานนี้ จึงไม่อาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (2) เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9600/2554
ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้ออันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่ ร. ว่าจ้างจำเลยให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง