มาศาลชลบุรีคดีอาญา มีไปศาลต่อหลายที่ วันนี้ ความรู้ แบ่งมรดกไม่ชอบ ไม่มีอายุความ
คำพิพากษาฎีกาที่ 1240/2565 (หน้า 2530 เล่ม 10)
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของ พ. โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของ พ.กับ ป. เมื่อ ป.กับ พ. เป็นสามีภรรยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พุทธศักราช 2477 การแบ่งสินสมรสต้องบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ซึ่งกำหนดให้แบ่งสินสมรสเป็น 3 ส่วน ชายได้ 2 ส่วน หญิงได้ 1 ส่วน ที่ดินพิพาทตกเป็นของ ป. 2 ส่วน พ.1 ส่วน ส่วนของ ป. เป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมถึง ล. เมื่อ ล.ถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ล. กับ ร. ก่อนใช้บรรพ 5 ย่อมมีสิทธิสืบมรดกของ ล. ในส่วนของที่ดินพิพาทด้วย หากจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นบุตรของ ป. และ พ. ก่อนใช้บรรพ 5 เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ต้องขออนุญาตฎีกา พร้อมฎีกาต่อศาลฎีกา มิฉะนั้นคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 244/1 เมื่อจำเลยทั้งสี่มิได้ขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกา มีเพียงโจทก์ที่ขออนุญาตฎีกาโดยโต้แย้งในประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ แม้จำเลยทั้งสี่จะแก้ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของ พ. ก็ไม่อาจก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในชั้นฎีกา
หลังจาก พ.ถึงแก่ความตายเกิน 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ พ. โดยจำเลยที่ 1 ทราบดีว่า ล.เป็นบุตรคนหนึ่งของ ป. ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ ป. ในการรับมรดกของ พ.ได้ แต่จำเลยที่ 1 กลับแบ่งมรดกพิพาทแก่จำเลยทั้งสี่และ ท. โดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ทั้งมิได้แจ้งให้ทายาทของ ล. และบุตรคนอื่นของ ป. ที่เกิดจาก อ. ให้ทราบด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดก ย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ และทายาทอื่นที่มิได้ให้ความยินยอม เนื่องจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมิได้ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นการจัดการมรดกของ พ.โดยมิชอบ แม้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของ พ. ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสิทธิของ ป. ที่ยังคงมีสิทธิรับมรดกของ พ.ในฐานะคู่สมรส ย่อมไม่มีผลให้การจัดการมรดกสิ้นสุดลง อายุความฟ้องคดีจัดการมรดกของโจทก์ยังไม่เริ่มนับ และให้ขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1733 วรรคท้าย
ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ พ. ย่อมมีผลว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกกล่าวแก่ ล. หรือทายาทผู้สืบสิทธิของ ป. ว่าไม่มีเจตนายึดถือที่มีพิพาทแทนอีกต่อไปมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวเพียงผู้เดียว ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ พ.แทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดก การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อตนและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับ ท. ให้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต้องถือว่าจำเลยทั้งสี่และ ท. ครอบครองที่ดินแทนทายาทอื่น โจทก์ในฐานะผู้สืบสิทธิของ ล. ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ป. ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่ดินที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกจากจำเลยทั้งสี่ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง แม้จะเป็นการฟ้องเกินกำหนดสิบปี นับแต่เมื่อ พ.เจ้ามรดกตาย ไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย เพราะการจัดการมรดกอย่างไม่เสร็จสิ้นลง
เมื่อ พ.ถึงแก่ความตาย การแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสต้องบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 โดย ป.ได้ 2 ส่วน พ.ได้ 1 ส่วนซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยทั้งสี่และ ท. ผู้เป็นบุตร ป.ในฐานะคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่รวม 6 คน แต่ละคนได้รับส่วนแบ่งเท่าๆกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1635(1) เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย สิทธิในการรับมรดกของ พ.กับที่ดินพิพาทอีก 2 ส่วน ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมอันได้แก่จำเลยทั้งสี่ และ ร. ซึ่งเกิดจาก พ.รวม 5 คน ล.ซึ่งมีโจทก์และพี่น้องรวม 4 คน เป็นบุตรที่เข้าสืบสิทธิรับมรดกของ ป. และบุตร 5 คน อันเกิดจาก อ.กับ ป.ได้แก่ ญ. ย. ช. จ. และ ม. รวมทายาทโดยธรรมของ ป.ทั้งสิ้น 11 คน โดยแต่ละคนจะได้รับส่วนแบ่งมรดกคนละ 1 ส่วนเท่าๆกัน ส่วนของ ล.ต้องแบ่งแก่โจทก์และพี่น้องของโจทก์คนละ 1 ส่วน โดยจำเลยทั้งสี่ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมตามส่วน
โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสี่ใช้เงินแทนตามส่วนหรือให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ตามส่วนไม่อาจบังคับได้ เพราะต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 1364
(หมายเหตุ 1 ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษากลับ โดยมีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น)